ถ้า “เด็กตกงานเพราะเรียนไม่ตรงตามความต้องการของประเทศ” แล้วประเทศต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร?

Last updated: 19 มี.ค. 2563  | 

วันที่ 19 มีนาคม 2563 - 14:28 น.

 

1. ถ้า “เด็กตกงานเพราะเรียนไม่ตรงตามความต้องการของประเทศ” แล้วประเทศต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร? 

ในยุคที่เทรนด์โลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เกิด disruption (การหยุดชะงัก) ที่มีผลต่อวิธีการทำงานและความต้องการของตลาดแรงงาน บวกกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว พร้อมกับปัญหาต่างๆ อย่างภัยแล้ง ความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณ การแพร่ระบาดของไวรัสและปัญหาอีกหลายๆ อย่างทำให้ปี 2563 เป็นปีที่ท้าทายปีหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการ ผู้ทำงานและผู้จบใหม่

ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้คือ “การตกงาน” โดยเฉพาะในกลุ่มของ ผู้สำเร็จการศึกษาหรือเด็กจบใหม่ ซึ่งมีปัจจัยหลายด้านทั้งทักษะ ความรู้ที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยหรือการเลือกงานของเด็กจบใหม่

แต่ถ้าหากปัจจัยใหญ่นั้นคือ “เด็กตกงานเพราะเรียนไม่ตรงตามความต้องการของประเทศ” แล้วตลาดแรงงานของประเทศไทยต้องการอะไรและไม่ต้องการอะไร?


 

 

2. ผู้สำเร็จการศึกษา & การว่างงาน

ผู้สำเร็จการศึกษา
    ปี 2562 (คน)
ว่างงาน (คน)
%
มัธยมศึกษาตอนต้น  (ม.3)
693,905
54,700
7.88%
มัธยมศึกษาตอนปลาย  (ม.6)
381,395
76,000
19.92%
อุดมศึกษา (ปริญญาตรี)
    359,431
148,000
41.18%

จำนวนเด็กจบใหม่นั้นมีบางส่วนที่พร้อมเข้าตลาดแรงงานทันที (ในกรณีที่ไม่ได้เรียนต่อ) แต่ทำไมทุกวันนี้จึงมีการว่างงาน การตกงานถึงเกิดขึ้น?  อ้างอิงจากสถิติผู้สำเร็จการศึกษาของสำนักงานสถิติแห่งชาติและกรมการจัดหางาน พบว่าสัดส่วนของการว่างงานที่มีมากที่สุดคือ ผู้ที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือปริญญาตรีขึ้นไป ส่วนการว่างงานที่มีมากรองลงมา คือระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3)

เหตุผลบางส่วนของการว่างงานขึ้นอยู่กับกลุ่มเด็กรุ่นใหม่เองด้วย เช่น การเลือกงาน มีทักษะภาษาอังกฤษที่ไม่แข็งแรง ขาดทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล รวมไปถึงปัจจัยใหญ่อย่างภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว มีการจ้างงานเป็นระยะสั้นมากขึ้นเพื่อประหยัดทรัพยากร

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ (ธันวาคม 2562) กรมการจัดหางาน (ธันวาคม 2562)

 

 

3. ประเทศไทยไม่ต้องการ….

เพราะยุคของเทคโนโลยีกำลังมีผลต่อความต้องการของแรงงาน ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรม บางกลุ่ม “ไม่ได้เป็นที่ต้องการ” ของตลาดแรงงานไทยอีกต่อไป นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้า และอุตสาหกรรมไทย (ปี 2562) เผยรายชื่อกลุ่มดังต่อไปนี้

- ผลิตภัณฑ์ที่ตกยุค CD DVD ไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไปเพราะการเปลี่ยนแปลงของวิธีการอุปโภค

- สื่อสิ่งพิมพ์ เคเบิลทีวี ธุรกิจโฆษณา ทุกอย่างเริ่มเป็น online หรือ cloud-based ส่วนผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น

- สถาบันการเงิน การทำธุรกรรมซื้อขาย สามารถทำผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ออนไลน์

- อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน รถยนต์สมัยใหม่มีชิ้นส่วนประกอบน้อยลง มีคุณภาพและการรับประกันที่ดีและนานขึ้น เทคโนโลยีรถไฟฟ้ากำลังจะเข้ามา

- การค้าปลีก สามารถใช้แพลตฟอร์มออนไลน์และสื่อ social media ในการค้าขายได้

- งานเคาน์เตอร์เซอร์วิส งานบริการทำธุรกรรมจะลดลงเพราะมีระบบบริการตนเองออนไลน์หรือ AI ที่เข้ามาทดแทน

- อาชีพที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ประชากรเกิดใหม่มีจำนวนน้อยลง สังคมกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ

- อาชีพข้าราชการบางตำแหน่งอย่างนักเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ธุรการ เป็นต้น อาจมีบทบาทและหน้าที่น้อยลงเพราะการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำงาน

- อาชีพเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิต เช่นการตรวจควบคุมคุณภาพ QC หรือการผลิตที่ระบบ Automation จะเข้ามามีส่วน เพิ่มมากขึ้นและทดแทน

- อาชีพขายตรง ขายประกัน ผู้บริโภคสามารถซื้อโดยตรงผ่านระบบออนไลน์ ในขณะที่ผู้ขายก็สามารถทำผ่านระบบนี้ได้เช่นกัน

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ (พฤศจิกายน 2562)

 


4. ประเทศไทยต้องการ….

ส่วนกลุ่มอาชีพที่ประเทศไทย “ต้องการ” ในยุคนี้

มักจะเกี่ยวกับเทรนด์เทคโนโลยีที่กำลังบูม กลุ่มประชากรที่กำลังจะเป็นประชากรหลักอย่างผู้สูงอายุ รวมไปถึงอาชีพใหม่ๆ เฉพาะทางที่เน้นการเข้าใจและบริการผู้บริโภค ซึ่งอาชีพเหล่านี้ ได้แก่

- อาชีพที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยฟื้นฟูสุขภาพ และผู้ป่วยติดเตียง เพราะคนรุ่น Baby Boomer กำลังเข้าสู่ช่วงสูงวัยและจะกลายเป็นกลุ่มประชากรหลัก

- อาชีพเกี่ยวกับแฟลตฟอร์มธุรกิจ ตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ เพราะวิธีการอุปโภค บริโภคของคนรุ่นใหม่ที่นิยมซื้อขายผ่านระบบออนไลน์

- อาชีพเกี่ยวกับขนส่งโลจิสติกส์และการบริหารคลังสินค้า เนื่องจากมีการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ การขนส่ง จัดส่งจึงเป็นการบริการที่สำคัญ

- อาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและบริการต่อเนื่อง ธุรกิจที่โฟกัสลูกค้า (customer-centric)  โดยนึกถึงลูกค้าเป็นหลัก มีการบริการต่อเนื่องจะสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า

- อาชีพเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและอาหารเพื่อสุขภาพ คนสมัยใหม่รวมถึงผู้สูงอายุหันมาสนใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น

- อาชีพเกี่ยวกับวิศวกรรมก่อสร้าง โครงสร้างระบบรางและระบบคมนาคมต่างๆ การพัฒนาเมือง สร้างหรือขยายเส้นทางรถไฟฟ้าในประเทศกำลังเป็นที่ต้องการ

- อาชีพและธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาแอปพลิเคชัน ทุกธุรกิจกำลังมุ่งเน้นการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์หรือผ่านมือถือ การมีแอปพลิเคชัน จึงเป็นเครื่องมือสำคัญของธุรกิจ

- นักวิเคราะห์ข้อมูลสถิติชั้นสูง นักเศรษฐศาสตร์ประกันภัย และที่ปรึกษาทางด้านการลงทุน คนสมัยใหม่มีความระมัดระวังการใช้เงิน และรอบคอบในการวางแผนมากขึ้น คิดระยะยาวมากขึ้น

- อาชีพใหม่ๆ ที่เกิดจากการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น ผู้จัดการด้านการดูแลความพึงพอใจในการใช้ระบบ (User Experience Manager) ผู้จัดการทางด้านเนื้อหาและสื่อสังคมออนไลน์ (Content and Social Media Manager) ที่ปรึกษาทางด้านเทคโนโลยีความจริงเสมือน (Virtual Reality Consultant)

- อาชีพเกี่ยวกับการให้การศึกษาผ่านทางออนไลน์ Online Educator ซึ่งจะมีการพัฒนาแทนที่การศึกษาแบบดั้งเดิมมากขึ้นตามลำดับ มีการทำหลักสูตรออนไลน์คุณภาพสูงที่สามารถทดแทนการเรียนในชั้นเรียนจริงได้ นอกจากการลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ยังทำให้การศึกษาเข้าถึงผู้เรียนอย่างทั่วถึงทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย
 
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ (พฤศจิกายน 2562)
 




5. สาขาเรียนดาวรุ่ง…ลดโอกาสการตกงาน

แม้ว่าเราจะเห็นอาชีพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองกันและสอดคล้อง กับความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางสาขาวิชาก็ยังคงเป็น ความต้องการของประเทศอยู่เสมอไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหนก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น สายวิศวกรรมหรือแพทย์ สุขภาพและสาธารณสุขที่ประเทศของเรายังคงมีความต้องการอยู่ตลอด ซึ่งยังต้องการคนที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้ ดังนั้นศาสตร์ของแต่ละวิชานั้นยังสำคัญและมีความจำเป็นในสังคมนี้อยู่

สาขาเรียนดาวรุ่ง...ที่ลดโอกาสการตกงาน ได้แก่

- วิศวกรรมซอฟต์แวร์

- วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์

- วิศวกรรมเครื่องกล

- พยาบาลศาสตร์

- แพทยศาสตร์

- วิศวกรรมโยธา

- วิศวกรรมไฟฟ้า

- เทคโนโลยีสารสนเทศ

- บัญชี

การเรียนในสาขาวิชาเหล่านี้มีแนวโน้มว่ามีโอกาสการตกงานน้อยกว่าสาขาอื่นๆ เรียนจบมามักมีงานรองรับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า งานในสาขาอื่นจะตกงานมากกว่า ทั้งนี้การได้งานหรือว่าจ้างก็ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย

ที่มา: true ปลูกปัญญา (2562)

 

 

6. แต่..เรียนมาไม่ตรง ≠ ตกงาน

ดังนั้นสำหรับผู้ที่อาจไม่ได้เรียนในสายอาชีพดาวรุ่งหรือเลือกเรียนในสิ่งที่ชอบและรักไปแล้ว ไม่ควรต้องกังวลใจหรือผิดหวังกับการตัดสินใจและการลงทุนไป การเรียนตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานไม่ได้เป็นเครื่องการันตีเสมอไปว่าจะได้

งานหรือประสบผลสำเร็จ เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้บุคคลนั้น ประสบผลสำเร็จด้านการงาน ส่วนความต้องการของตลาดแรงงานเป็นปัจจัยใหญ่แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดไม่ว่าคุณจะเรียนอะไร จบสายไหน คณะอะไร เริ่มทำงานในอุตสาหกรรมใด การมีอาวุธ 3 สิ่ง ดังต่อไปนี้จะช่วยให้คุณเป็นคนที่มี “คุณสมบัติ คุณภาพและคุณค่า” ที่ดีพอสำหรับการทำงาน

- Growth Mindset ความคิดที่ไม่หยุดพัฒนา

- Lifelong Learning การเรียนรู้ตลอดชีวิต

- Adaptation & Resilience การปรับตัวและความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนตนเอง

หากคุณเปลี่ยนวิธีคิดให้เป็นวิธีคิดแบบเติบโต เชื่อในการพัฒนาตนเอง เรียนรู้และฝึกฝน มีความตื่นตัวในการปรับตัวในสถานการณ์ต่างๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีความยืดหยุ่นและตั้งรับกับสิ่งต่างๆ ให้ดี เมื่อล้มแล้วลุก อย่าให้ปัญหาหรือเหตุการณ์เป็นอุปสรรค

หมั่นอัปสกิล (upskill) และรีสกิล (reskill) คือเพิ่มทักษะใหม่ (reskill) และพัฒนาทักษะเดิม (upskill) ให้แข็งแกร่งอยู่เสมอเพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง เพียงเท่านี้คุณจะไม่มีวันตกงานแน่นอน

 

 

 

ที่มา:

1. เปิด 10 อาชีพเสี่ยงตกงาน คาดปี 63 หางานยากสุดในรอบ 10 ปี, PPTV https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/115015

2. เผยผลสำรวจ 12 กลุ่มอาชีพ-กิจการเสี่ยงต่อการว่างงานสูงปี 2563, ประชาไท https://prachatai.com/journal/2019/12/85647

3. เปิดสถิติว่างงาน จบป.ตรีเสี่ยงสุด, PPTV https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/114010

4. 9 สาขาวิชาที่เรียนจบแล้วโอกาสตกงานน้อย, true ปลูกปัญญา https://www.trueplookpanya.com/tcas/article/detail/76792

5. สรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนธันวาคม พ.ศ.2562, สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม http://www.nso.go.th/sites/2014/DocLib13/ด้านสังคม/สาขาแรงงาน/ภาวะการทำงานของประชากร/2562/Report_12-62.pdf

6. ข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษาและประมาณการผู้เข้าสู่ตลาดแรงงาน ปี 2562,  กรมการจัดหางาน https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/lmia_th/be71344e32cbfbefc8e1752a15024129.pdf