ใจเขาใจเรา: พ่อแม่จะเข้าใจและช่วยลูกได้อย่างไร?

Last updated: 12 ก.พ. 2563  | 

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 - 09:59 น.

 

 

เมื่อโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว อายุพ่อแม่รุ่นเก๋าเหล่าเบบี้บูมเมอร์หรือ Gen X ที่มากขึ้น บวกกับการเติบโตของเด็กรุ่น Gen Y หรือ Gen Z ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัย ความไม่เข้าใจกัน ความต้องการที่แตกต่างกันทำให้การเลี้ยงดูลูกในยุค 4.0 ไม่ได้ง่ายอีกต่อไป พ่อแม่ต้องเป็นมากกว่าแค่พ่อแม่ เป็นทั้งเพื่อน ทั้งครู ผู้ชี้นำให้คำปรึกษาแก่ลูกได้เกือบทุกเรื่อง ดังนั้นความเข้าอกเข้าใจกัน การเปิดใจรับฟัง การสังเกต การเอาใจใส่ ความเชื่อใจและเชื่อมั่น สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยเชื่อมโยงช่องว่างเหล่านั้นได้

 

 

ทำไมลูกไม่บอก?
ทำไมลูกไม่เล่า?
ทำไมมาบอกเอาตอนนี้?

เพราะช่องว่างไม่ว่าจะเป็นเ รื่องอายุ ความเข้าใจ ความเชื่อใจของพ่อแม่และเด็ก วัยรุ่นนั้นเป็นช่องโหว่ที่ แสนจะกว้างและยิ่งนานวันก็ยิ่งลึก เป็นปัญหาที่ยากที่จะเข้าใจ สำหรับพ่อแม่และเป็นปัญหาที่เด็ก วัยรุ่นไม่รู้จะบอกพ่อแม่อย่างไร

 

 

เหตุผลที่ทำไมลูกไม่เล่า ไม่บอก?

• ไม่อยากให้พ่อแม่ไม่สบายใจ
ปัญหาของลูกบางเรื่องเป็นปัญหาหนัก ยิ่งบอกไป พ่อแม่ก็จะยิ่งเครียดหรือกลุ้มใจ สู้แก้ไขปัญหาด้วยตัวคนเดียวดีกว่า

• พ่อแม่ไม่เข้าใจ
ปัญหาของลูกอาจเล็กน้อยสำหรับผู้ใหญ่แต่สำหรับลูกมันคือปัญหาที่ใหญ่และซับซ้อน อาจเป็นปัญหาส่วนตัวที่หากเล่าไปพ่อแม่ก็คงไม่เข้าใจ

• พ่อแม่คงไม่สนใจปัญหาของเรา
บางครั้งเคยเล่าถึงปัญหาให้ พ่อแม่ฟังแต่พ่อแม่กลับไม่สนใจปัญหาเหล่านั้นทำให้สร้างความเจ็บปวดกับลูกดังนั้นครั้งต่อๆ ไปพวกเขาจึงหลีกเลี่ยงที่จะเล่า

 

 

• พ่อแม่ต่อว่าอคติและวิจารณ์
เมื่อลูกกล้าที่จะเล่าถึงปัญหาให้พ่อแม่ฟัง พวกเขาก็คาดหวังเล็กๆ ว่าพ่อแม่จะเข้าใจและอยู่เคียงข้างเขา ทว่าพ่อแม่บางคนกลับต่อว่าวิจารณ์และตัดสินลูกทำให้ลูกไม่อยากฟังอะไรในแง่ลบจากพ่อแม่อีกแล้ว

• พ่อแม่ก็ช่วยอะไรไม่ได้
เพราะบางครั้งปัญหาที่ลูกเจอกลับเป็นปัญหาที่พ่อแม่สร้าง เช่นความกดดัน ความคาดหวังต่างๆ ที่ลูกต้องแบกไว้ทำให้การเล่าปัญหาเหล่านี้ให้พ่อแม่ฟังก็คงช่วยอะไรไม่ได้

• พ่อแม่ชอบตอกย้ำซ้ำเติม
เล่าไปก็เท่านั้น กลับโดนต่อว่าและตำหนิซ้ำๆ ยิ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาดของลูก ยิ่งว่าก็ยิ่งกลายเป็นปมในชีวิต

 

 

• ไม่อยากให้พ่อแม่ก้าวก่ายความเป็นส่วนตัว
ปัญหาส่วนตัวของลูกบางเรื่องก็ไม่อยากให้พ่อแม่รู้เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวไม่อยากให้พ่อแม่เข้ามาก้าวก่ายการตัดสินใจของลูก

• พ่อแม่ชอบเม้าท์มอย
เรื่องบางเรื่องก็ไม่อยากให้พ่อแม่รู้เพราะพ่อแม่บางคน ก็ชอบเอาไปเม้าท์มอย ไม่เคารพสิทธิและปัญหาของลูกทำให้เกิดความอับอาย

 

 

บทบาทใหม่ของพ่อแม่ - เปิดใจจับเข่าคุยเป็นเพื่อน

• เอาใจลูกมาใส่ใจเรา
ทำความเข้าใจในสิ่งที่ลูกคิดหรือลูกเผชิญอยู่ ยิ่งลูกรับรู้ถึงความใส่ใจห่วงใยของพ่อแม่มากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะกล้าเปิดใจพูดคุย มากขึ้น

• นึกย้อนกลับไปสมัยตัวเองเป็นเด็กและวัยรุ่น
พ่อแม่ทุกคนล้วนเคยผ่านจุดเดียวกันกับลูกมาแล้ว การนึกย้อนกลับไปในสมัยนั้น ทำให้พ่อแม่เข้าใจว่าสิ่งที่ลูกเป็นอยู่เพราะตัวเองก็เคยเป็น พฤติกรรมที่ลูกทำก็เป็นตามวัยของพวกเขา พ่อแม่อาจนำประสบการณ์ของตนเองมาเล่าและช่วยลูกแก้ไขปัญหา

• เปิดใจ รับฟังลูก
เป็นผู้ฟังที่ดีโดยไม่ตัดสินลูกไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกหรือผิด ไม่ว่าปัญหานั้นจะร้ายแรงแค่ไหนอย่าตำหนิ หรือใส่อารมณ์ แต่รับฟังอย่างตั้งใจและใจเย็น

• สื่อสารอย่างถูกต้อง
พยายามสื่อสารด้านบวกอย่าใช้คำว่า “ห้าม” หรือ “ไม่” เพราะเด็กวัยรุ่นนั้นยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ ใช้หลักเหตุผลในการอธิบายสิ่งต่างๆ หลีกเลี่ยงถ้อยคำหยาบคาย การใช้อารมณ์ คำตำหนิต่อว่าที่นำมาซึ่งความเจ็บปวด

• จินตนาการการเป็นพ่อแม่ในฝัน
ลองหลับตาจินตนาการว่าการเป็นพ่อแม่ในฝันควรเป็นอย่างไรถามตัวเองว่าอยากเป็นพ่อแม่แบบไหน การตั้งคำถามและหาคำตอบเองจะช่วยสะท้อนสิ่งที่อยากเป็น และสิ่งที่กำลังเป็นอยู่

 

อ้างอิง: 9 เหตุผลทำไมลูกไม่เปิดใจเล่าปัญหาให้พ่อแม่ฟัง, Panitnun W. ข้อเด็ดเคล็ดลับพ่อแม่คุยเปิดใจกับลูกช่วยลดปัญหาวัยรุ่น, Marketeer