Last updated: 7 ก.พ. 2563 |
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 - 13:54 น.
คนทำงานอย่างท่านอย่างผม ปัจจุบันก็มีทั้งหัวหน้าและลูกน้อง หรืออย่างน้อยก็จะผ่านชีวิตของการเป็นลูกน้องมาบ้างเมื่อครั้งอายุยังเยาว์ เว้นไว้แต่ลูกเจ้าของบริษัทที่เรียนจบมาก็มาทำงานในองค์การเลย จะเป็นลูกน้องก็แต่กับพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ของตัวเองเท่านั้น (แต่ก็เป็นลูกน้องที่มีอำนาจและพลังอย่างมาก)
คราวนี้ ปัญหาที่มักเกิดขึ้นก็คือ เจอหัวหน้างานที่มีปัญหา ซึ่งก็อาจจะเจอทั้งแบบชอบเอาเปรียบลูกน้อง หัวหน้าบางคนเป็นประเภทชอบเบียดบังผลงานของลูกน้อง และอีกสารพัดปัญหา เช่น เอาแต่ใช้อำนาจ จุกจิก จี้งานไม่ได้หายใจหายคอ ไม่ส่งเสริมความก้าวหน้าของลูกน้อง สอนงานไม่เป็น เอาดีเข้าตัว เอาชั่วให้ลูกน้อง สารพัดที่จะพบ ซึ่งผมว่าก็ธรรมดาล่ะครับ หัวหน้าที่ดีก็มาก หัวหน้าที่แย่ก็ไม่น้อย และองค์การใดก็ตามที่มีหัวหน้าแบบที่ผมว่าเป็นส่วนมาก จะหวังให้องค์การนั้นก้าวหน้าเจริญรุ่งเรืองนั้นย่อมยาก
ปัญหาของหัวหน้างานนั้น ไม่ใช่มีแต่เฉพาะกับตัวเขาเองหรอกครับ เรื่องที่แน่แน่ก็คือ ปัญหานั้นจะส่งผลกระทบต่อไปยังพฤติกรรมการทำงานของลูกน้องด้วย และส่วนมากก็มักจะส่งผลกระทบในทางลบตามไปด้วย
หากมองในเชิงจิตวิทยาพฤติกรรมแล้ว ลูกน้องส่วนใหญ่มักจะเลือกตอบสนองปัญหาที่เกิดจากหัวหน้าโดยใช้พฤติกรรมในทางลบ เช่น นินทาหัวหน้า ประชดหัวหน้า กลั่นแกล้งหัวหน้า ดื้อทั้งดื้อเงียบและดื้อเสียงดัง หรือการแสดงออกอื่นๆที่แสดงให้เห็นว่าไม่พอใจหัวหน้า สิ่งต่างๆ เหล่านี้ พบเห็นได้ในที่ทำงานทั่วไป
ยิ่งลูกน้องตอบสนองความไม่พึงพอใจที่เขามีต่อหัวหน้าโดยการแสดงพฤติกรรมทางลบมากเท่าใด โอกาสที่จะแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างลูกน้องกับหัวหน้างานยิ่งไกลความจริงไปทุกที ในทางตรงกันข้าม มันมักจะทวีระดับความรุนแรงของปัญหาขึ้น มากขึ้น มากขึ้น สุดท้ายพนักงานบางคนทนไม่ไหวก็ต้องเปลี่ยนงานโดยลาออกไป หรือย้ายไปอยู่แผนกอื่น
ในฐานะที่ท่านกับผมอาจจะเป็นลูกน้องเหมือนกัน ผมมองจากมุมมองส่วนตัวนะครับ แม้จะเปลี่ยนองค์การไปก็ไม่การันตีว่าท่านจะโชคดีสุดสุดคือไปเจอหัวหน้างานที่สุดยอดคน ไม่ว่าจะเปลี่ยนงานภายในองค์การหรือออกไปอยู่กับองค์การใหม่ไปเลย แท้จริงนั้น ในช่วงแรกของการทำงานร่วมกับหัวหน้างานใหม่ อะไรก็มักจะดีราบรื่น แต่พอนานนานไป เมื่อเราได้รู้จักหัวหน้ามากขึ้น เรามักจะเริ่มมองทางลบของเขา และกลับเข้าสู่วงจรของความแตกแยกขัดแย้ง
ปัญหาหลายเรื่องนั้น ไม่ได้มาจากความไม่ชอบใจในงาน หรือความสามารถของหัวหน้างานอย่างเดียวครับ แต่ที่ไม่ชอบมักจะเป็นอะไรที่แก้ไขค่อนข้างลำบากคือ การไม่ชอบนิสัยบางอย่างของหัวหน้ามากกว่า อาจารย์ณรงวิทย์ แสนทอง วิทยากรผู้ชำนาญการด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เคยบอกไว้ว่า หากลูกน้องชอบนิสัยหัวหน้าคนนั้นๆแล้ว ปัญหาข้อเท็จจริงเหล่านี้ก็ไม่หนักหนาสาหัสมาก แต่ในทางกลับกันถ้าหัวหน้าเก่งงานมาก แต่ลูกน้องไม่ชอบนิสัยส่วนตัวบางอย่าง ปัญหาระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องจะมีมากกว่า ดังนั้น ปัญหาส่วนใหญ่จึงเป็นปัญหาด้านความรู้สึกมากกว่าโดยมีทางเลือก 2 วิธีคือ ประการแรก แก้ปัญหาที่ตัวหัวหน้า ซึ่งคงจะพอแก้ไขได้บ้างในบางเรื่องในบางคน แต่คงไม่สามารถแก้ไขได้ทุกเรื่องของหัวหน้าทุกคน ถ้าเลือกที่จะแก้ด้วยวิธีนี้เราต้องแก้ไปเรื่อยๆไม่มีวันจบสิ้น เพราะแก้หัวหน้าคนนี้ได้ก็ใช่ว่าจะแก้หัวหน้าคนอื่นๆได้ เมื่อเจอหัวหน้าใหม่ปัญหาใหม่ก็ต้องมานั่งแก้กันอีก ทางเลือกที่สองคือ แก้ที่ตัวเราเอง(ลูกน้อง) บางคนอาจจะค้านอยู่ในใจว่าในเมื่อหัวหน้ามีปัญหาทำไมต้องมีแก้ที่ตัวเรา
ปัญหาที่ว่ามานั้น โดยเนื้อแท้แล้วจึงมักเป็นเรื่องของอารมณ์หรือความรู้สึกที่ลูกน้องนำเอาพฤติกรรมของหัวหน้ามาตีความและปรุงแต่งด้วยความรู้สึก ความเชื่อ ประสบการณ์ และทัศนคติของเราเอง และแปลผลออกมาว่า "ชอบ" หรือ "ไม่ชอบ" ตัวปัญหาจริงๆ ส่วนใหญ่จึงไม่ใช่พฤติกรรมของหัวหน้า แต่อยู่ที่การปรุงแต่งความคิดภายในใจของลูกน้องเอง เป็นปัญหาของอารมณ์มากกว่า และผมก็เชื่อเช่นเดียวกับผู้รู้หลายท่านว่า หากหัวหน้ามีปัญหาที่ลูกน้องปรุงแต่งนั้นจริง คงไม่มีองค์กรไหนจะเอาหัวหน้าคนนั้นไว้ให้ถ่วงความเจริญขององค์การ
แต่เมื่อเราก็ยังต้องทำงานกับหัวหน้างานที่เราคิดว่าเขามีปัญหา (ที่เราชอบเชื่อกันโดยสนิทใจ) ขอให้มองในด้านกลับว่า ปัญหานั้นไม่ช้าก็เร็ว จะส่งผลย้อนกลับมาถึงตัวท่านเองให้เจ็บตัวมากหรือน้อยสุดแท้แต่กรรมของใครจะสร้าง เราท่านทั้งหลายพึงปรับปรุงทั้งความคิด มุมมองหรือพฤติกรรมเสียใหม่จะดีกว่าครับ ซึ่งผมขอนำเสนอข้อคิดดีดีอาจารย์ณรงวิทย์ แสนทอง ซึ่งเป็นแนวทางการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสดังนี้
1.หยุดปรุงแต่งอารมณ์
ขอให้ทำใจให้เป็นกลางและคิดเสมอว่าหัวหน้าเขามีเหตุผลในการกระทำ แม้ว่าเหตุผลนั้นเราจะไม่ทราบก็ตาม อย่าพยายามคาดเดาหรือคิดเอาเอง ถ้าอยากรู้จริงๆขอให้ถามหัวหน้าตรงๆไปเลย ถึงแม้จะได้คำตอบที่เราพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม พูดง่ายๆคืออย่านำเอาพฤติกรรมที่เราไม่ชอบแล้วมาปรุงแต่งในทางลบ เพราะมิฉะนั้น ความทุกข์ที่เกิดขึ้นที่ตัวเราเอง ถ้าเราไม่ชอบพฤติกรรมหัวหน้า ขอให้คิดว่า "ช่างมันเถอะ" เดี๋ยวมันก็ผ่านไปแล้ว และเราคงไม่ได้ผูกชีวิตของเราไว้กับเขาตลอดไปหรอก หัวหน้าคือทางผ่านทางหนึ่งของเราที่จะนำเราไปสู่ความสำเร็จ ดังนั้น อย่าเสียเวลากับการเอาเรื่องไร้สาระมาเป็นตัวถ่วงชีวิตของเราเลย
2. เปลี่ยนหัวหน้าเป็นตำราเรียน
ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเราทำงานไปนานๆจนเราได้เป็นหัวหน้า เราจะพบว่าหลายสิ่งหลายอย่างในตัวเรานั้นเกิดจากการที่เราได้เรียนรู้ลักษณะของ "หัวหน้าที่ดี" และ "หัวหน้าที่ไม่ดี" มาจากหัวหน้าคนก่อนๆของเรา ดังนั้น คนที่กำลังเป็นลูกน้องในปัจจุบันขอให้ใช้หัวหน้าให้เป็นประโยชน์ นั่นก็คือคิดเสียว่าหัวหน้าคือตำราทางการบริหารเล่มหนึ่งที่สอนเราทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดี กรุณาเก็บเกี่ยวเอาสิ่งที่ดีที่เราชอบไปใช้กับลูกน้องเมื่อเราเป็นหัวหน้า และเก็บเอาสิ่งที่ไม่ดีที่เราไม่ชอบไปเป็นบทเรียนว่าวันหนึ่งถ้าเราได้เป็นหัวหน้า เราจะไม่ทำแบบนั้นเด็ดขาด
3. เปลี่ยนปัญหาเป็นแรงจูงใจ
อาจารย์บอกว่า หากเราเจอหัวหน้าที่ไม่ดีหรือมีปัญหา น่าจะเป็นสิ่งที่ดีนะครับ เราควรจะเปลี่ยนปัญหาของหัวหน้าให้เป็นเชื้อเพลิงในการสร้างแรงจูงใจให้กับตัวเราเอง โดยให้คิดเสียว่าเราต้องผ่านหัวหน้าคนนี้ให้ได้ เราต้องเข้าไปนั่งในใจหัวหน้าคนนี้ให้ได้ เราต้องสร้างผลงานให้หัวหน้าคนนี้ยอมรับให้ได้ เพราะถ้าเราผ่านหัวหน้าแบบนี้ได้ ต่อไปเราจะเจอหัวหน้าแบบไหนคงผ่านได้หมด หรือให้คิดว่าในอนาคตเมื่อเราเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้บริหาร เราอาจจะเจอหัวหน้าที่แย่กว่านี้อีกก็ได้ เพราะฉะนั้น หัวหน้าคนปัจจุบันจึงเป็นด่านทดสอบเราได้เป็นอย่างดี หรือเราอาจจะคิดอีกแง่หนึ่งก็ได้ว่าถ้าเรามีหัวหน้าที่ไม่ดี ให้เราคิดเสียใหม่ว่าโอกาสที่เราจะขึ้นไปแทนที่หัวหน้าคนนี้มีมากขึ้นและเร็วขึ้น ขอให้เราเตรียมพัฒนาตัวเองรอไว้ได้เลยครับ คงอีกไม่นานองค์กรคงจะดำเนินการกับหัวหน้าของเราแน่ ถ้าคิดแบบนี้เราก็จะรู้สึกเห็นใจหัวหน้ามากขึ้น ในขณะเดียวกันเราก็ทุ่มเทจิตใจไปกับการพัฒนาตัวเองมากกว่าที่จะมาคิดแต่ปัญหาของหัวหน้า
4. เปลี่ยนความทุกข์เป็นความสุข
ในความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้เราจะชอบหรือไม่ชอบหัวหน้า เราก็ต้องทำงานกับเขาอยู่ดี ดังนั้น เราจะเลือกทำงานกับเขาด้วยความเครียดและความทุกข์หรือเราจะเลือกทำงานกับเขาด้วยความและมีความสุขสนุกสนาน เรามีสิทธิในการเลือก แต่คนส่วนใหญ่ๆมักจะเลือกทำงานด้วยความทุกข์ เพราะตามอารมณ์ของตัวเองไม่ทัน เหมือนกับการที่เราถูกบริษัทบังคับให้ไปเข้าสัมมนาในหลักสูตรที่เราไม่ชอบ เรามีทางเลือกเพียงสองทางเหมือนกันคือ เลือกที่จะทนนั่งเบื่อไปทั้งวันหรือเลือกที่จะสนุกกับมัน ถ้าเราเลือกที่จะสนุกกับมัน เราจะรู้สึกว่าเวลาในการสัมมนาแป๊บเดียวก็เลิกแล้ว แต่ถ้าเรานั่งเบื่อกับมันรับรองได้ว่าวันนั้นเป็นวันที่ยาวนานสำหรับเราแน่ๆ
5. อย่าเปลี่ยนปัญหาโดยการเปลี่ยนหัวหน้า
เราคงต้องยอมรับกันล่ะครับว่าปัญหาของหัวหน้านั้นเป็นปัญหาโลกแตกไม่มีใครแก้ได้หรอกครับ มันมีทุกที่มีทุกยุคทุกสมัย ดังนั้น เราต้องยอมรับความเป็นจริงในจุดนี้ก่อน แล้วค่อยนำเอาเทคนิคต่างๆที่ได้แนะนำมามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับตัวเราเอง และอยากจะแนะนำเพิ่มเติมว่า กรุณาอย่าแก้ปัญหาหัวหน้าโดยการเปลี่ยนงานเพื่อไปหาหัวหน้าคนใหม่ เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่าตัวเราไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอจริงๆ แต่เราใช้วิธีเปลี่ยนตัวปัญหาเท่านั้น เพราะถึงแม้สาเหตุของปัญหาจริงๆจะอยู่ที่หัวหน้าก็ตาม แต่ทางแก้ที่ดีที่สุดมันอยู่ที่ใจเราเอง
16 ก.ย. 2564
10 ก.ย. 2564
7 ก.ย. 2564