Last updated: 7 ก.พ. 2563 |
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 - 13:54 น.
แม้ทุกวันนี้ผู้ใหญ่มักจะพูดว่า ‘เกรดจะไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต’ แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากมองลงไปในระบบการศึกษาดีๆ จะเห็นว่าผู้ใหญ่หลายคนยังให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากที่สุด โดยเฉพาะในโรงเรียน เมื่อเกรดกลายเป็นเครื่องมือแสดงระบบชนชั้นในโรงเรียนและสร้างค่านิยมแบบผิดๆ อย่างไม่ได้ตั้งใจว่า
ความคิดที่มองว่า ‘เกรดคือภาพสะท้อนความเป็นตัวฉัน’ ใครเรียนดี เดินตามเป้าที่โรงเรียนตั้งไว้ได้ จะได้รับคำชื่นชมและรางวัลจากโรงเรียน ขณะที่เด็กอีกกลุ่มที่เรียนไม่ดี ไม่เป็นที่น่าพึงพอใจหรือไม่ถึงเกณฑ์ที่โรงเรียนขีดเส้นเอาไว้ พวกเขาจะถูกเหมารวมและถูกจัดให้อยู่ชนชั้นล่างสุดของโรงเรียน หนักกว่านั้น ครูบางคนอาจละเลยและไม่สนใจพวกเขาไปเลย
จากบทความเรื่อง ‘อะไรคือสิ่งที่นักเรียนที่สอบตก ต้องการให้เราใส่ใจ’ (What Failing Students Want Us to Remember) โดยรีเบคกา อัลเบอร์ (Rebecca Alber) อาจารย์ปริญญาโทคณะครุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (UCLA’s Graduate School of Education) ชี้ว่า ระบบการศึกษาที่ให้ความสำคัญที่เกรด ไม่ได้ส่งผลดีต่อผู้เรียนอย่างแท้จริง เพราะสิ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้ทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียนพัฒนาคือ การได้รับข้อเสนอแนะจากการประเมินผลอย่างต่อเนื่องในกระบวนการเรียนรู้อยู่เป็นประจำโดยมุ่งเน้นไปที่ตัวบุคคล
ในสายตาผู้ใหญ่บางคน เด็กที่เรียนไม่เก่งคือเด็กไม่ดี แต่ก่อนจะแปะป้ายจัดหมวดหมู่ให้พวกเขาอยู่ในกลุ่มนั้น ผู้ใหญ่เคยย้อนถามตัวเองหรือยังว่า เพราะอะไรพวกเขาถึงมีผลการเรียนไม่ดี และทำไมพวกเขาถึงแสดงท่าทีลักษณะเชิงลบออกมา
5 ความในใจของเด็กเรียนไม่ดี
สำหรับผู้ใหญ่แล้ว อย่างแรกคือทำความเข้าใจในตัวเด็ก โดยเริ่มจากมองข้ามพฤติกรรมแย่ๆ ของพวกเขาและไม่ยึดติดกับผลการเรียนที่เป็นตัวเลข เพราะไม่ว่าจะเด็ก 7 ขวบหรือ 17 ปี ความในใจ 5 อย่างต่อจากนี้ของพวกเขาก็ไม่ได้ห่างไกลกันมา
1. เกรดไม่ได้บอกว่า ‘ฉันคือใคร’
สำหรับเด็กกลุ่มนี้แล้ว ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่รู้คำตอบที่ครูถาม บางข้อพวกเขาก็รู้แต่ที่ไม่ตอบเพราะไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็สู้คนที่รู้ทุกคำตอบไม่ได้อยู่ดี พวกเขาต้องการหนทางอื่นเพื่อแสดงความเป็นตัวตนของพวกเขา ที่ไม่ใช่คะแนนหรือเกรดแบบนี้
2. ฉันอยากมีส่วนร่วม อย่างแท้จริง
ในความเป็นจริงแล้ว เด็กทุกคนอยากช่วยเหลือหรือมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของโรงเรียน แต่สาเหตุที่บางครั้งพวกเขาต้องแสดงพฤติกรรมไม่เห็นด้วย ไม่สนใจหรือต่อต้าน ทั้งหมดนั้นเพื่อปกป้องตนเอง เพราะสุดท้ายแล้วคนที่จะถูกครูเลือกให้ไปทำหน้าที่เหล่านั้นก็เป็นนักเรียนที่เรียนดีเสมอ
3. ฉันไม่ได้ชื่อ ‘ด.ช. น่าผิดหวัง’
พวกเขารู้ตัวเสมอเวลาทำให้ครูหรือเพื่อนในกลุ่มไม่พอใจและนั่นก็ทำให้เขารู้สึกแย่กับตัวเองเช่นกัน สิ่งที่พวกเขาต้องการคือใครสักคนที่เห็นว่าพวกเขามีดีอะไร
4. ได้โปรด ทำความรู้จักฉัน ที่เป็นฉันจริงๆ
งานบางอย่าง การบ้านบางอย่าง ก็ซับซ้อนและยากเกินไปสำหรับเด็กบางคน ครูจึงจำเป็นต้องรู้ว่าเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ออกแบบงานหรือการบ้านให้เหมาะสมกับพวกเขา เช่น ให้เวลาในการทำเพิ่มขึ้น เลื่อนกำหนดส่งงานหรือทำความเข้าใจกับพวกเขาว่า ไม่เข้าใจโจทย์อย่างไร
5. อย่าหมดหวังในตัวฉัน
ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่อยากทำงานที่ครูสั่ง แม้บางครั้งเด็กๆ จะแสดงท่าทีต่อต้านหรือไม่พอใจก็ตาม แต่พวกเขาก็ยังหวังว่าจะมีผู้ใหญ่สักคนไม่หมดหวังในตัวพวกเขา สู้เพื่อพวกเขา และบอกว่าเขาต้องเดินไปทางไหน
วิธีการออกแบบห้องเรียนที่ขึ้นอยู่กับครูเอง
เพราะไม่มีใครเกิดมาเหมือนกัน วิธีการเรียนการสอนสำเร็จรูปที่ปลายทางคือคะแนนและเกรดเป็นหลัก จึงไม่ได้เหมาะสมกับนักเรียนทุกคน อัลเบอร์เสนอว่า การจะดึงให้เด็กกลุ่มดังกล่าวหันมาใฝ่เรียนรู้ได้นั้น ประการแรก ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจพวกเขาและมองทะลุพฤติกรรมเชิงลบของพวกเขา ตรวจสอบและค้นหาว่าเพราะอะไรพวกเขาถึงมีท่าทีและแสดงออกมาลักษณะนั้น กล่าวคือ เป็นการเรียนรู้ระหว่างกันและกัน เพื่อค้นหาจุดแข็งของเด็กแต่ละคน จากนั้นจึงทำรายการว่าเด็กแต่ละคนนั้นมีจุดแข็งอะไรบ้าง เช่น ทักษะ ความสนใจ หรือ ความสามารถพิเศษ แล้วนำจุดแข็งเหล่านั้นมาประยุกต์และออกแบบให้เข้ากับรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมต่อพวกเขาทั้งด้านสติปัญญา สังคมและอารมณ์ เพราะสิ่งสำคัญของการเรียนรู้คือการพัฒนาจุดแข็งของผู้เรียนให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพ
โดยเธอยังเสนอต่ออีกว่าเพื่อกระตุ้นให้ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ปกครองและครู ลดการหมกมุ่นกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา นักเรียน ทั้งครูและผู้ปกครองจำเป็นต้องยอมรับว่าวิธีการออกแบบห้องเรียนดังกล่าวอาจฉีกขนบประเพณีระบบการศึกษาดั้งเดิมบ้าง อย่ายึดติดกับการผลักเด็กให้วิ่งสู่ลู่ที่มีเพียงเส้นชัยเดียวคือระดับอุดมศึกษา ที่บางครั้งเด็กบางคนอาจยอมวิ่งไปแต่ไม่รู้ว่าหลังจากถึงเส้นชัยแล้วต้องทำอย่างไรต่อ หรือเด็กบางคนต้องหยุดวิ่งเพราะรู้สึกว่า (ยังไงก็) วิ่งตามเพื่อนไม่ทัน
วิธีการออกแบบห้องเรียนด้วยตนเองที่ไม่ได้สนใจแค่เรื่องคะแนนหรือเกรดเพียงอย่างเดียวแบบนี้ อัลเบอร์อธิบายว่าจะช่วยเสริมสร้างให้เด็กรู้สึกมั่นใจและรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น สุดท้ายแล้วความรู้สึกต่างๆ เหล่านี้จะทำให้พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่ดีขึ้นตามมาด้วยตัวพวกเขาเอง