Last updated: 25 มี.ค. 2564 |
วันที่ 25 มีนาคม 2563 - 09:23 น.
พูดคุยกับ Dr. Linda Liukas คุณครูสาวจากฟินแลนด์ และเจ้าของผลงานหนังสือภาพสำหรับเด็กที่มีการแปลไปกว่า 100 ภาษาอย่าง ‘Hello Ruby’ ที่อธิบายพื้นฐานการเขียนโปรแกรมที่แม้แต่เด็ก 4 ขวบก็สามารถเรียนได้ ทั้งนี้ Dr.Linda Liukas ได้มาพูดคุยกับ Techsauce ในหัวข้อของ ระบบการศึกษา (Education System) ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่อ COVID-19 ระบาดไปทั่วโลก และบทบาทของวงการการศึกษาจะเป็นอย่างไรต่อไปหลังจากนี้
1. ผลกระทบของ COVID-19 กับระบบการศึกษาในฟินแลนด์และทั่วโลก
สำหรับในฟินแลนด์ หลังพบว่า COVID-19 ระบาด ก็ได้มีการล็อกดาวน์เป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นก็กลับมาดำเนินชีวิตกันแบบ New normal โดยโรงเรียนระดับประถม (Primary school) กลับมาเข้าห้องเรียนตามปกติ ในขณะเดียวกันโรงเรียนระดับมัธยม (Secondary school) และมหาวิทยาลัยมีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายหลาย ๆ อย่าง เช่น เด็กเริ่มเบื่อการเรียนออนไลน์ หรือเด็กขาดแรงจูงใจในการเรียน
แต่ในทางกลับกัน Dr. Linda Liukas ก็ยังพบว่ามีข้อดีจากการระบาดของ COVID-19 กับรูปแบบของการศึกษา อย่างเช่น เราสามารถเข้าร่วมคลาสเรียนต่าง ๆ รอบโลกได้ง่ายดายมากขึ้น อีกทั้งคุณครูจากสถาบันต่าง ๆ ทั่วโลกก็ได้นำเอาอุปกรณ์ เทคโนโลยี และสร้างรูปแบบการเรียนแบบใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อสอนนักเรียน
และในมุมมองเรื่อง Edtech คาดว่าในอนาคต การเรียนออนไลน์จะยังคงอยู่ต่อไป ทุกคนสามารถเรียนได้จากทุกที่ ทุกเวลา และสิ่งนี้จะทำให้พื้นที่ของระบบการศึกษาแคบลง เพราะทุกคนจะเข้าถึงการศึกษาได้ ทั้งนี้ Dr.Linda ก็ได้คาดการณ์ว่า ระบบการศึกษาในอนาคตจะมีความต้องการคุณครูที่มีทักษะ รวมทั้งเครื่องมือและเทคโนโลยีที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากรูปแบบที่เปลี่ยนไปเป็นออนไลน์ รวมไปถึงจะมีการเพิ่มขึ้นของธุรกิจ หรือแบรนด์ที่ทำเกี่ยวกับระบบออนไลน์ที่สามารถใช้ได้ในการเรียน หรือพวก Video Conference นอกจากนี้สิ่งที่นักเรียนในอนาคตจะได้คือ โอกาสในการเรียนจากสถาบันที่ดีที่สุดในด้านนั้น ๆ โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปเรียนเลย
2. Digital Divide ปัญหาใหญ่ในระบบการศึกษาแบบใหม่
ในฟินแลนด์นั้น Dr.Linda กล่าวว่า เมื่อเด็กนักเรียนเข้าไปในโรงเรียนทุกคนจะอยู่ในสถานะที่เท่าเทียวกันทั้งหมด แต่เมื่อเข้าสู่โหมดการเรียนออนไลน์ เด็กที่มาจากครอบครัวที่พร้อมซัพพอร์ต เด็กกลุ่มนี้ก็จะมีอุปกรณ์ในการเรียนที่พร้อมกว่าเด็กกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งความเหลื่อมล้ำนี้ถือเป็นปัญหาหลัก ๆ ที่พบจากระบบการเรียนแบบออนไลน์ไม่ใช่เพียงในฟินแลนด์ แต่เป็นทั่วโลก
นอกจากนี้ Dr.Linda ยังเล่าต่ออีกว่า สำหรับคนฟินแลนด์นั้นการมีอินเทอร์เน็ตใช้ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ส่งผลให้คนในฟินแลนด์ทุกคนมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้ อย่างไรก็ตามก็ยังมีเด็กอีกหลายคนที่ขาดอุปกรณ์พื้นฐานในการเรียน อย่างคอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ต
และในอนาคตนั้นปัญหาเหล่านี้อาจจะลดลง หรือหมดไป เพราะการระบาดของ COVID-19 เป็นตัวเข่ามาเร่งให้แต่ละประเทศต้องพัฒนาระบบการศึกษาแบบใหม่ให้เด็ก ๆ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ดังนั้นในอนาคตเราอาจจะเห็นว่าเด็กจะมีคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเองตั้งแต่ยังอายุน้อย ๆ พวกอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็จะมีการพัฒนาให้ใช้งานในการสื่อสารที่ดีขึ้น และเด็ก ๆ ที่เกิดมาในโลกหลัง COVID-19 จะถือได้ว่าเป็นเด็กในโลกที่ทุกคนเชื่อมกันได้อย่างไม่สิ้นสุด (Connectedness World)
3. แล้วโรงเรียนยังจำเป็นไหม เมื่อโลกเปลี่ยนเป็นออนไลน์
ต้องย้อนกลับไปมองก่อนว่าจริง ๆ แล้ว การศึกษา (Education) คืออะไร เราเรียนไปเพื่ออะไร เรียนเพื่อรู้ทักษะ สร้างเทคนิค หรือเรียนเพื่อทำข้อสอบ แต่สำหรับ Dr. Linda มองว่า การเรียนคือการถ่ายทอดความรู้ การสร้างประสบการณ์/ ไอเดีย/ สังคมให้กับเด็ก ๆ ให้พวกเขาพร้อมสำหรับอนาคต
การเรียนออนไลน์นั้นก็มีทั้งข้อดี และข้อเสีย ถึงแม้ว่ามันจะเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนหาความรู้ได้จากทุกที่ ทุกเวลา แต่ข้อเสียที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือ เมื่อเด็กสามารถเข้าใช้ Google หรือ YouTube ได้อย่างอิสระ พวกเขาก็จะโฟกัสได้เฉพาะสิ่งที่พวกเขาสนใจเท่านั้น ส่งผลให้พวกเขาขาดความรู้ ความสนใจในด้านอื่น ๆ ดังนั้น การศึกษาที่ดี คือ ความสมดุล (Balance)
สำหรับโรงเรียนนั้น มองว่า มันเป็นมากกว่าความรู้ที่เด็ก ๆ จะได้ออกไป แต่มันเป็นเหมือนกันตัวเลือกของเด็ก ๆ มากกว่า เพราะพวกเขาจะต้องเป็นคนเลือกเองว่าจะเข้าสถาบันไหน จะเลือกเรียนอะไร และอีกสิ่งที่จะได้คือ Certification หรือการรับรองจากสถาบันนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่โลกของ Google และ YouTube ยังให้เด็ก ๆ ไม่ได้ ถึงแม้ว่า ณ ปัจจุบันนี้ได้มีโรงเรียนมากมายที่กลายเป็นธุรกิจไปแล้ว
4. บทเรียนจาก 2020 และสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน 2021
ในปี 2020 เราได้เรียนรู้และเห็นอะไรใหม่ ๆ มากมาย สิ่งหนึ่งที่มนุษย์มองหาคือ สังคม และต้องการซึ่งกันและกัน จนทำให้มีแพลตฟอร์มมากมายมาตอบสนองความต้องการในช่วงการล็อกดาวน์ อีกทั้งเกิดเป็นไอเดียใหม่ ๆ ที่เข้ามาสนับสนุนให้ระบบการศึกษาดำเนินต่อไป จนเราได้ค้นพบว่า การเรียนรู้นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในหลาย ๆ รูปแบบ และตลอดเวลาจริง ๆ และมันทำให้เราตระหนักว่า ไอเดียใหม่ที่เกิดขึ้นมานั้นสำคัญขนาดไหนและจำเป็นขนาดไหนที่จะต้องมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา
และในอนาคตของปี 2021 เราอาจจะยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติแบบก่อนการระบาดได้ ดังนั้นการใช้ชีวิตของเราก้จะเป็นแบบ New normal ต่อไป เพราะฉะนั้นทุกคนจะยังต้องใช้ชีวิตกับระบบการศึกษาแบบใหม่ที่เน้นออนไลน์เป็นหลัก และการศึกษาก็จะเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา มีไอเดียใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ การเรียนรู้แบบ Cross-culture หรือข้ามวัฒนธรรมก็จะมีเพิ่มขึ้น
SOURCE :
มีนาคม 23, 2021
By Techsauce Team
https://techsauce.co/tech-and-biz/education-post-covid-19-linda-liukas