Last updated: 20 ก.พ. 2563 |
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 - 14:03 น.
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ศัพท์ทางธุรกิจที่ถูกหยิบมาใช้และพูดถึงกันอยู่บ่อยๆ คำหนึ่งคือ ‘disruption’ ซึ่งมีฟันเฟืองสำคัญอย่าง ‘digital technology’ เป็นตัวเร่งในการปรับเปลี่ยนความต้องการและทักษะของมนุษย์ ทั้งส่วนของแผนการศึกษา และตลาดแรงงานทั่วโลกด้วย
การเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้มีผลการวิเคราะห์ที่ค่อนข้างตรงกันว่า อีก 10 ปีข้างหน้าคือ ในปี ค.ศ.2030 จะมีแรงงานถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีและ A.I. มากถึง 6 ล้านคน โดยเฉพาะอาชีพที่อาศัยทักษะการทำงานซ้ำๆ แบบเดิมตลอด เช่น แรงงานในโรงงาน และพนักงานออฟฟิศ เป็นต้น
โดยทาง The MATTER ได้มีการลองไปสำรวจดูอาชีพที่อาจจะถูกดิสรัปต์ และอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลายอาชีพก็แทบจะไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย ฉะนั้นเพื่ออัพเดตเตรียมตัวสำหรับการทำงานในอนาคต เราลองมาดูกันดีกว่ามาจะมีอาชีพอะไรที่อาจจะหายไป และมีอาชีพอะไรกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานกันบ้าง
อาชีพที่อาจจะหายไป
1.บรรณารักษ์
ความนิยมของ ‘e-books’ ทำให้การเดินเข้าไปยืมหนังสือในห้องสมุดเริ่มเสื่อมความนิยมลงเรื่อยๆ แม้ว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมผลิตหนังสือจะยังมีอยู่ทั่วโลกแต่เรากลับพบว่า มีห้องสมุดสาธารณะหลายแห่งที่ต้องดิ้นรนเพื่อลดต้นทุน และหาแหล่งเงินทุนใหม่ๆ มาช่วยซัพพอร์ตค่าใช้จ่ายในการเปิดให้บริการ
ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็เริ่มลดการใช้หนังสือแบบเดิมไปเป็นการอัพโหลดข้อมูลลงในแพลตฟอร์มดิจิทัลแทน ทำให้อาชีพบรรณารักษ์อาจจะดูสั่นคลอนและไม่มั่นคงเท่ายุคก่อน และมีการคาดการณ์กันว่า ต่อไปโรงเรียนและมหาวิทยาลัยอาจจะค่อยๆ ทยอยปรับเปลี่ยนหนังสือไปใช้ e-books กันมากขึ้น
2.คนส่งหนังสือพิมพ์
ไม่ใช่แค่หนังสือหรือธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่น่าเป็นห่วงแต่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเรื่องนี้ก็คือ พนักงานส่งหนังสือพิมพ์ หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า ‘paperboy’ การหายไปของหนังสือพิมพ์หลายเจ้าทำให้คนที่เคยทำอาชีพนี้ต้องตกงานไปตามๆ กัน แม้ว่าจะมีบางคนออกมาพูดเชิงตลกร้ายว่า การลดลงของหนังสือพิมพ์ช่วยให้ต้นไม้ถูกตัดไปทำกระดาษน้อยลง แต่ข่าวร้ายก็คือ เด็กๆ ที่เคยได้รับรายได้พิเศษจากการส่งหนังสือพิมพ์ทุกเช้าก็ได้รับผลกระทบจากตรงนี้ไปด้วย
3.พนักงานแคชเชียร์
ปัจจุบันเราจะเห็นห้างสรรพสินค้าหลายๆ แห่งเริ่มมีการติดตั้งเครื่องชำระเงินด้วยตัวเอง บวกกับการเข้ามาของ ‘cashless society’ หรือสังคมไร้เงินสด ที่เอื้อให้ลูกค้าทุกคนชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่นได้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งประเด็นนี้กำลังเป็นที่พูดถึงในหมู่ผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยหลายแห่งถึงความคุ้มค่าของการจ้างพนักงานเก็บเงินต่อไป ในอนาคตหากการทดลองติดตั้งเครื่องสั่งอาหารหรือเครื่องชำระเงินด้วยตัวเองสามารถลดต้นทุนการแรงงานได้จริงๆ ก็น่าเป็นกังวลว่า อาชีพพนักงานเก็บเงินหรือ ‘แคชเชียร์’ จะหาทางเอาตัวรอดจากเทคโนโลยีพวกนี้ยังไงได้บ้าง
4.พนักงานต้อนรับ
พนักงานต้อนรับหรือ ‘receptionist’ ตกอยู่ในสถานะเดียวกันกับพนักงานแคชเชียร์ที่ถูกมองว่า เป็นอาชีพที่ทำงานด้วยทักษะเดิมๆ ซ้ำๆ ทุกวัน และเสี่ยงต่อการถูกดิสรัปต์เป็นลำดับต้นๆ การต้องตอบคำถามที่คล้ายๆ กันในทุกทุกวัน ทำให้หลายโรงแรมเริ่มมีการคิดถึงเทคโนโลยีติดตั้งระบบตอบกลับอัตโนมัติ โดยเฉพาะเทคโนโลยี A.I. ที่จะมีการเรียนรู้จดจำและนำคำถามใหม่ๆ ไปประมวลผลจนมีความสามารถในการให้คำแนะนำกับลูกค้าได้แม่นยำ และพบข้อผิดพลาดได้น้อยมาก
5.ผู้ตัดสินและกรรมการกีฬา
หากใครเป็นแฟนกีฬาก็น่าจะพอคุ้นเคยกับเทคโนโลยีการตัดสินที่เพิ่งนำเข้ามาใช้ไม่นานมานี้อย่าง ‘video assistant referee’ หรือ ‘VAR’ เทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกๆ กับกีฬาเทนนิส และรักบี้มาก่อน แต่เริ่มมีการพูดถึงเป็นวงกว้างอีกครั้งเมื่อ VAR หรือผู้ตัดสินวิดีโอถูกนำมาใช้กับกีฬาฟุตบอลโดยสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (FIFA)
ในแง่หนึ่งก็มองว่า VAR จะช่วยให้การตัดสินมีความแม่นยำและลดความผิดพลาดได้ แต่อีกฝั่งหนึ่งก็รู้สึกว่า ผู้ตัดสินวิดีโอทำให้เสน่ห์ของกีฬาฟุตบอลถูกลดทอนลง ซึ่งในอนาคตหากการใช้ VAR สามารถลดข้อผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ได้จริง อาชีพผู้ตัดสินและกรรมการกีฬาก็ดูท่าจะร้อนๆ หนาวๆ อยู่เหมือนกัน
6.การตลาดทางโทรศัพท์
คือ อาชีพการบริการการขายและแนะนำผลิตภัณฑ์ทางโทรศัพท์ หลายคนให้นิยามว่า telemarketers เป็นอาชีพที่รบกวนชีวิตมากที่สุดอาชีพหนึ่ง เมื่อได้รับทั้งการหว่านล้อมและการขายจาก telemarketers ผู้คนส่วนใหญ่มักจะเลี่ยงด้วยการปฏิเสธหรือกดตัดสายไปเลยก็มี ทำให้ต่อไปการตลาดทางโทรศัพท์จะค่อยๆ หายไปและถูกแทนที่ด้วย ‘online marketing’ หรือการตลาดออนไลน์ที่ลูกค้าสามารถเลือกซื้อหาเมื่อไหร่ก็ได้ และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมลูกค้าจะเป็นคนทักไปสอบถามเอง ตรงกับผลสำรวจหลายแห่งที่วิเคราะห์กันว่า ผู้คนมักไม่ชอบการขายด้วยเทคนิคโน้มน้าวใจ แต่ต้องการอิสระในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดด้วยตัวเอง
7.แรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ
ถูกตั้งข้อสังเกตมาหลายปีจากบทวิเคราะห์ของนักวิชาการหลายสำนักที่มองว่า แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องทำหน้าที่ซ้ำๆ เดิมๆ ติดต่อกันหลายสิบปี และแทบจะไม่ต้องพัฒนาทักษะอะไรเพิ่มเติมเลยน่าจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีง่ายที่สุด จำนวนแรงงานที่ถูกปลดในช่วงหลายปีมานี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความต้องการที่ลดลงหรือเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ แต่เกิดจากเครื่องจักรที่มีความสามารถเทียบเท่าหรือดีกว่าพนักงาน เครื่องจักรที่ผลิตได้เร็ว เที่ยงตรง และช่วยลดต้นทุนได้ทำให้ผู้ประกอบการหลายโรงงานต้องกลับมานั่งทบทวนถึงความจำเป็นในการจ้างแรงงานหลายๆ ส่วนไว้ ในขณะที่เครื่องจักรสามารถทำหน้าที่เหล่านั้นแทนได้ทั้งหมด
8.นักบิน
แม้อาชีพนักบินจะเป็นความฝันของใครหลายๆ คน ด้วยเงินเดือนที่สูงลิ่ว และดูจะมั่นคงเอามากๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีการคาดการณ์กันว่า ต่อไปหากมีการพัฒนาระบบการบินอัตโตมัติโดยที่ไม่ต้องมีนักบินมานั่งควบคุมตลอดเวลาได้ อาชีพนักบินจะยังจำเป็นอยู่หรือไม่ หรืออย่างน้อยที่สุดนักบินในแต่ละสายการบินอาจจะยังมีอยู่ด้วยจำนวนที่น้อยลงแทน เมื่อเทียบกับความสามารถของเครื่องบินพาณิชย์สมัยใหม่ที่ตอบสนองแผนการบินโดยการป้อนโปรแกรม เพื่อคำนวนเวลาและเส้นทางที่ดีที่สุดให้ได้ด้วยตัวโปรแกรมเอง
9.คนขับรถแท็กซี่
ในช่วงเวลานี้บริษัทผลิตรถยนต์หลายแห่งเริ่มเอาจริงเอาจังกับการผลิตรถยนต์ไร้คนขับกันมากขึ้น แม้ตอนนี้เทคโนโลยีที่ว่าอาจจะมีราคาสูงจนคนทั่วไปเองก็ยังไม่สามารถจับต้องได้ แต่ในอนาคตอันใกล้เมื่อผู้ผลิตรถยนต์หลายแห่งเข้าใกล้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ อาชีพคนขับรถโดยเฉพาะคนขับแท็กซี่จึงเป็นอีกแขนงหนึ่งที่น่ากังวลถึงความมั่นคงอยู่เหมือนกัน
10.อุตสาหกรรมการพิมพ์
สื่อสิ่งพิมพ์ที่ครอบคลุมตั้งแต่หนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค นิตยสาร ไปจนถึงหนังสือแบบเรียนล้วนถูกพูดถึงกันมาหลายปีมากแล้วถึงความสั่นคลอนที่เกิดขึ้น มีการคาดการณ์กันว่า ในอนาคตธุรกิจหนังสือเหล่านี้จะมุ่งสู่แพลตฟอร์มออนไลน์กันมากขึ้น รวมไปถึงพฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย มีผลการสำรวจพบว่า ผู้คนในยุคนี้รับข่าวจากสื่อที่เป็นกระแสรองมากกว่าสื่อกระแสหลักเพราะมองว่า สื่อกระแสหลักบางรายมักนำเสนอข่าวที่เต็มไปด้วยอคติมากกว่า
“ทำไมต้องรอจนถึงวันพรุ่งนี้เพื่ออ่านข่าว ในเมื่อเรามีโทรศัพท์มือถืออยู่กับตัวเพื่ออ่านและเช็กข่าวออนไลน์ได้ตลอดเวลา” คำถามสำคัญถึงการมีอยู่ของหนังสือพิมพ์จากเว็บไซต์เกี่ยวกับอาชีพ
อาชีพใหม่ในอนาคต
1.ผู้สร้างอวัยวะจากสเตมเซลล์
การขาดแคลนอวัยวะจำนวนมากทำให้อาชีพปลูกถ่ายและสร้างอวัยวะจากสเตมเซลล์จะกลายเป็นที่ต้องการมากขึ้น บทความจาก crimson education ระบุว่า จากสถานการณ์การขาดแคลนอวัยวะและส่วนต่างๆ ของร่างกายส่งผลให้สถาบันวิจัยต่างๆ พยายามเฟ้นหานักชีววิทยาที่มีความสามารถและมีความรู้พื้นฐานด้านชีววิทยาโมเลกุล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความถนัดด้านโมเลกุลวิศวกรรมเนื้อเยื่อ และวิศวกรรมชีวการแพทย์
2.นักบำบัดโซเชียลมีเดีย
เรามักจะได้ยินการทำ ‘social detox’ จากอาการเสพติดโทรศัพท์มือถือ และสื่อโซเชียลมีเดีย อาการเหล่านี้จะแพร่ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นในอนาคต ทำให้อาชีพเกิดใหม่อย่าง ‘digital detox therapist’ เป็นที่ต้องการเพื่อการปรับสมดุลในชีวิตประจำวันของผู้คนให้มีความบาลานซ์ เพราะการใช้แอพพลิเคชั่นหรือการวางโปรแกรมด้วยตัวเองอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป และต้องมีอาชีพนี้เกิดขึ้นมารองรับต่อไปด้วย
3.ที่ปรึกษาสกุลเงินดิจิทัล
ความสนใจในการใช้สกุลเงินคริปโตฯ หรือ cryptocurrencies ที่เพิ่มขึ้นจากกระแส bitcoin litecoin และ ether ทำให้นักลงทุนและผู้ที่เริ่มศึกษาการเกิดขึ้นของสกุลเงินพวกนี้อาจได้รับประโยชน์ในอนาคต เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญในสกลุเงิน สามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้คนที่เพิ่งเริ่มต้นสนใจศึกษาเกี่ยวกับวิธีการจัดการ ความมั่นคงในการใช้สกุลเงินเหล่านี้ด้วยระบบที่สมดุล รวมถึงความปลอดภัยและการจัดการบัญชีด้วย
4.วิศวกรบริหารจัดการขยะ
สหประชาชาติ (UN) วิเคราะห์ว่า ในอนาคตมนุษย์จะผลิตขยะออกมามากถึง 2 พันล้านตันต่อปี การจัดการขยะที่เป็นปัญหามีผลพวงมาจากพื้นที่ในการฝังกลบที่จำกัดมากขึ้น บวกกับการกำจัดด้วยการเผาขยะก็ดูจะไม่ใช่วิธีการที่เป็นมิตรกับโลกตอนนี้เท่าไหร่ อาชีพวิศวกรจัดการขยะจึงเกิดขึ้นเพื่อรองรับปริมาณขยะที่ล้นโลกมากๆ ในอนาคต
วิศวกรนักออกแบบจัดการขยะจะทำหน้าที่เปลี่ยนขยะมูลฝอยจำนวนมากให้กลายเป็นของใช้ เสื้อผ้า ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์กันเลย ซึ่งหน้าที่ตรงนี้จำเป็นต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์วัสดุและการออกแบบเชิงอุตสาหกรรม เพื่อนำขยะเหล่านี้กลับมาใช้ซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5.วิศวกรออกแบบโครงสร้างสามมิติ
วิศวกรที่มีพื้นฐานด้านการออกแบบเชิงอุตสาหกรรมและวิศวกรโครงสร้างจะสามารถต่อยอดทักษะของตัวเองไปสู่การออกแบบโครงสร้างสามมิติหรือ 3D ได้ โครงสร้าง 3D จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการออกแบบที่พำนักชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติหรือภัยจากอาวุธสงคราม การพิมพ์ออกแบบสามมิติสามารถพิมพ์ชิ้นส่วนที่จำเป็นในการสร้างที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก ด้วยเวลาหลายชั่วโมงหรือหลายวัน และประกอบร่างได้ด้วยเวลารวดเร็ว
6.นักพัฒนา AR
อุตสาหกรรมเกมออนไลน์ที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องนำมาสู่อาชีพนักพัฒนาและออกแบบ AR (Augmented Reality) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเติมเต็มประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้มีความรู้สึกเสมือนจริงสุดๆ ในอนาคตเทคโนโลยี VR อาจจะเข้าไปช่วยให้ผู้ใช้งานได้สัมผัสกับความทรงจำในอดีต หรือการเที่ยวพักผ่อนเสมือนจริงสำหรับผู้ที่ไม่ได้มีเวลามาก
หากพูดกันเมื่อหลายสิบปีก่อน เรื่องลักษณะนี้คงเหมือนเป็นการ์ตูนหรือเกินจริงไปหน่อย แต่ในยุคนี้อะไรก็เป็นไปได้ทั้งหมด เพราะเร็วๆ นี้ ทางเกาหลีใต้ก็ได้ออกมาเปิดเผยว่า เทคโนโลยี VR (Virtual Reality) ได้นำพาให้คุณแม่ที่สูญเสียลูกสาวจากโรคร้ายได้กลับมาพบกันอีกครั้งผ่านเทคโนโลยี VR ได้ด้วย
7.นักฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว
ในโลกที่เต็มไปด้วยตึกสูงทั่วทั้งเมือง อาชีพนักฟื้นฟูพัฒนาพื้นที่สีเขียวหรือ ‘rewilder’ จะเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนให้ป่าคอนกรีตในเมืองมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น นักฟื้นฟูฯ จะมุ่งเน้นไปที่อาคารโรงงานเก่าที่ถูกทิ้งร้าง รวมถึงตึกอาคารที่อยู่ไม่ได้อยู่ในเขตเมืองและติดถนนมากเท่าไหร่ ด้วยการจัดสรรนักฟื้นฟูฯ ที่มีความรู้ด้านการเกษตร การจัดการสัตว์ป่า และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเข้าไปดูแลในเบื้องต้น
8.ผู้ดูแลควบคุมโดรนรับส่งข้อมูล
เราอาจจะคุ้นเคยกับการใช้โดรนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์หรือในเชิงโปรดัคชั่น แต่ในอนาคตการใช้โดรนจะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันเราเกือบทั้งหมด ไปจนถึงการถูกใช้เป็นอาวุธสงครามซึ่งที่ผ่านมาเราก็คงจะพอเห็นกันอยู่บ้างถึงอันตรายในแง่นี้ การมีผู้เชี่ยวชาญในการดูแลเส้นทางบินของโดรนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่โดรนเหล่านี้จะไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับภาคส่วนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ในอีก 10 ปีข้างหน้าอาจจะมีการจัดตั้งตำแหน่งดูแลควบคุมโดรนกันตั้งแต่ระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเล็กๆ กันเลย
9.ไกด์นำเที่ยวอวกาศ
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NASA) และองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ยังคงพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศอย่างไม่หยุดยั้ง การสำรวจอวกาศที่น่าตื่นตาตื่นใจพวกนี้ยังเป็นหมุดหมายของผู้คนที่ใฝ่ฝันจะได้เดินทางออกนอกโลกอยู่เสมอ ในอนาคตจึงมีการคาดการณ์กันว่า อาชีพไกด์นำเที่ยวอวกาศคงจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก และแน่นอนว่า มีหลายคนที่สนใจจะได้ออกไปทัศนานอกโลกกันอยู่เยอะพอสมควรเลย
10.แพลนเนอร์ช่วงสุดท้ายของชีวิต
บทสนทนาว่าด้วยเรื่องของความตาย หรือการจัดการกับความตายไม่ใช่เรื่องต้องห้ามอีกต่อไป คนรุ่นใหม่เริ่มมองหาวิธีการจัดการกับช่วงสุดท้ายของชีวิตมากขึ้น จนทำให้เกิดบริษัทแพลนเนอร์ที่จะเข้ามาช่วยวางแผนออกแบบช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตกันได้ ตั้งแต่ผู้ป่วยหนักที่ต้องการที่ปรึกษาว่า พวกเขาจะทำอย่างไรกับช่วงสุดท้ายของชีวิตกันดี รวมไปถึงการจัดการกับศพ และออแกไนซ์ที่จะเข้ามาช่วยจัดการงานให้เป็นไปอย่างที่พวกเขาต้องการได้
Source:
The MATTER อาชีพไหนจะหายไป อาชีพอะไรกำลังมา? : สำรวจเทรนด์อาชีพมาแรงปี 2030
https://thematter.co/quick-bite/future-jobs-in-2030/100937
7 ก.ย. 2564
10 ก.ย. 2564
16 ก.ย. 2564