Last updated: 7 เม.ย 2563 |
วันที่ 7 เมษายน 2563 - 16:00 น.
สถานการณ์ COVID-19 ทำให้เกิดมาตรการลดความเสี่ยงจากการเดินทางของผู้คน ซึ่งการจำกัดการเดินทางผู้คนก็ย่อมส่งผลให้หลายธุรกิจทั่วโลกหยุดชะงัก ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ธุรกิจสายการบิน’
เมื่อเชื้อไวรัสเดินทางได้ การขนส่งระหว่างประเทศจึงกลายเป็นความเสี่ยงที่ควรจัดการตั้งแต่เนิ่นๆ หลายประเทศสั่งห้ามชาวต่างชาติเข้าประเทศ ซึ่งนั่นก็แปลว่า เที่ยวบินนอกประเทศจะต้องถูกระงับเป็นการชั่วคราวเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส รวมไปถึงสร้างความกลัวของผู้คนที่จะเดินทางไปไหนมาไหน แม้กระทั่งภายในประเทศเอง ก็ได้ทำให้หลายสายการบินเงียบเหงาไปตามๆ กัน
มาตรการเพื่อความปลอดภัยนี้ก็ได้ส่งผลให้ธุรกิจการบินทั่วโลกได้รับผลกระทบไม่น้อย เพราะการบินแต่ละครั้งจะมี ‘จุดคุ้มทุน’ อยู่ นั่นก็คือ ‘จำนวนผู้โดยสาร’ แต่จากสถานการณ์ในตอนนี้การรับส่งผู้โดยสารเป็นเรื่องยาก ไม่ว่าจะเป็นขาเข้าหรือขาออก ทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งหากไม่มีผู้โดยสาร หลายเที่ยวบินก็จำเป็นต้องถูกยกเลิกไป นั่นเท่ากับว่ารายรับที่ได้ไม่คุ้มกับต้นทุนที่เสียไป ทั้งค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์ ค่าจ้างพนักงาน และอีกมากมาย
CAPA Centre for Aviation บริษัทที่ปรึกษาด้านสายการบินระดับโลกได้คาดการณ์ว่า หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นภายในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ธุรกิจสายการบินทั่วโลกอาจล้มละลายจากความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ และไม่รู้ว่าจะเดินไปถึงปลายเหวเมื่อไหร่ สายการบินหลายแห่งจึงต้องมีมาตรการบางอย่างเพื่อคงไว้ซึ่งธุรกิจของตัวเอง หนึ่งในนั้นก็คือการจัดการกับ ‘ทรัพยากรมนุษย์’ ที่มีอยู่
เมื่อธุรกิจเจ็บหนัก พนักงานก็สาหัสไปด้วย
พอจุดคุ้มทุนของการบินแต่ละเที่ยวสวนทางกับจำนวนผู้เดินทาง ทำให้ธุรกิจการบินหลายแห่งจำเป็นต้องเซฟตัวเองด้วยการลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด ซึ่งการลดต้นทุนในที่นี้ไม่เพียงแต่จะหมายถึงการลดจำนวนเที่ยวบิน ยกเลิกเที่ยวบิน หรือปลดประจำการเครื่องบินก่อนกำหนดเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการลดจำนวนเจ้าหน้าที่ พนักงาน และบุคคลากรที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นทางตรง หรือทางอ้อม
นักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน พนักงานภาคพื้น เจ้าหน้าที่เอกสาร ตัวแทนจำหน่ายตั๋ว บริษัททัวร์ และอื่นๆ อีกมากมาย พวกเขาเหล่านี้ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญกับธุรกิจการบิน เพราะการบินหนึ่งเที่ยวบนเครื่องบินหนึ่งลำประกอบไปด้วยการร่วมมือกันทำงานของหลายๆ ฝ่าย ฉะนั้นแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่ผลกระทบครั้งนี้จะไม่ไปถึงพวกเขา
สายการบินหลายแห่งมีมาตรการให้ลดวันทำงาน ตัดเบี้ยเลี้ยง ปลดพนักงาน รวมไปถึงขอความร่วมมือในการไม่รับเงินค่าตอบแทน เช่น สายการบินไทยสมายล์ออกมาตรการลดเงินเดือนผู้บริหารระดับสูง 30% และให้พนักงานทั่วไปลาหยุดได้โดยไม่รับเงินเดือน ไทยไลออนแอร์ปรับลดเงินเดือนพนักงานลง 60% และเลิกจ้างพนักงานใหม่ที่มีอายุงานไม่ถึง 1 ปี หรือการบินไทยที่มีโครงการสมัครใจลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน และมีการปรับลดเงินเดือนพนักงานลง ในเปอร์เซ็นต์ที่แตกต่างกันตามตำแหน่งและเงินเดือนที่ได้รับ
วิกฤตครั้งนี้ทำให้พนักงานหลายคนต้องตั้งรับความเสี่ยงจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพราะไม่รู้จะกลายเป็นบุคคลว่างงานตอนไหน ทำงานต่อไปจะคุ้มกับความเหนื่อย หรือเพียงพอกับภาระที่ต้องแบกรับหรือเปล่า และการหางานใหม่ในช่วงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าไหร่นัก นับเป็นเรื่องที่ลำบากใจไม่น้อยสำหรับคนทำงานในสายอาชีพนี้
เมื่อได้สอบถามพนักงานต้อนรับหลายคน ก็พบว่าความเปลี่ยนแปลงแรกที่พวกเขาต้องเจอนั่นก็คือ ‘ชั่วโมงบินลดลง’ เนื่องจากมีการลดเที่ยวบินในประเทศที่มีการปิดเขตแดนเนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยง
บางคนจากมีชั่วโมงบิน 70-90 ชั่วโมงต่อเดือน ถูกลดลงเหลือเพียงแค่ 30 ชั่วโมง
“จำนวนผู้โดยสารโซนเอเชียลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนขาไปประเทศโซนยุโรปยังมีผู้โดยสารเต็มจนล้น เนื่องจากรัฐบาลประเทศนั้นๆ ประกาศให้ประชาชนของประเทศตนเองรีบกลับโดยไว แต่ขากลับเข้าประเทศไทยผู้โดยสารน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็น high season ของประเทศไทยที่ปกติจะเต็มเกือบทุกเที่ยวบิน” พนักงานต้อนรับของสายการบินหนึ่งเล่าให้ฟัง ซึ่งเธอเองก็ประสบปัญหาการถูกยกเลิกเที่ยวบินกระทันหันในช่วงเดือนมีนาคม และต้องสแตนด์บายอยู่บ้านแทน
เธอยังเสริมอีกว่าหลังจากเดือนมีนาคม บริษัทมีมาตรการหยุดบินจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม เนื่องจากสายการบินทั่วโลกได้ทำการหยุดบินเหมือนกันหมด ทำให้เธอต้องถูกปรับลดเงินเดือนบางส่วนไปด้วย และขณะนี้ก็ยังไม่มีมาตรการเยียวยาใดๆ จากสายการบิน ทั้งๆ ที่การแพร่ระบาดนี้ถือเป็นความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะต้องอยู่ในบริเวณเดียวกับผู้โดยสารต่างชาติ โดยเฉพาะคนที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ทำให้เธอต้องกักตัวอยู่คนเดียว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดสู่ครอบครัวอีกที นอกจากนี้ ยังมีพนักงานต้อนรับอีกหลายหนึ่งที่อายุงานของพวกเขาเพียงไม่กี่เดือน แต่ถูกปลดออกจากการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรการของสายการบินที่สั่งปลดพนักงานที่มีอายุงานไม่เกิน 1 ปี
“กว่าจะมาผ่านการสมัครจากคนเป็นพันๆ คนมาได้ มันคือการต่อสู้ที่หนักมากจริงๆ ไหนจะสอบ TOEIC ไหนจะเตรียมตัว ทั้งเรื่องการถ่ายรูป เตรียมชุด ฝึกฝนทักษะ และบุคลิกภาพ ทุกอย่างต้องใช้ทั้งเงินและเวลา จนวันนึงได้มาทำอาชีพที่ตัวเองฝัน มันภูมิใจที่สุดแล้ว และคิดว่าคงอยู่ในอาชีพนี้ยาวๆ แต่สุดท้ายมาโดนแบบนี้คือช็อคกันหมด ตั้งรับไม่ทัน และก็ไม่มีการบอกล่วงหน้าด้วย” พนักงานภาคพื้นคนหนึ่งกล่าว
ซึ่งพอถามเธอว่า แล้วถ้าหากสถานการณ์ดีขึ้น พนักงานที่ถูกปลดออกจะกลับมาสมัครเข้าทำงานได้ทันทีเลยมั้ย เธอตอบว่า โดยปกติแล้วถ้าเซ็นออกไปต้องรออีก 2 ปีถึงจะสมัครเข้ามาใหม่ได้ นั่นก็เท่ากับว่าภายใน 2 ปีนี้ พนักงานที่ถูกปลดออกจะต้องหางานอื่นทำไปก่อน แม้เธอเองจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากนัก ทั้งไม่ถูกสั่งปลดและไม่ถูกปรับลดเงินเดือน แต่ก็ต้องทำตามมาตรการที่บริษัทกำหนด นั่นก็คือ work from home โดยไปทำงาน 7 วัน สลับกับอยู่บ้านอีก 7 วัน แต่ต้องรายงานตัวผ่านโปรแกรมสนทนา Zoom
ส่วนอีกสายการบินหนึ่ง พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินได้เล่าให้ฟังถึงผลกระทบที่ได้รับกับความเสี่ยงที่ต้องเจอ โดยเธอถูกปรับลดเงินเดือน และต้องเผชิญหน้ากับผู้โดยสารที่ไม่ทำตามมาตรการป้องกัน “ตอนนี้เงินเดือนน้อยมากๆ เหมือนเป็นพนักงานออฟฟิศที่เข้ามาใหม่ ถูกลดเงินเดือนไป 10,000 บาทเรื่อยๆ ไม่มีกำหนด เหลือเที่ยวบินอาทิตย์ละ 1-2 วัน กัปตันโดน leave without pay ไป 6-7 เดือน โดยเขาจะเลือกคนที่ลางานบ่อยๆ เพราะผู้โดยสารตอนนี้แทบไม่มีแล้ว เหลือแต่คนกลับบ้านกับชาวต่างชาติ ซึ่งชาวต่างชาติก็ไม่ใส่หน้ากากอนามัย ทั้งๆ ที่ประกาศบนเครื่องไปหลายรอบ แล้วเดือนเมษายนนี้ บางจังหวัดก็เริ่มตัดเที่ยวบินออกแล้ว เพื่อไม่ให้คนเข้าจังหวัด”
จนกว่าวิกฤตจะผ่านพ้นไป แอดมินทวิตเตอร์ ‘สาระการบินน่ารู้’ ก็ได้ให้ความเห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้เพื่อเยียวยาธุรกิจการบิน ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่สำคัญต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวภายในประเทศ ก็คงเป็นในเรื่องของการสนับสนุนค่าใช้จ่าย เพื่อไม่ให้สายการบินขาดสภาพคล่องการเงิน หรือการผ่อนปรน ละเว้นค่าธรรมเนียมการจอดอากาศยาน เพื่อให้สายการบินไม่ต้องแบบรับค่าใช้จ่ายมากนัก และในส่วนของหน่วยการกำกับการบินเอง ก็ควรยืดหยุ่นกฎต่างๆ ชั่วคราว หรือสนับสนุนสายการบินให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อที่จะได้นำทรัพยากรที่เหลือไปชดเชยให้กับบุคคลากร ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการถูกปลดและปรับลดเงินเดือนในขณะนี้
การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้บุคคลากรและเจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรมการบินหลายคนต้องแบกรับความเสี่ยงในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการเสียงานประจำที่มีอยู่ และโอกาสที่จะหางานใหม่ในอนาคต
Source:
Thematter
อยู่ก็เครียด ไปก็ลำบาก : ผลกระทบจาก COVID-19 ต่อคนทำงานในธุรกิจสายการบิน
https://thematter.co/social/covid-19-impact-on-aviation/106220
16 ก.ย. 2564
10 ก.ย. 2564
7 ก.ย. 2564