Last updated: 28 ก.พ. 2563 |
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 - 10:23 น.
คงไม่ต้องพูดกันอีกแล้วว่าเราอยู่ในยุค Digital Disruption Technologies หรือสภาวการณ์ที่โลกเปลี่ยนเร็วเพราะเทคโนโลยี ตลอดมามีการทำนายคุณลักษณะของมนุษย์, รูปแบบงาน กระทั่งเทคโนโลยีในวันข้างหน้า เพื่อหาทางปรับตัวให้ทันกับโลกอนาคตเรื่อยมา
บทความล่าสุดจาก World Economy Forum (สภาเศรษฐกิจโลก) เรื่อง ‘10 reasons why today’s cyber leaders are tomorrow’s world leaders’ (10 เหตุผล ทำไมผู้นำด้านไซเบอร์วันนี้ จะกลายเป็นผู้นำโลกในวันข้างหน้า) โดย ฟรานเซสกา บอสโก (Francesca Bosco) หัวหน้าโปรเจ็คค์ความปลอดภัยไซเบอร์ และ รีเบคกา ลิวอิส (Rebekah Lewis) หัวหน้าโปรเจ็คค์นโยบายธรรมาภิบาล แห่ง World Economy Forum อธิบายว่า…
ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ หนึ่งในอาชีพที่ถูกจับตาคือคนที่ทำงานในวงการไซเบอร์ ซึ่งธรรมชาติงานนั้นเปลี่ยนเร็ว ต้องอยู่กับข้อมูลที่ละเอียดอ่อน เมื่อเจอวิกฤติแต่ละครั้ง พวกเขาต้องตัดสินใจเร่งด่วนภายใต้ความกดดันที่ขึ้งเครียดและด้วยข้อมูลจำกัด ทักษะของคนวงการไซเบอร์จึงน่าสนใจและน่าจับตาดูว่า ผู้ที่ผลิตและทำงานกับเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนโลกไปข้างหน้านั้น มีลักษณะและมีทักษะอะไร
บอสโก และ ลิวอิส ยกตัวอย่าง 10 ทักษะของ ‘ผู้นำในโลกไซเบอร์’ และชี้ว่านี่อาจเป็นทักษะของผู้นำโลกอนาคต (อันใกล้) ก็ได้
1. ความรู้และทักษะที่กว้างขวาง
ในสายงานความปลอดภัยไซเบอร์ ต้องการผู้นำที่เข้มแข็งและโดดเด่นรอบด้าน เพราะต้องวิเคราะห์ข้อมูลตัวเลขไปจนถึงบริหารจัดการคน ยิ่งอาวุโสในสายงานเท่าไร สิ่งที่ต้องรับผิดชอบไม่ใช่แค่กระบวนการทำงานภายในอย่างการบริหารจัดการธุรกิจหรือจัดการความเสี่ยง แต่ต้องรับมือกับปัจจัยภายนอก เช่น ขั้วความสัมพันธ์การเมือง เข้าใจระบบ ระเบียบ ความเคลื่อนไหวของแต่ละภูมิภาคและระดับโลก
พวกเขาต้องรอบรู้ให้กว้างเพื่อนำกลับมาประเมินสถานการณ์ เพราะทุกอย่างที่ว่ามานี้ จะกลับไปกระทบต่อองค์กรที่ทำงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์แทบทั้งสิ้น
2. ความสามารถด้านการทำนาย
ธรรมชาติของงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องมีสายตาพิเศษเพื่อจับทิศทางข้างหน้า ต้องรักการทำนาย และเปิดกว้างต่อเทรนด์และเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่ทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่พวกเขาต้องทำนายสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเสี่ยง’
ผู้นำในสายงานความปลอดภัยไซเบอร์ที่เข้มแข็ง ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญเพียงพอจะทำนายผลกระทบต่อการพัฒนาโปรเจ็คท์ใหญ่ๆ เช่น ผลจาก AI, คอมพิวเตอร์เชิงควอนตัม (Quantum Computer), ข้อมูลในประเทศ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดฝัน เช่น การเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกแผนงานบางอย่างของบริษัทคู่ค้า, ความผันผวนรุนแรงของสภาพอากาศ มัลแวร์ หรือกระทั่งการโจมตีไซเบอร์เอง แล้วนำมาวิเคราะห์ให้ได้ว่าท่ามกลางปัจจัยเหล่านี้ ความเสี่ยงใดที่อาจเกิดขึ้น
3. ความสามารถในการวิเคราะห์และแยกแยะ
ผู้นำในโลกไซเบอร์ต้องอยู่กับข้อมูลที่ท่วมท้นและหลากหลายอันมาจากปัจจัยภายในและนอก ไม่เพียงต้องเข้าใจปัจจัย บริบท ประเด็น สิ่งที่กำลังทำเท่านั้น ผู้นำไซเบอร์ต้องมีปฏิภาณไหวพริบ ‘แยกแยะ’ ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องซึ่งปะปนอยู่กับข้อมูลที่ต้องใช้จริง แยกความแตกต่างระหว่างข้อมูลจริงกับเท็จ และยังต้องเข้าใจหยิบข้อมูลพื้นฐานบางอย่างขึ้นมาตัดสินใจแก้ไขสถานการณ์ได้
4. ความสามารถเชื่อมโยง หาทางลัดด้านกลยุทธ์
เพราะการเป็นผู้นำในกลุ่มการบริหารความปลอดภัยไซเบอร์ จำเป็นต้องใช้ข้อมูลแวดล้อมหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นจากสถิติ จากรายงาน หรือข้อถกเถียงของคนในทีมไปจนถึงข้อถกเถียงของคนในวงการต่างๆ นอกจากความเฉลียวฉลาดในการหาข้อมูล ผู้นำในสายงานนี้เป็นต้องมีทักษะเชื่อมโยงข้อมูล ‘ระหว่างสายงาน’ เพื่อคิดค้นกลยุทธ์การทำงานและพัฒนาความปลอดภัยองค์กร
การทำงานจึงต้องเป็นรูปแบบ Agile ที่ให้ความสำคัญกับการสื่อสารข้ามฝ่ายและไม่มีรูปแบบการทำงานแบบเป็นขั้นตอน วิธีการทำงานแบบนี้ยิ่งเรียกร้องต่อผู้ปฏิบัติงานให้มีความสงสัยใคร่รู้ที่จะประเมินข้อมูลและกำหนดกลยุทธ์การทำงานอยู่เสมอ
5. การบริหารจัดการความเสี่ยง
ไม่ว่าจะเตรียมพร้อมดีแค่ไหน แต่ปัญหาไซเบอร์เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ระดับเล็กถึงใหญ่ ผู้นำด้านไซเบอร์ต้องเตรียมรับมือ ตอบสนองต่อวิกฤติอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเพราะทุกครั้งที่เกิดปัญหาต้องมีการตัดสินใจ สิ่งเหล่านี้เลี่ยงการสูญเสียไม่ได้ ผู้นำต้องชั่งตวงวัดข้อมูลเท่าที่มี ตัดสินใจ และรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น
เวลาเกิดสถานการณ์ทำนองนี้ ผู้นำไซเบอร์ต้องทำงานภายใต้ความกดดัน ผู้นำต้องมีความสามารถในการประเมินข้อมูลที่น่าเชื่อถือ แม่นยำ หาความสัมพันธ์ของข้อมูลที่กระจัดกระจาย และการตัดสินใจนั้นต้องยุติธรรม ไม่มีอคติจากบุคคลหรือคนในทีม
6. มีจริยธรรมและรับผิดรับชอบ
เพราะความซับซ้อนและการขยายขอบเขตของสภาวะไซเบอร์ ยิ่งทำให้จริยธรรมของคนทำงานในพื้นที่นี้ถูกท้าท้ายมากขึ้นเรื่อยๆ และเพราะธรรมชาติของงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์นั้นมีความละเอียดอ่อนมาก ข้อมูลบางอย่างเปิดเผยไม่ได้ หรือถูกท้าทายว่าสมควรเปิดเผยได้แค่ไหน หลายครั้งคนทำงานด้านนี้จึงต้องตัดสินใจด้วยประสบการณ์ และการตัดสินใจหลายๆ ครั้งเป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจ
7. มองเห็นภาพรวม แต่ซูมลึกลงไปจนเห็นรายละเอียดเล็กๆ ได้
ปัจจุบันองค์กรต่างๆ แยกหน่วยงานความมั่นคงไซเบอร์ออกจากโครงสร้างการทำงานทั่วไป แต่ธรรมชาติของงานด้านนี้ ต้องการความเข้าใจและต้องเข้าไปรับผิดชอบหน่วยปฏิบัติการระบบงานหลักหลายส่วน เช่น งานการเงิน, หน่วยปฏิบัติการ, ทรัพยากรบุคคล, ประกัน และอื่นๆ
ด้วยรูปแบบงานที่ไม่มีเส้นพรมแดนนี้ ผู้นำด้านไซเบอร์ต้องขีดเส้นใต้ให้ชัดว่าจะเข้าไปควบคุมดูแลงานส่วนไหนและแค่ไหน การทำงานแบบนี้ ผู้นำด้านไซเบอร์ต้องมีทักษะเลือกรับข้อมูลและรู้ว่าจะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทีมงานต่างๆ ทั้งภายในและนอกองค์กรอย่างไร ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาที่ว่า ผู้นำไซเบอร์ต้องมีความเชี่ยวชาญในการมองภาพรวม แต่ซูมลึกลงไปในรายละเอียดเล็กๆ ได้
8. มอบหมายงานเป็น
คล้ายกับผู้นำทั่วไป ผู้นำไซเบอร์ประสบความสำเร็จไม่ได้ด้วยตัวคนเดียว การมีทีมงานสำคัญมาก ทักษะการมอบหมายงานให้ถูกคนจำเป็นไม่แพ้ทักษะอื่นๆ ผู้นำควรรู้ว่าจะมอบหมายงานให้ใคร จัดสรรแบ่งเบาความรับผิดชอบงานให้คนในทีมอย่างไร สำคัญที่สุดคือทำให้ชัดว่างานแบบไหนที่มอบหมายให้ทีมทำได้ งานแบบไหนที่ผู้นำต้องทำเอง เช่น งานด้านความสัมพันธ์ หรือการตัดสินใจในเรื่องสำคัญบางอย่าง
9. หามติร่วมเพื่อตัดสินใจ
การทำงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ต้องทำงานกับผู้เชี่ยวชาญหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย การตลาด การสื่อสาร และคนในแวดวงเทคโนโลยีด้วยกันเอง ในการทำงานจริง การแก้ไขปัญหาไซเบอร์จึงไม่อาจแก้ได้ด้วยความเห็นของทีมงานเดียว ข้อนี้-การสื่อสารเพื่อหามติ เหมือนเป็นสิ่งที่ผู้นำหลายองค์กรต้องมี แต่ต้องไม่ลืมว่าการทำงานด้านไซเบอร์ไม่ได้ทำงานแค่คนในประเทศแต่ทำงานกับผู้คนต่างภาษาด้วย แปลว่านอกจากการสื่อสารที่ชัดเจนในภาษาของตัวเองแล้ว ผู้นำไซเบอร์ยังต้องมีความเชี่ยวชาญทางภาษาต่างประเทศระดับลึกซึ้งอีกด้วย
ผู้นำไซเบอร์จึงต้องสื่อสารให้คนทุกสายงานเข้าใจร่วมกัน โดย
เฉพาะการปรับคำศัพท์เฉพาะแต่ละสายงานให้เป็นภาษาที่เข้าใจได้
ทุกทีม จากนั้นจึงต้องเป็นตัวกลางเพื่อหามติและลงความเห็น
10. สร้างบรรยากาศเพื่อสร้างประสิทธิภาพการทำงาน
ผู้นำไซเบอร์ต้องทำงานอยู่กับสภาวะที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แน่นอนว่านี่คือโอกาส แต่ก็หมายถึงจุดอ่อนในแง่การตามไม่ทันเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน เพื่อจะยืนอยู่ในวงการนี้ได้ พวกเขาจำเป็นต้องคัดผู้ที่มีคุณสมบัติคนทำงานแบบใหม่ ต้องการคนทำงานที่ยืดหยุ่น รักษามาตรฐานงาน และรักในการเรียนรู้อยู่เสมอ
เพื่อหาคนทำงานที่มีคุณสมบัติดังกล่าว ผู้นำไซเบอร์ต้องปรับนโยบายด้านการทำงานเพื่อเอื้อให้เกิดบรรยากาศและรักษาคนที่มีคุณสมบัติดังที่กล่าวไปให้ทำงานกับทีมได้ สำคัญคือผู้นำไซเบอร์จะถูกเรียกร้องเรื่องความเป็นธรรม และการประเมินการทำงานที่เสมอภาคและโปร่งใส
ปัจจุบันผู้นำไซเบอร์ไม่ได้ถูกเรียกร้องแค่ให้เป็นผู้นำโลก – โลกที่จะซับซ้อนและหลากหลายขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่การเป็นผู้นำของคนทำงานรุ่นใหม่ที่ต้องใช้ทั้งทักษะสังคมและทักษะวิชาชีพ แต่ยังเป็นต้นแบบของผู้นำรุ่นใหม่ แบบที่โลกอนาคตต้องการ
Source:
ThePotential
10 ทักษะผู้นำของคนในวงการไซเบอร์ ที่โลกอนาคตต้องการ
https://thepotential.org/2019/07/11/10-skills-of-cyber-leader/
10 ก.ย. 2564
16 ก.ย. 2564
7 ก.ย. 2564