Last updated: 18 ก.พ. 2563 |
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 - 14:52 น.
บทความนี้มาจากหนังสือสอนเข้มเพื่อศิษย์ขาดแคลน ซึ่งได้รับความกรุณาจากผู้เขียนทั้งสองท่านให้นำมาเผยแพร่ ซึ่งเป็นบทความที่ตีความจากหนังสือ ‘Poor Students, Rich Teaching: Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty’ (Revised Edition, 2019) เขียนโดย อีริค เจนเซน (Eric Jensen) โดยผู้เขียนตีความให้เหมาะกับบริบทประเทศไทย พร้อมทั้งเรื่องเล่าจากห้องเรียนในประเทศไทยที่นำสาระของบทความนี้ไปใช้
บันทึกนี้เป็นบันทึกแรกใน 3 บันทึก ภายใต้ชุดความคิดว่าด้วยความสัมพันธ์กับศิษย์ (relational mindset) ตีความจากบทนำของ Part One: Why Relational Mindset? และ Chapter 1: Personalize the Learning ของหนังสือ ‘Poor Students, Rich Teaching: Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty’ (Revised Edition, 2019) เขียนโดย อีริค เจนเซน (Eric Jensen) ผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรง และมีปัญหาการเรียนและเคยเป็นครูมาก่อน เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู
ในสภาพที่นักเรียนรู้สึกว่าได้รับความเอาใจใส่ รับฟัง เห็นอกเห็นใจจากครู นักเรียนจะรู้สึกอบอุ่นและมีกำลังใจที่จะเรียน ยิ่งกว่านั้นในหลักการของ relational mindset ครูมีความเชื่อว่า ชีวิตของคนเรามีความเชื่อมโยงถึงกัน ครูจะมีปฏิสัมพันธ์กับศิษย์ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นปฐม ส่วนความสัมพันธ์ในฐานะครูกับศิษย์เป็นที่สอง
สรุปอย่างสั้นที่สุดของบันทึกนี้ คือ ครูต้องเอาใจใส่ชีวิตความเป็นอยู่ของศิษย์ในทุกด้านทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เอาใจใส่ศิษย์เป็นรายคน แสดงความรักความเอาใจใส่ให้ศิษย์รู้สึก
ข้อมูลหลักฐานที่บอกว่าปฏิสัมพันธ์ที่ดี ช่วยการเรียนรู้ของศิษย์
หนังสือเล่มนี้ทบทวนผลงานวิจัยจากหลายแหล่งและสรุปว่า เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยสามารถมีปฏิสัมพันธ์ห่างออกไปจากตัวได้ถึง 6 ชั้น นักเรียนมีความต้องการใกล้ชิดสนิทสนมกับครูเพื่อให้ช่วยตีความประสบการณ์ส่วนตัวของนักเรียนเข้ากับบทเรียน และเพื่อนำมาอภิปรายแลกเปลี่ยน รวมทั้งร่วมกิจกรรมการทำงานเป็นทีม
ความสัมพันธ์ที่ดีกับครูจะช่วยการเรียนรู้ของนักเรียน ผลงานวิจัยชี้ชัดว่า นักเรียนจากครอบครัวยากจนขาดแคลนหรือไม่มั่นคง ต้องการความสัมพันธ์นี้มากกว่านักเรียนจากครอบครัวที่ฐานะและสภาพสังคมดี โดยที่ effect size* ของปฏิสัมพันธ์ที่ดีของครูต่อนักเรียน ที่มีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เท่ากับ 0.72 สำหรับนักเรียนทั้งหมด ตัวเลขนี้ของนักเรียนชั้นมัธยมสูงถึง 0.87 และมีหลักฐานจากงานวิจัยว่า เมื่อครูสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีอย่างได้ผล นักเรียนจากครอบครัวรายได้ตํ่า มีผลการเรียนรู้เท่าเทียมกันกับนักเรียนกลุ่มรายได้สูง
ผลงานวิจัยบอกว่าปฏิสัมพันธ์ที่ดีในชั้นเรียน ช่วยเพิ่มความเอาใจใส่การเรียนของนักเรียนจากหลายกลไก ได้แก่
ผลการวิจัยบ่งชี้ว่าระดับปฏิสัมพันธ์เชิงบวกหรือลบในชั้นเรียนนี้ใช้ทำนายได้ว่านักเรียนแต่ละคนมีโอกาสสูงตํ่าแค่ไหนในการออกจากการเรียนกลางคัน มีความแม่นยำพอๆ กันกับระดับไอคิว และพอๆ กันกับระดับผลการเรียน
จำชื่อศิษย์และเรียกชื่อ
ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนเริ่มจากการรู้จักชื่อ ครูต้องจำชื่อศิษย์และรู้จักศิษย์เป็นรายคน เมื่อครูเรียกชื่อศิษย์ต้องยิ้มให้และมองตา วิธีช่วยให้จำหน้าและชื่อศิษย์ได้มีหลากหลายวิธี เช่น
ปฏิสัมพันธ์ที่ดีในชั้นเรียนช่วยยกระดับการเรียนรู้ ปฏิสัมพันธ์นี้มีทั้งระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ครูต้องมีวิธีสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวก เพื่อสร้างความคุ้นเคย ความเคารพนับถือ และความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันและกัน แนะนำให้นักเรียนเรียกชื่อเพื่อน แนะนำต่อนักเรียนว่า เมื่อมีกิจกรรมจับคู่ในชั้นเรียน ให้แนะนำชื่อตนเองโดยสบตาเพื่อน แล้วกล่าวคำทักทาย และจับมือ
สร้าง “กระเป๋าตัวฉัน”
นี่คือเครื่องมือให้นักเรียนรู้จักครู ในหลากหลายแง่มุมของชีวิต และนำไปสะท้อนคิดเชื่อมโยงกับชีวิตของตนเอง ทำโดยครูหาสิ่งของพื้นๆ เช่น กากตั๋ว ภาพถ่าย ใบเสร็จ กุญแจ บันทึก และอื่นๆ ที่บอกเรื่องราวของตัวครู ใส่ในถุงผ้าหรือถุงกระดาษ เอามาใช้เวลา 7-10 นาที เล่าเรื่องของตนเอง
“เมื่อนักเรียนที่มีชีวิตยากลำบากได้ฟังประสบการณ์ความยากลำบากของคนอื่น ก็จะใจชื้นว่าตนไม่ใช่คนเดียวที่ต้องเผชิญความยากลำบาก การแชร์เรื่องราวชีวิตส่วนตัวช่วยทะลายกำแพงกั้นระหว่างบุคคล สิ่งที่ครูแชร์ต้องเป็นเรื่องจริง นักเรียนต้องการครูที่ซื่อสัตย์ และจริงใจ”
แลกเปลี่ยนปัญหาประจำวัน
นี่คือกระบวนการไปสู่การทำหน้าที่แบบอย่าง (role model) ให้แก่นักเรียน เด็กๆ ต้องการคนที่ตนนับถือและเชื่อถือ นำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต
ครูควรแชร์ประสบการณ์ชีวิตของตนสั้นๆ ราวๆ 3 นาที สัปดาห์ละครั้ง ตามด้วยการให้นักเรียนสะท้อนคิดว่ามันสะท้อนภาพชีวิตของผู้ใหญ่อย่างไร หากเป็นตัวนักเรียนเองจะเผชิญสภาพเช่นนั้นอย่างไร หากเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงสู่บทเรียนของชั้นเรียนได้ยิ่งดี
กิจกรรมนี้จะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ 3 ประการ สำหรับนักเรียน หนึ่ง – ชีวิตของคนเราย่อมต้องมีปัญหา เล็กบ้างใหญ่บ้าง สอง – ไม่ว่าปัญหาใหญ่แต่ไหน ย่อมแก้ไขได้เสมอขึ้นอยู่กับวิธีการแก้ปัญหา สาม – ในกระบวนการเล่าวิธีแก้ปัญหาของครู ครูได้แชร์ค่านิยม เจตคติ และวิธีการบรรลุความสำเร็จ
แลกเปลี่ยนเป้าหมายและความก้าวหน้า
การแลกเปลี่ยนเป้าหมายชีวิต เป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างครูกับศิษย์ ครูจำนวนมากพยายามแยกความสัมพันธ์กับศิษย์ ในฐานะครู-ศิษย์ ออกจากความสัมพันธ์แบบมนุษย์-มนุษย์ แต่นักเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนจากครอบครัวที่ขาดแคลนชอบเรื่องราวของเป้าหมาย การที่ครูแชร์เป้าหมายชีวิตของตนจึงเป็นวิธีการที่ทรงพลังมากในการพัฒนาชุดความคิดเชิงปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน (relational mindset) ทั้งของครูและของศิษย์
แนะนำให้ครูเขียนเป้าหมายชีวิตส่วนตัวของตนและติดประกาศไว้ในชั้นเรียนโดยที่นักเรียนทุกคนก็ทำเช่นเดียวกัน ครูแชร์ความก้าวหน้าสู่เป้าหมายนั้นอย่างสมํ่าเสมอทั้งปี หรือทั้งเทอม และในขณะเดียวกันครูก็ติดประกาศเป้าหมายของชั้นเรียนด้วย
ตัวอย่างของเป้าหมาย ได้แก่
เมื่อเวลาผ่านไป ครูแชร์เรื่องราวความสำเร็จตามเป้าหมายรายทาง เฉลิมฉลองความสำเร็จและแชร์วิธีดำเนินการสู่ความสำเร็จนั้น เพื่อให้นักเรียนได้ตระหนักว่า ไม่ว่าจะทำอะไรย่อมมีปัญหาหรืออุปสรรคเสมอ คนเราต้องมุ่งมั่นเผชิญปัญหาและหาทางเอาชนะเพื่อบรรลุความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ กิจกรรมนี้จะเป็นตัวอย่างให้นักเรียนเห็นว่า ครูก็กำลังเรียนรู้และเติบโตเช่นเดียวกันกับนักเรียน
Source:
1. The Potential (https://thepotential.org/2020/02/11/relational-mindset-ep1/) ความสัมพันธ์ครูกับศิษย์ในฐานะมนุษย์ เพราะสัมพันธ์ที่ดีมีผลต่อการเรียนรู้
2. หนังสือสอนเข้มเพื่อศิษย์ขาดแคลน จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และกองทุนจิตปัญญาเพื่อครูเพลินพัฒนา
14 ก.ย. 2564