Last updated: 18 มิ.ย. 2563 |
วันที่ 18 มิถุนายน 2563 - 13:11 น.
ความรู้ความเข้าใจด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) ที่เป็นการศึกษาทางชีววิทยาของสมองมนุษย์ ช่วยไขข้อข้องใจและได้อธิบายความเข้าใจผิดหลายอย่างเกี่ยวกับสมอง พฤติกรรม และการเรียนรู้ของมนุษย์ โดยเฉพาะความเชื่อและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “วัยรุ่น”
“ฮอร์โมนที่พุ่งพล่านในร่างกายของวัยรุ่นทำให้วัยนี้มีพฤติกรรมว้าวุ่น บ้าคลั่ง และควบคุมตัวเองไม่ได้” เป็นความเข้าใจผิดอย่างหนึ่ง
ผลการวิจัยและการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจนว่า ฮอร์โมนเป็นส่วนหนึ่งแต่ก็ไม่ได้มีบทบาทสำคัญขนาดนั้น ความเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาของสมองต่างหากเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของวัยรุ่น แล้วสมองที่ว่าก็ทำงานเชื่อมโยงกับจิตใจ พฤติกรรมที่แสดงออกจึงสะท้อนมาจากความรู้สึกนึกคิดและจิตใจภายใน
หรือบางคนกล่าวว่า
“วัยรุ่นเป็นวัยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังไม่เป็นผู้ใหญ่ จึงต้องอาศัยเวลาเรียนรู้และเติบโต ผู้ใหญ่จำเป็นต้องมีความอดทนกับวัยรุ่น”
คำกล่าวข้างต้นดูเหมือนเป็นความพยายามสร้างความเข้าใจและสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ใหญ่กับวัยรุ่น แต่ในทางปฏิบัติหากผู้ใหญ่ไม่มีความเข้าใจที่แท้จริง ผลลัพธ์กลับนำมาสู่การทำให้เด็กวัยนี้ถูกปล่อยปละละเลยและวางเฉยจากผู้คนรอบตัว
ผู้ใหญ่บางคนเหนื่อยหน่าย เบือนหน้าหนีรับไม่ได้กับพฤติกรรมบางอย่างของวัยรุ่น และไม่สามารถรับมือกับความต่างทางความคิดและพฤติกรรม ทั้งที่ช่วงเวลานี้เป็นเวลาสำคัญที่สมองวัยรุ่นกำลังประกอบร่าง (remodeling) เพื่อให้สมองเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคคลและประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
ความสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัว ความสงสัยใคร่รู้ การลองคิดลองทำ การลองผิดลองถูกและความตื่นเต้นที่จะค้นหาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นกระบวนการทำงานภายในสมองวัยรุ่นที่จะสร้างตัวตนให้กับพวกเขาในอนาคต ทั้งลักษณะนิสัยและคุณสมบัติต่างๆ ในตัวเอง
แดเนียล เจ. ซีเกล (Daniel J. Siegel) ศาสตราจารย์คลินิกจิตเวชศาสตร์ โรงเรียนสอนการแพทย์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCAL School of Medicine) และผู้อำนวยการสถาบันมายด์ไซท์ (Mindsight Institute) ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทชีววิทยาระหว่างบุคคล (interpersonal neurobiology) และมีผลงานเขียนมากมาย ยกตัวอย่างเช่น “Parenting from the Inside Out” และ “The Whole-Brain Child” ได้อธิบายเกี่ยวกับพลังและศักยภาพของสมองวัยรุ่นช่วงวัย 12 – 24 ปี ไว้ในหนังสือ “Brainstorm: The Power and Purpose of the teenage brain”
ซีเกลบอกว่าผู้อ่านไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ หากมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงธรรมชาติและความเปลี่ยนแปลงในสมองของวัยรุ่น แล้วรับมือได้อย่างเหมาะสม จะช่วยนำทางให้เด็กๆ วัยนี้มีโอกาสผจญภัยไปกับชีวิตและใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมายได้อย่างยอดเยี่ยม อีกทั้งยังเป็นพิมพ์เขียวสำหรับการใช้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่
สมองกับจิตใจหนึ่งเดียวกัน
วัยรุ่นมักถูกตัดสินด้วยคำพูดต่างๆ นานา เช่น ควบคุมตัวเองไม่ได้ ขี้เกียจ และขาดความมุ่งมั่น
จากการศึกษาพบว่า วัยรุ่นซึมซับคำพูดเชิงลบเกี่ยวกับตัวพวกเขาและสิ่งที่คนอื่นคาดหวังจากพวกเขา คำพูดเชิงลบจะยิ่งทำให้วัยรุ่นดำดิ่งและมีทัศนคติเชิงลบต่อสภาพแวดล้อมและผู้คนรอบข้าง แทนที่จะให้ความสนใจกับการพัฒนาตนเองไปสู่ศักยภาพที่แท้จริง ดังนั้น สังคมจึงควรสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับวัยรุ่น แทนที่จะนิยามให้วัยรุ่นเป็นวายร้ายวัยว้าวุ่น
ซีเกล บอกว่า การทำงานสมองมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับ “mind” หรือ “จิตใจ”
วัยรุ่นเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทาย พัฒนาการทางสมองและความเปลี่ยนแปลงของสมองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ไม่ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมของวัยรุ่นเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความแข็งแกร่งและมั่นคงทางจิตใจ
ความเปลี่ยนแปลงของสมองวัยรุ่นสัมพันธ์กับสภาวะทางจิตใจ 4 ส่วน ซึ่งแตกต่างจากวัยเด็กอย่างสิ้นเชิง ซีเกลเรียกว่า “ESSENCE” – “เอสเซ้นส์” แก่นสำคัญของการใช้ชีวิตในช่วงวัยรุ่นที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในวัยผู้ใหญ่ และการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต
สภาวะทางจิตใจทั้ง 4 ส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิด การตอบสนองต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าและการตัดสินใจ ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวก ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบได้ The Potential จึงชวนมาทำความเข้าใจ เพื่อให้รู้เท่าทันและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสมองในช่วงวัยนี้
หนึ่ง การจุดประกายทางอารมณ์ (Emotional Spark: ES)
มนุษย์มีแรงขับและแรงผลักดันในการใช้ชีวิตจากภายในจิตใจอยู่แล้วตามธรรมชาติ ซึ่งทำงานอย่างเข้มข้นในช่วงวัยรุ่น แรงขับและแรงผลักดันนี้ช่วยสร้างความหมายและพลังชีวิตให้พวกเขาได้ แต่พลังงานนี้อาจเปลี่ยนเป็นความรุนแรงทางอารมณ์ที่แสดงออกในทางที่ผิดได้เช่นกัน หากอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม (The Potential – เช่น การถูกบูลลี่ (bully) โดนแกล้ง โดนล้อจากกลุ่มเพื่อน)
สอง การมีส่วนร่วมทางสังคม (Social Engagement: SE)
เป็นเรื่องของมิตรภาพ การเข้าสังคม และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้คน ธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตรอบตัว ไม่เฉพาะแค่ในพื้นที่ของสังคมวัยรุ่นเอง ผู้ใหญ่ไม่ควรทำให้วัยรุ่นรู้สึกแปลกแยกจากสังคมผู้ใหญ่ แต่เปิดพื้นที่ให้พวกเขามีตัวตน ทั้งในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน
วัยรุ่นไม่ควรตัดขาดตัวเองจากกลุ่มเพื่อนหรือสังคม เช่น การเล่นเกมออนไลน์ เก็บตัวอยู่คนเดียวมากเกินไป หรือถูกตัดขาดความสัมพันธ์กับผู้อื่น ถูกผลักออกจากสังคมใกล้ชิด เพราะนั่นทำให้พวกเขาไม่สามารถควบคุมหรือใช้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงทางสมองที่เกิดขึ้นในช่วงวัยนี้ได้
สาม ความสนใจใคร่รู้สิ่งแปลกใหม่ (Novelty: N)
วัยรุ่นมักมีแรงกระตุ้นหรือแรงบันดาลใจจากภายในให้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่ให้ความหมาย ให้คุณค่าและท้าทายกับชีวิต เป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัส อารมณ์ความรู้สึก การคิดและร่างกาย แต่หากขาดการยับยั้งชั่งใจ ขาดการคิดไตร่ตรองอย่างมีสติ อาจนำไปสู่การทำสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงและเป็นอันตรายได้
และ สี่ การค้นคว้าอย่างสร้างสรรค์ (Creative Exploration: CE)
การคิดนอกกรอบเพื่อจัดการปัญหาหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ผ่านการลงมือทำ ซึ่งอาจเกิดข้อผิดพลาด การวิพากษ์วิจารณ์หรือต้องเผชิญกับแรงกดดันรูปแบบต่างๆ หากวัยรุ่นไม่สามารถจัดการกับจิตใจตนเองได้ ไม่ได้รับความเชื่อมั่น ไว้ใจ และไม่ได้กำลังใจจากผู้ใหญ่ อาจทำให้ท้อแท้ หลงทาง และหมดความเชื่อมั่นในตนเอง
“ทำไมคุณถึงใส่กางเกงให้หลุดลงมาอยู่ด้านล่างก้นคุณอย่างนั้น” ซีเกล เอ่ยถึงคำถามที่เขาถามอย่างตรงไปตรงมากับผู้ป่วยของเขา
เขาไม่ได้ถามด้วยน้ำเสียงตัดสินหรือดูถูก และเข้าใจดีว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของแฟชั่น แต่ก็อยากรับรู้จากเจ้าตัวเพื่อคลายความสงสัย
“ผมจำเป็นต้องใส่กางเกงแบบนี้เพราะผมอยากเป็นเหมือนคนอื่นๆ ที่พยายามทำตัวแตกต่าง ผมกำลังทำเหมือนคนอื่นที่กำลังพยายามทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่” เขาตอบอย่างตรงไปตรงมา
สำหรับวัยรุ่น สิ่งที่เกิดขึ้นกับสมองจากการขับเคลื่อนสภาวะทางจิตใจทั้ง 4 ส่วน ตามธรรมชาติแล้วจะดึงดูดให้พวกเขาออกไปผจญภัย สร้างพลังชีวิต สร้างความแจ่มใส ความตื่นเต้น ท้าทายและการได้รับการยอมรับจากผู้อื่น โดยเฉพาะในกลุ่มเพื่อน
มุมมองที่ผู้อื่นสะท้อนมายังพวกเขามีอิทธิพลต่อความคิดและความเชื่อมั่นที่พวกเขามีต่อตัวเองด้วยเช่นกัน ดังนั้น แทนที่ผู้ใหญ่จะตัดสินความเป็นวัยรุ่นจากความเชื่อและทัศนคติเดิมๆ คัดง้าง และสร้างความกดดัน จนนำมาสู่ความขัดแย้งและการไม่เคารพซึ่งกันและกัน การโน้มน้าวด้วยการบอกเล่าถึงสิ่งที่ให้คุณค่า การพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจ การเปิดพื้นที่ให้ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน มีส่วนสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์และสร้างการยอมรับระหว่างกัน
เบนจี (Benji) เพื่อนของลูกชายซีเกลวัย 20 ต้น ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการกระโดดทิ้งตัวลงน้ำจากหน้าผาสูง 50 ฟุตทางตอนใต้ของสเปน หลังรอดชีวิตมาได้ แล้วมีโอกาสได้พูดคุยกันถึงเรื่องนี้ เขาถามเบนจีว่า คิดว่าจะกระโดดลงจากหน้าผาอย่างนั้นไหม ถ้าไม่มีเพื่อนอยู่ตรงนั้นด้วย เบนจีตอบทันทีว่า “ไม่มีทาง!!”
แต่หากเข้าใจความลับของสมองในวัยรุ่น ผู้ใหญ่และวัยรุ่นเองจะสามารถจัดการและควบคุมพฤติกรรมอยากลอง อยากเป็นที่ยอมรับ หรือกล้าได้กล้าเสียได้อย่างอยู่หมัด
สถิติทั่วโลกพบว่า วัยรุ่นมักวิ่งเข้าหาบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาเสพติด ซีเกล ยกตัวอย่าง กลยุทธ์ประชาสัมพันธ์ให้วัยรุ่นหันมาดูแลรักษาสุขภาพ แทนการห้ามและบังคับจากผู้ปกครอง ซึ่งเป็นวิธีที่แทบใช้ไม่ได้ผล กลยุทธ์สร้างค่านิยมใหม่ที่ฉายภาพให้เห็นว่าการมีสุขภาพดี หุ่นฟิต รูปร่างสมส่วนเป็นเรื่องน่าอวดและน่าภาคภูมิใจ นำเสนอเนื้อหาที่บอกเล่าถึงความร่ำรวยของเจ้าของโรงงานบุหรี่ ที่ผลิตบุหรี่ขึ้นมาล้างสมองผู้คน เพื่อกอบโกยเงินทองจากผู้สูบ ผลการสำรวจปรากฏว่า สถิติวัยรุ่นอเมริกาสูบบุหรี่ลดลงหลังใช้กลยุทธ์ดังกล่าวที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างค่านิยมใหม่ในเชิงบวก
สมองเรียนรู้จากประสบการณ์ได้ตลอดชีวิต ประสบการณ์ชีวิตในช่วงวัยรุ่นมีส่วนหล่อหลอมตัวตนของคนๆ หนึ่ง ซึ่งอาจจะเติบโตไปในทางที่ถูกหรือทางที่ผิดก็ได้ อาจทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือไม่ดีก็ได้
ความเปลี่ยนแปลงของสมองวัยรุ่นจึงไม่ใช่แค่เรื่องที่รับรู้ รู้แล้ว แล้วผ่านไป ด้วยเหตุผลว่าทุกคนจะผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ แต่เป็นช่วงเวลาที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้สมองของแต่ละคนได้รับอิสระที่จะก้าวไปถึงศักยภาพที่ดีสุด สามารถสร้างสิ่งที่มีความหมายและมีคุณค่าทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น
ซีเกล อธิบายว่า แม้พลังของ ESSENCE จะค่อยๆ ลดลงเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ แต่การรักษาและให้ความสำคัญกับ ESSENCE ที่พลุ่งพล่านตั้งแต่วัยรุ่น จะทำให้แรงขับเคลื่อนสภาวะทางจิตใจทั้ง 4 ส่วนคงอยู่ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
ผู้ใหญ่ที่ขาดคุณสมบัติทั้ง 4 ของวัยรุ่น ผู้ใหญ่ที่เฉยชากับชีวิต ไม่มีความหลงใหล ขาดการมีส่วนร่วมทางสังคม ขาดความสงสัยใคร่รู้สึกแปลกใหม่ และขาดความคิดสร้างสรรค์ กักขังตัวเองอยู่กับสิ่งเดิมๆ เพราะไม่อยากเสี่ยงกับชีวิต ชีวิตของพวกเขาจะเต็มไปด้วยความเบื่อหน่าย ซึมเซา เคว้งคว้าง และแปลกแยก นำมาสู่ภาวะซึมเศร้า สิ้นหวัง ว่างเปล่า และรู้สึกว่าตนเองไร้ค่าในที่สุด
จะว่าไปก็แปลกดีเหมือนกันที่เรื่องวิทยาศาสตร์มากๆ อย่างการทำงานของสมอง (วัยรุ่น) กลับเกี่ยวข้องกับจิตใจอย่างแยกไม่ออก
Source :
The Potential