Last updated: 20 ส.ค. 2563 |
วันที่ 20 สิงหาคม 2563 - 16:23 น.
การปะทะกันระหว่างคนต่างรุ่นถูกพูดถึงบ่อยครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งมุมมองการใช้ชีวิต การทำงาน โดยเฉพาะในประเด็นการเมืองที่มี “คนรุ่นใหม่” เข้ามา มีทั้งคำชื่นชม เสียงเสียดสีในเชิงเด็กที่ไร้เดียงสาทางด้านการเมือง นอกจากนี้ยังมีคำอย่าง Generation Me ที่ใช้เรียกคนเจนหลังที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง และการสวนกลับว่า OK Boomer! ยังสะท้อนว่าความขัดแย้งระหว่างคนแต่ละช่วงอายุเป็นปัญหาที่มีทั่วโลก แม้ความขัดแย้งจะมีมากขึ้น แต่อย่างไรการทำงาน การอยู่ร่วมกันในสังคม ยังจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือของคนหลายเจเนอเรชันในการทำงานและการอยู่ร่วมกัน ความเข้าใจจึงเป็นเครื่องมืออีกเครื่องมือที่จะช่วยลดความขัดแย้ง
The Potential ชวนไปทำความรู้จักกับผู้คนในแต่ละเจนกันมากขึ้นผ่านงานวิจัย คำสัมภาษณ์ของคนในเจนนั้น รวมไปถึงบทสัมภาษณ์จากผู้ที่ศึกษาเรื่องราวของคนเจนอื่น
เข้าใจวิธีการแบ่ง generation
ก่อนที่จะไปเข้าใจพฤติกรรม รากเหง้าความคิดของคนแต่ละเจน เราพาไปเข้าใจการเริ่มต้นแบ่งยุคกันเสียก่อน แนวคิดเรื่อง Generations แบบที่พูดถึงอยู่บ่อยครั้งนั้นเป็นแนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1923 โดยนักสังคมวิทยาชาวฮังการีที่ชื่อคาร์ล แมนไฮม์ (Karl Mannheim) ได้ตีพิมพ์งานเขียนของเขาในชื่อ “The Problem of Generations”
แมนไฮม์ ขยับขยายคำว่า generation ว่าเป็นรุ่นของผู้คนในสังคมซึ่งเกิดและเติบโตท่ามกลางเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์บางเหตุการณ์ที่มีแรงสั่นสะเทือนในวงกว้าง พวกเขาจะได้รับอิทธิพลจากบริบททางสังคมและทางประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นแบบเดียวกัน อันส่งผลให้เกิดลักษณะร่วมบางอย่าง มีค่านิยม แนวคิด และพฤติกรรมคล้ายๆ กัน ซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะเดียวกันทั่วโลก แต่ก็ไม่อาจเหมารวมไปเสียหมด บางคนที่ถูกจัดว่าเป็นคนในเจเนอเรชันเดียวกันอาจมีลักษณะแนวคิดหรือพฤติกรรมที่ต่างกันได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ เช่น ชนชั้นทางสังคม, พื้นที่ที่อยู่อาศัย, การเลี้ยงดู หรือวัฒนธรรม ทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีทัศนคติที่แตกต่าง เฉพาะตัวจากคนในรุ่นเดียวกัน
Baby boomer
หนึ่งในรุ่นที่ยังมีชีวิตอยู่คือ Baby boomer ยุคสมัยของคนที่เกิดในช่วงหลังของสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี ค.ศ. 1944-1964 (พ.ศ. 2489 – 2507) ซึ่งปัจจุบันพวกเขาเป็นจัดเป็นผู้สูงอายุแล้ว
แม้ไม่ได้เจอกับเหตุการณ์โดยตรง แต่เป็นรุ่นที่ยังได้รับผลกระทบจากสงคราม สภาพสังคมทั่วโลกบอบช้ำ เศรษฐกิจย่ำแย่ เป็นช่วงเวลาที่หลายประเทศพยายามฟื้นฟูตัวเอง ทั้งทางทรัพยากรมนุษย์ คนที่เกิดในเจเนอเรชันนี้มีจำนวนมากสมกับชื่อ baby boomer เนื่องจากมีการผลิตทรัพยากรมนุษย์ขึ้นมาทดแทนทรัพยากรมนุษย์ที่เสียไปจากสงคราม และเพื่อใช้คนเป็นแรงงานในการขับเคลื่อนประเทศ และทางเศรษฐกิจ
ลักษณะครอบครัว: คนเจเนอเรชันนี้มักเป็นครอบครัวใหญ่ พ่อแม่บางส่วนไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้อย่างทั่วถึงทั้งหมด การเลี้ยงดูจะต้องให้ลูกรับผิดชอบกับสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก พี่คนที่มีอายุมากกว่าจะต้องรับภาระในการเลี้ยงดูน้องคนเล็ก จึงทำให้ต้องเคารพระบบอาวุโส การปลูกฝังเรื่องการเชื่อฟัง ทำตามคำสั่งเป็นสิ่งจำเป็นในการดูแลครอบครัว
วิถีชีวิต: ตื่นเช้ามืดและนอนหัวค่ำ เพราะระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานยังไม่ได้ถูกพัฒนา ไฟฟ้าก็ไม่ได้เข้าถึงทุกพื้นที่ รวมถึงเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกยังไม่ได้ถูกประดิษฐ์ คนเจเนอเรชันนี้จำเป็นต้องตื่นมาแต่เช้ามืดเพื่อเตรียมตัวทำมาหากิน จะหุงข้าวก็ต้องเริ่มตั้งแต่จุดเตา มีขั้นตอนในการทำงานเยอะ บ่มเพาะนิสัยอดทนและการรอคอย ทำให้มองคนรุ่นหลังว่าสบาย (เมื่อเทียบกับวิถีชีวิตคนในรุ่นตัวเอง)
การเมือง: ช่วงนี้เป็นช่วงรอยต่อในการสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทย แต่ภายหลังก็ขาดเสถียรภาพทางด้านการเมือง ขาดความมั่นคง เกิดการรัฐประหารอยู่บ่อยครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นรุ่นที่เติบโตแล้วไปต่อสู้เรื่องการเมือง ด้านเศรษฐกิจ
ในช่วงปลายยุค ประเทศสหรัฐอเมริกาและองค์การสหประชาชาติได้เข้ามีส่วนในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศไทยเพื่อนำประเทศเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ตามแบบตะวันตก และมีส่วนร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การสาธารณสุขพื้นฐาน การพัฒนาเศรษฐกิจส่งออก
ชีวิตการงาน จากการพัฒนาที่มากขึ้นดังที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้คนเจเนอเรชันนี้ให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของตนเอง และครอบครัวเช่นเดียวกัน baby boomer เป็นคนรุ่นต้นๆ ที่ทำงานในองค์กร ทำให้รักผูกพันกับองค์กรที่ตัวมีส่วนบุกเบิก ต้องการขับเคลื่อนองค์กรด้วยวิสัยทัศน์ พันธกิจและกลยุทธ์ ทุ่มเททำงานหนักเพื่อพัฒนาชาติบ้านเมือง อยากทำให้สังคมดีกว่าที่เป็นอยู่ ต้องการความมั่นคงในอาชีพ ไม่ค่อยเปลี่ยนงานบ่อย นอกจากนี้คนรุ่นนี้ยังถูกปลูกฝังเรื่องการอดออม รู้จักคุณค่าของเงิน
อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ยังเป็นเกษตรกร เป็นช่วงเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนจากทำเกษตรกรรมประมงมาทำธุรกิจ อุตสาหกรรม ช่วงวัยเด็กของคนที่เกิดรุ่นนี้ยังผูกพันกับการทำนา ทำสวน จับปลา ทำประมง เรียนรู้ทักษะอาชีพหลากหลายจากคนที่ใกล้ชิด เช่น วิธีทอผ้า วิธีถักอวน เป็นต้น เชื่อมั่นในเรื่องของการทำงานหนักไม่มีวันอดตาย สิ่งแวดล้อมยังคงอุดมสมบูรณ์ ในชนบทสามารถหาอาหารได้จากธรรมชาติ แม้ว่าจะไม่มีรายได้เป็นตัวเงินก็ตาม
การสื่อสาร สมัยก่อนคนยุคนั้นเสพสื่อจากหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือภาพยนตร์ ซึ่งมีทั้งแบบกลางแปลง หนังขายยา หรือโรงแสตนด์อโลนง่ายๆ ที่ปิดล้อมสังกะสี และช่วงนี้เองที่ประเทศไทยมีสถานีโทรทัศน์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
Generation X
Gen X หมายถึงคนที่เกิดปี ค.ศ. 1965 – 1979 (พ.ศ. 2508 – 2522) ปัจจุบันพวกเขาเป็นคนวัยใกล้เกษียณและวัยทำงาน
คนที่เกิดช่วงนี้จะเป็นคนที่อยู่ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เช่น การเปลี่ยนจากระบบอนาล็อก (Analog) มาสู่ระบบดิจิตอล (Digital) จึงทำให้คนกลุ่มนี้สามารถปรับตัวให้เหมาะกับยุคสมัยได้ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน เนื่องจากการขยายตัวทางการค้าและวิทยาการเทคโนโลยีได้ก่อให้เกิดการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ที่อำนวยความสะดวกมากมายที่ช่วยยกระดับและส่งเสริมคุณภาพชีวิตมากกว่าคนรุ่นเดิม
ลักษณะครอบครัว: คนเจเนอเรชันนี้เริ่มมีลูกลดลง ให้ความสำคัญกับการศึกษาที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต คนรุ่นนี้มีเครื่องอำนวยสะดวกที่ทันสมัย ทำให้สนใจความเจริญทางด้านวัตถุมากขึ้น แต่ยังได้รับการเลี้ยงดูจากคนรุ่นก่อนทำให้ยังคงมีแนวคิดบางอย่างหลงเหลืออยู่ เช่น แนวคิดเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติ, คติเรื่องอดทน, การเห็นคุณค่าของเงิน เป็นต้น Gen-X เกิดและเติบโตในยุคที่เริ่มมีปัญหาด้านครอบครัวเนื่องจากทั้งผู้ชายและผู้หญิงต่างก็ต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหาเงิน สภาพสังคมมองว่าการหย่าร้างเป็นเรื่องปกติ
การเมือง: บ้านเมืองที่คนรุ่นนี้เติบโตมีวิกฤตอยู่บ่อยครั้ง ทั้งระดับโลกอย่างความสูญเสียของสงครามเวียดนาม การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงปลายยุค ในประเทศไทย การพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศที่กระท่อนกระแท่น มีรัฐประหาร และการต่อสู้ของนิสิตนักศึกษา ปัญญาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในช่วงต้นของชีวิตของคนรุ่น Gen-X ส่งผลให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะรักอุดมการณ์ ช่างสงสัย กล้าเรียกร้องสิทธิของตน
ด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยได้เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและนับเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยพัฒนาอย่างรวดเร็ว กลายเป็นเศรษฐกิจแบบเปิดที่ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น เศรษฐกิจไทยนั้นพึ่งพาเศรษฐกิจโลก อีกทั้งได้รับผลระทบจากการเกิดโลกาภิวัตน์อย่างเต็มเปา
ชีวิตการทำงาน: งานวิจัยของ Gursoy D, Maier TA, Chi CG ในปี 2008 ชื่อ Generational differences: An examination of work values and generational gaps in the hospitality workforce. ได้เสนอว่า มุมมองของคนเจเนอเรชันนี้มักพึ่งพาอาศัยความรู้ความสามารถของตนเอง (Self-Reliant) ทั้งในการทำงานและชีวิตส่วนตัว พวกเขามองเห็นว่าชาว baby boomer ทำงานหนัก และไม่มีเวลาให้เวลากับครอบครัวจึงปรับมุมมองว่างานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น ทำให้คนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะ ความรู้ และความสามารถในการทำงานควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งทางสังคม ครอบครัว และความเป็นส่วนตัว จนกระทั่งสามารถสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work-Life Balance) มีความภักดีต่อองค์กร แต่สนใจผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรม
คนเจเนอเรชันนี้ยังมีอุปนิสัยส่วนตัวชอบความท้าทาย มีความมั่นใจในตัวเอง ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ดี มีความยืดหยุ่น ชอบความเป็นอิสระ ในขณะเดียวกันภาพสะท้อนของสังคมที่คนเจเนอเรชันนี้อาศัยอยู่ยังคงเห็นความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายรายได้ ระหว่างเมืองและชนบท
การสื่อสาร: ผลจากการพัฒนาระบบสื่อสารมวลชนที่สามารถติดต่อสื่อสารกันง่ายขึ้น โดยเฉพาะโทรทัศน์ที่กลายเป็นสื่อยอดนิยมของคนทั่วไป ทำให้คนในเจเนอเรชันนี้มีความเป็นปัจเจกชน (individual) มากกว่าคนรุ่นก่อน เสพสื่อและแนวคิดจากต่างชาติมากขึ้น ทั้งทางภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด หรือคลื่นวิทยุที่เปิดเพลงต่างชาติ เกิดรายการโลกดนตรี มีการตั้งวงดนตรีสตริง หรือร็อกแอนด์โรลของกลุ่มวัยรุ่น เกิดกระแสนิยมวิธีคิดการแต่งกายและการใช้ชีวิตแบบตะวันตก อีกทั้งคนไทยยังนิยมไปศึกษาในต่างประเทศ
Generation Y
ชื่อเรียกของคนที่เกิดในปีค.ศ. 1980 – 1997 (พ.ศ. 2523 – 2540) เรียกได้หลายชื่อ ทั้ง Gen-Y, Millennials, Net Generation หรือ Digital Generation
คนที่เกิดในเจเนอเรชันนี้ปัจจุบันอยู่ในวัยทำงานที่อายุกลางคนจนไปถึงคนที่เพิ่งจะจบการศึกษา เติบโตในครอบครัวที่พ่อแม่มีฐานะทางการเงินที่ดี พร้อมจะสนับสนุน และให้ความสำคัญกับการให้ความรัก ดูแลเอาใจใส่ลูกเป็นอย่างมาก ทำให้เด็กรุ่นนี้เติบโตมาอย่างมั่นใจ มีความเป็นตัวของตัวเอง มองโลกในแง่ดี
สภาพสังคมและการเมือง: ที่คนรุ่นนี้เกิดและเติบโตนั้น บางส่วนเกิดในช่วงที่ยังมีปัญหาเรื่องสงครามเย็น พวกเขาผ่านเหตุการณ์สำคัญอีกหลายครั้งในช่วงต้นของชีวิต อย่างการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในช่วงปี พ.ศ. 2535 การมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในปี 2540 ช่วงเวลาที่เป็นวิกฤต เช่น วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 เหตุการณ์รัฐประหาร 2549 หลายคนเติบโตมาทันเผชิญความสูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งส่งผลต่อแนวคิดทางการเมือง และสังคม
การสื่อสาร ยุคของพวกเขายังเป็นยุคที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก ทำให้พวกเขาเติบโตท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม พวกเขาได้รับอิทธิพลจากสื่อต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกระแสเพลง หนังจากประเทศตะวันตก และกระแสคลื่น J-pop ที่เข้ามาในประเทศไทย สิ่งเหล่านี้ทำให้คนรุ่นนี้มีความเป็นปัจเจก มีความสนใจที่เฉพาะเจาะจง เป็นยุคที่มีนิตยสารที่มีเนื้อหาเฉพาะเกิดขึ้นหลายหัว สื่อสิ่งพิมพ์ยังคงเฟื่องฟู เว็บบอร์ดถูกใช้ในการสื่อสาร ในช่วงต้นนี้เองมีค่ายเพลงเกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น อาร์เอส แกรมมี่ รถไฟดนตรี สร้างสรรค์เพลงที่เป็นอมตะจนถึงปัจจุบัน ไปจนถึงเพลงวัยรุ่นช่วงนั้นอย่างกามิกาเซ่ นอกจากนี้แฟชั่นการแต่งตัวที่ได้รับมาก็มีความร้อนแรง ทั้งการแต่งตัวแบบตะวันตก แฟชั่น 90’s และแฟชั่นจากฝั่งญี่ปุ่น มีการคอสเพลย์
การใช้ชีวิต บางส่วนมองว่าคนเจเนอเรชันนี้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย วัตถุนิยม บริโภคนิยม ซึ่งมาจากรายงานผลการศึกษาพฤติกรรมการเงินจากข้อมูลโซเชียลมีเดียของคนกลุ่ม Gen-Y (Generation Y) โดย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB (TMB Analytics) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) พบว่า…
คน Gen-Y ส่วนใหญ่ใช้จ่ายไปกับทัศนคติว่า “ของมันต้องมี” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการซื้อโทรศัพท์ เสื้อผ้า เครื่องสำอาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋า นาฬิกาหรือเครื่องประดับ กว่า 69% มากกว่าการตั้งใจซื้อบ้านซื้อรถตามความฝันที่ตั้งไว้ว่าจะมีก่อนอายุ 40 ปี และผลสำรวจยังพบว่าส่วนใหญ่ซื้อสินค้าเหล่านั้น เพราะกลัวตกกระแส 42% มากกว่า มองว่าเป็นของจำเป็น 37% ซึ่งอาจเป็นผลกระทบมาจากวิกฤติต้มยำกุ้งที่พวกเขาผ่านความยากลำบากในวัยเด็ก และเมื่อมีรายได้จึงต้องการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปด้วย และผลกระทบเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาค่อนข้างสูงจนคนเจนวายที่อยู่ในชนชั้นกลาง หรือชนชั้นล่างไม่สามารถทำงานหาเงินเพื่อซื้อในเวลาอันใกล้จึงใช้เงินเพื่อบำบัดความทุกข์ใจ
มุมมองด้านการทำงาน: คนเจเนเรชันนี้จะชอบทำงานเป็นทีม ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ปรับตัวได้ดี มีทักษะในการทำหลายสิ่งในเวลาเดียวกัน และมีความชำนาญในเทคโนโลยีอย่างมาก รักความก้าวหน้า มุ่งผลสำเร็จเป็นหลัก ใช้หลักการทำงานแบบ work life balance พวกเขาให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดมากกว่าการท่องจำ หรือการปฏิบัติตาม กฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัดตามคำสั่ง แต่มักมีความอดทนต่ำ ทั้งร่างกายและจิตใจ เก็บอารมณ์ไม่อยู่ คนปลายเจเนอเรชันนี้มักถูกบอกว่าไม่เอาการเอางาน เปลี่ยนสายการทำงานอยู่บ่อยครั้ง แต่ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว
Generation z
รุ่นของคนที่เกิดในช่วงปีค.ศ. 1998-2009 (พ.ศ. 2541 – 2552) ปัจจุบันพวกเขาอยู่ในช่วงของการเล่าเรียน ประถมศึกษาไปจนถึงมหาลัย
พวกเขาเติบโตในครอบครัวที่มีลูกน้อยลง ได้รับความรักจากคนในครอบครัว ได้รับการศึกษาที่ดี เป็นรุ่นที่ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง อย่างการก่อการร้าย 911 สงครามในซีกโลกตะวันออก และความไม่แน่นอนทางด้านเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงในช่วงพิษแฮมเบอร์เกอร์
การสื่อสาร: คนรุ่นนี้เป็นรุ่นที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ มีเครื่องอำนวยความสะดวก พวกเขาใช้สื่อสังคมออนไลน์ในชีวิตประจำวัน โทรศัพท์แทบจะกลายเป็นอวัยวะที่ 33 ซึ่งส่งผลทำให้ลักษณะของคนเจนนี้สามารถหาความรู้ได้หลากหลายช่องทาง เชื่อมั่นในตัวเอง เข้าใจประเด็นทางสังคม เปิดกว้างทางความคิดและวัฒนธรรมที่แตกต่างมากขึ้น เนื่องจากสื่อสังคมออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโลก ทำให้พวกเขามีความเป็นพลเมืองโลก มีแนวโน้มที่จะปรับทัศนคติได้ดี ไม่แบ่งแยกชนชั้น สีผิว ศาสนา หรือประเพณีที่แตกต่าง
นอกจากนี้โลกดิจิทัลยังอนุญาตให้พวกเขาได้ลองผิดลองถูกในสิ่งที่เขารักด้วยต้นทุนที่ถูกลง ปัจจุบันเราสามารถฟังเพลงดีๆ ที่ผลิตได้จากคนเจเนอเรชันนี้ใน music streaming แตกต่างจากยุคก่อนที่ไม่ค่อยมีช่องทางนำเสนอ แต่ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องดี
วิถีชีวิต: พวกเขาต้องอยู่ทั้งโลกจริงและในสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้พวกเขาถูกตัดสิน เจอคำวิพากษ์วิจารณ์ได้ง่าย ความอดทนต่ำลง ติดโลกออนไลน์ ถูกบังคับให้ต้องประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วจากการเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น และถูกกดดันจากคนในครอบครัว รวมถึงมีแนวโน้มที่พวกเขาจะมีปัญหาทางด้านจิตใจ
สภาพสังคม: ใน TEDxDayton นั้น โครีย์ ซีมิลเลอร์ Corey Seemiller อาจารย์วิทยาลัยที่ศึกษาเกี่ยวกับ Generation Z ยังได้พูดในหัวข้อ Generation Z: Making a Difference Their Way ว่าเด็กเจเนอเรชันนี้ได้เห็นวิกฤติในช่วงวัยเด็กของชีวิต ทำให้พวกเขามาพร้อมกับแนวคิดที่อยากให้โลกดีขึ้น พวกเขาจะไม่นั่งรอคนมาบอกว่าต้องทำยังไง แต่จะพยายามหาทางรอดที่ยั่งยืน และสร้างการเปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับที่เราเห็นคนเจน Z ลุกขึ้นมาต่อสู้ในประเด็นทางสังคม เช่น เกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักรณรงค์สิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนวัย 15 ปี
มุมมองเรื่องการทำงาน: คนเจเนอเรชันนี้ พวกเขาสามารถทำงานได้หลากหลาย multi-tasking และไม่ได้เลือกทำงานเพื่อความมั่นคงเพียงอย่างเดียว แต่ยังคงหางานที่ให้คุณค่าและท้าทาย เปลี่ยนงานบ่อยเนื่องจากรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องทน เพราะมองเห็นทางเลือกในชีวิตที่มากมาย จะยอมรับคำสั่งหากได้รับเหตุผล และคำอธิบายที่ดี อยากมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ไม่เชื่อเรื่องการทำงานหนักตอนวัยรุ่นแล้วสบายตอนแก่ ซึ่งอาจส่งผลมาจากความเหลื่อมล้ำที่พวกเขาต้องเจอ เช่น อสังหาริมทรัพย์ราคาแพงเกินที่พวกเขาจะเอื้อมถึง ทำให้เลือกไลฟ์สไตล์ที่เป็น work life balance ตั้งแต่ตอนนี้ พอมีรายได้ก็อยากไปหาประสบการณ์ชีวิต กิน ท่องเที่ยว ไปต่างประเทศ ไม่ได้อยากรอผลลัพธ์ที่มาไม่ถึง แต่อยากใช้เวลาช่วงนี้ของชีวิตทำในสิ่งที่ชอบ จากสภาพเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่พวกเขาจะมีลูกน้อยลง
Generation Alpha
เด็กยุคใหม่ที่เกิดในปี ค.ศ.2010 เป็นต้นไป ตอนนี้พวกเขามีอายุมากสุดคือ 10 ปีและหลายคนยังไม่เกิดเลย บางครั้งถูกเรียกว่า The Ipad Generation เนื่องจากปีค.ศ. 2010 เป็นปีเดียวกับที่ Ipad ถูกปล่อยออกมาครั้งแรก
ดร.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้พูดเสวนาในหัวข้อเด็กยุคดิจิทัลในสังคมพหุวัฒนธรรม ในการประชุม 2.0 เรื่อง ความอดกลั้นและการอยู่ร่วมกัน (Tolerance & Coexistence 2.0 Form) โดยได้ให้ความหมายของเด็กในเจนนี้ว่า…
เป็นยุคที่เด็กเกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย เริ่มต้นใช้สมาร์ทโฟนก่อนการใช้งานคอมพิวเตอร์เสียอีก หลายคนเรียน ABC ผ่านคลิปบน YouTube ทางโทรศัพท์มือถือ พวกเขาต่างคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เผชิญความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่รวดเร็ว สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อิสระ ค้นหาความรู้ได้นอกห้องเรียน ทำให้ลักษณะของคนยุคนี้จะมีความเป็นปัจเจกชนสูง เชื่อมั่นในตัวเอง กล้าตั้งคำถาม กล้าที่จะโต้แย้งในสิ่งที่เขาคิดว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากเขาสามารถเจอชุดข้อมูลที่หลากหลายโดยไม่ต้องรอให้ผู้ใหญ่มาสอน นอกจากนี้พวกเขายังมีสำนึกของพลเมืองโลกผ่านการเสพสื่อออนไลน์ เป็นรุ่นที่จะมีความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Generation) กล้าเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ ด้วยตัวเอง และอยู่ในยุคที่มี Internet of things ใช้มากมาย
ในบทความนพ.สุริยเดว ทรีปาตี: ให้ลูกร่วมทุกข์สุข เรียนวิชาผิดหวัง รับมือเด็กเจนอัลฟ่าด้วยพลังบวก ยังเพิ่มเติมอีกว่าเด็กในยุคนี้ถูกฟูมฟักความรักอย่างมหาศาลจากพ่อแม่ รวมถึงเครือญาติ เนื่องจากครอบครัวมีลูกน้อยลงสามารถทุ่มเททรัพยากรไปยังลูกได้มาก ทำให้มีโอกาสที่เด็กจะได้ค้นหาความชอบ หรือได้ลงมือทำอะไรหลายอย่าง แต่อีกด้านก็มีส่วนทำให้เด็กถูกกดดันจากความคาดหวังที่มากเกินไป นอกจากนี้อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าพวกเขาต่างคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยี สภาพแวดล้อมที่เด็กเจเนอเรชันนี้เติบโตมักจะห่างไกลจากธรรมชาติ หลายคนวิเคราะห์ว่าจะส่งผลเสียตรงที่พวกเขาขาดทักษะทางสังคม soft skills อย่างขาดความยืดหยุ่นทางอารมณ์, มีความอดทนจำกัด, ทักษะการร่วมงานเป็นทีมน้อยลง, ขาดการสื่อสารระหว่างมนุษย์แบบเผชิญหน้ากัน ซึ่งหลายอย่างยังต้องคาดเดาต่อไป
นี่คือส่วนหนึ่งของการเติบโของคนแต่ละรุ่น ซึ่งอาจพาเราเข้าใจแนวคิดของแต่ละคนได้ดียิ่งขึ้น
SOURCE :
The Potential
https://thepotential.org/social-issues/generation-gap/