Last updated: 24 มี.ค. 2563 |
วันที่ 24 มีนาคม 2563 - 17:00 น.
ฉันติดเชื้อหรือยังนะ?
ได้แต่ตั้งคำถามกับตัวเอง เมื่อสถานการณ์ของ COVID-19 เริ่มกระชั้นเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้น จนหลายคนเริ่มทำใจแล้วว่า อาจจะติดเชื้อแบบไม่รู้ตัวกันไปแล้วจริงๆ ก็ได้ แต่ถ้าผู้คนติดเชื้อกันจนล้นโลกแล้ว จุดสิ้นสุดของการแพร่ระบาดนี้ จะหยุดอยู่ที่ไหน? เพื่อหาคำตอบนั้น ‘Herd immunity’ ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังจากนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ เสนอทางออกจากวงเวียนแห่งโรคระบาดด้วยคำนี้ แล้ว Herd immunity คืออะไรกันแน่ ยิ่งกว่านั้น จะสามารถใช้ได้ผลจริงๆ เหรอ?
Herd Immunity คืออะไร?
Herd (n.) = กลุ่มคน, ฝูงสัตว์
Immunity (n.) = ภูมิคุ้มกันโรค
ตามนิยามของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) คำว่า Herd immunity หรือที่รู้จักกันอีกชื่อ คือ Community Immunity หมายถึง สถานการณ์ที่สัดส่วนของประชากรที่มีภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายผลิตขึ้นมาเองตามธรรมชาติ หรือได้รับวัคซีนป้องกันโรค แต่ก็มีจำนวนมากพอ จนเชื้อไวรัสไม่สามารถแพร่กระจาย หรือถูกส่งผ่านไปยังคนอื่นๆ ได้
พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อคนในพื้นที่นั้นๆ ได้รับวัคซีน หรือได้รับเชื้อแล้วร่างกายมีภูมิคุ้มกันจนไม่ป่วยอีก พอคนติดเชื้อได้น้อย เชื้อโรคก็แพร่ไปสู่คนอื่นได้ยากไปด้วย
วิธีนี้ถือเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนที่อยู่ในภาวะเสี่ยง หรือไม่มีภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้สูงอายุ เด็กแรกเกิด ผู้ป่วยอาการสาหัส ผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด เป็นต้น และเมื่อเชื้อไวรัสไม่สามารถแพร่ระบาดไปสู่ผู้อื่นได้ มันก็จะหายไป ไม่กลายเป็นการแพร่ระบาดนั่นเอง
อย่างไรก็ดี จำนวนของประชากรที่จำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกัน หรือได้รับวัคซีนสำหรับ Herd immunity ในแต่ละโรคนั้น มีสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป เช่น โรคหัดต้องมีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนไม่ต่ำกว่า 95% ส่วนโปลิโอ ก็ต้องไม่น้อยกว่า 80% แต่ถ้าจะให้ขยายความเป็นมา ของคำว่า Herd immunity ก็ต้องเล่าถึงที่มาที่ไปของวัคซีนเสียหน่อย
แม้ร่างกายของเราจะมีภูมิต้านทานโรค แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะสามารถสู้ศึก ชนะทุกโรคภัยได้ ดังนั้น การถือกำเนิดของวัคซีน จึงเป็นเหมือนกุญแจสำคัญ ที่ช่วยให้มนุษย์มีชีวิตรอดจากโรคภัยต่างๆ มาได้
กลุ่มคนที่ค้นพบวิธีสร้างภูมิคุ้มกันโรค เป็นกลุ่มแรก คือ ชาวจีนในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 10 โดยเรียกสิ่งที่ค้นพบว่า Smallpox inoculations หรือ Variolation ซึ่งหมายถึง การให้คนที่มีสุขภาพดีรับเนื้อเยื่อหรือสะเก็ดแผลซึ่งเกิดจากโรคของผู้ป่วยเข้าร่างกาย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง แล้วอีก 800 ปีต่อมา เอดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) นายแพทย์คนสำคัญของการพัฒนาวัคซีน ได้นำหนองจากแผลของผู้ป่วยฝีดาษวัวใส่เข้าไปใต้ผิวหนังของเด็กชายคนหนึ่ง ที่ตอนแรกมีสุขภาพดี แต่เมื่อเขารับเชื้อฝีดาษเข้าไป ก็กลายเป็นว่า เด็กชายคนนั้นมีอาการของโรคฝีดาษวัวไปด้วย
แต่เจ้าหนูคนนี้ไม่ได้เสียชีวิตนะ เขาได้รับการรักษาจนหายจากโรคฝีดาษวัว และเมื่อมีการนำเชื้อฝีดาษเข้าไปในร่างกายของเด็กคนนี้อีกครั้ง เขาก็ไม่มีอาการป่วยแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่า เชื้อที่เข้าไปในร่างกายก่อนหน้านี้ ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเขาแล้ว จากนั้น วัคซีนสำหรับป้องกันโรคฝีดาษ ก็เริ่มใช้กันในอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.1853 ทำให้จำนวนผู้ป่วยน้อยลง แล้วค่อยๆ ลดลงตามลำดับในทวีปยุโรป ก่อนจะขยายไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ จนไม่พบการติดเชื้อนี้อีกในโลก WHO จึงประกาศว่า ได้ขจัดโรคนี้ให้หมดสิ้นไปแล้ว
แล้ววัคซีน เกี่ยวกับ Herd immunity ยังไง?
อย่างที่เล่าไปว่า Herd immunity เป็นภาวะที่คนมีภูมิต้านทานโรคเป็นจำนวนมาก วัคซีน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภูมิต้านทานโรค จึงเกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ไปโดยปริยาย ซึ่งคำว่า Herd immunity ปรากฏครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1923 ในบทความเรื่อง The spread of bacterial infection: the problem of herd immunity ที่กล่าวถึงโรคระบาดต่างๆ ที่มีความใกล้ชิดกับหนู โดยพบว่า หนูที่ได้รับวัคซีนมีอัตราการตายต่ำ และมีโอกาสที่จะถ่ายทอดเชื้อน้อยลงด้วย
ในบทความนี้ยังบรรยายไว้ว่า “…การเพิ่มความต้านทานต่อการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มประชากร น่าจะเป็นผลมาจากการที่ความต้านทานต่อเชื้อในส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นหนทาง ที่ดีที่สุดที่จะลดการแพร่เชื้อโรค”
แล้วจากนั้น วิลสัน จีเอส (Wilson GS.) ผู้เขียนบทความดังกล่าว ก็เริ่มใช้คำว่า Herd immunity เป็นครั้งแรกนั่นเอง
Herd immunity เป็นผลทางอ้อมของการป้องกันโรคจากวัคซีน ที่ช่วยปกป้องคนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันจากโรคภัย ด้วยกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันมากพอ ซึ่งนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดโปรแกรมการให้วัคซีนกับประชากรทั่วโลกเป็นต้นมา
ใช้ Herd Immunity กับ COVID-19 ได้ไหม?
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา คำว่า Herd immunity กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังจาก แพทริก วัลแลนซ์ (Patrick Vallance) หัวหน้าที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของอังกฤษ กล่าวว่า รัฐบาลต้องการยืดเวลาอัตราการระบาดของ COVID-19 ออกไปให้นานที่สุด เพื่อให้เกิด Herd immunity ในประชากรได้
วัลแลนซ์ อธิบายว่า ต้องให้ประชากรส่วนใหญ่ หรือประมาณ 60% ติดเชื้อไวรัสเสียก่อน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในกลุ่มคนที่หายป่วยแล้ว ซึ่งภูมิคุ้มกันนี้ จะช่วยป้องกันกลุ่มคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจากไวรัสได้โดยอัตโนมัติ และช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคนี้ในภายหลังได้อีกด้วย
วิธีการที่วัลแลนซ์กล่าวถึง คือ Herd immunity นั่นเอง แต่ปัญหาคือ เรายังไม่มีวัคซีนที่จะต้านทานไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ นั่นแปลว่า เราจะมี Herd immunity ในสถานการณ์นี้ได้ ก็ต่อเมื่อ มีผู้คนติดเชื้อจำนวนมาก และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อร่างกายตัวเองได้ จึงจะบรรเทาผลกระทบจากโรคนี้
วัลแลนซ์ ยังกล่าวด้วยว่า ในระหว่างที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลก็คาดหวังว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะชะลอตัวและลดลง ด้วยการให้ประชาชนที่มีอาการป่วยอยู่บ้านเป็นเวลา 7 วัน และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ผู้สูงอายุหรือคนที่มีปัญหาสุขภาพร้ายแรงจะถูกกักตัวให้อยู่แต่ในบ้านให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และลดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ราวกับอยู่ในดักแด้ ไม่ว่าพวกเขาจะป่วยหรือไม่ก็ตาม ไม่ได้มีแค่วัลแลนซ์ ที่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ ศาสตราจารย์ บีอาเท แคมป์แมนน์ (Beate Kampmann) ผอ.ศูนย์วัคซีนจาก London School of Hygiene and Tropical Medicine ก็กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลใช้มาตรการกักตัวผู้สูงอายุ ในระหว่างที่สร้าง Herd immunity ไปด้วยนั้น จะช่วยสร้างวงแหวนของกลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกัน (ring of immune people) ซึ่งเป็นการปกป้องกลุ่มคนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงเอาไว้ตรงกลาง ไม่ให้ได้รับเชื้อไวรัสได้
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับวิธีการนี้ มาร์กาเร็ต ฮาร์ริส (Margaret Harris) โฆษกจาก WHO กล่าวว่า ตอนนี้ ยังมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ไม่มากนัก เพราะระยะเวลาที่ไวรัสนี้แพร่ระบาดในหมู่ประชากร ยังไม่นานพอที่จะทำให้รู้ว่า มันจะทำอะไรกับระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์บ้าง “ไวรัสแต่ละชนิด ส่งผลต่อร่างกาย และกระตุ้นภูมิคุ้มกันในตัวเราต่างกันไป เราอาจจะเข้าใจในเชิงทฤษฎี แต่ ณ ขณะนี้ เรากำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เราต้องดูที่การปฏิบัติจริงต่างหาก” ฮาร์ริส กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีนักวิทยาศาสตร์อีก 229 คน ที่ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลว่า ดำเนินมาตรการล่าช้า และไม่เพียงพอต่อการรับมือกับ COVID-19 และคัดค้านข้อเสนอเรื่อง Herd immunity เพราะมองว่าเป็นมาตรการที่เสี่ยงเกินไป และอาจทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตนับล้านคน
หนึ่งในเหตุผลที่ถูกยกขึ้นมา เพื่อสนับสนุน Herd immunity คือ การยับยั้งมหันตภัยจาก ‘คลื่นลูกที่สอง’ หรือก็คือ การระบาดหนักที่จะมาถึงอีกครั้งในช่วงฤดูหนาว แต่ วิลเลียม ฮาเนเจ (William Hanage) ศาสตราจารย์จากศูนย์วิวัฒนาการและระบาดวิทยาของโรคระบาด แห่ง Harvard university ก็แสดงความเห็นว่า ปัญหาคือ หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญสำหรับ Herd immunity คือ วัคซีน แต่ตอนนี้ เรายังไม่มีวัคซีนสำหรับ COVID-19 เลย
ฮาเนเจ มองว่า ตามที่ WHO ประกาศให้ COVID-19 เป็นการระบาดใหญ่ (pandemic) แล้ว นั่นหมายความว่า มีประชากรจำนวนมากที่ป่วยและเสียชีวิต จนเมื่อถึงจุดสูงสุดของการระบาด จะมีจำนวนผู้ป่วยมากเกินกว่าที่สถานพยาบาลจะรองรับไว้เสียอีก
ยิ่งกว่านั้น เรายังไม่สามารถจำกัดกลุ่มอายุของผู้ติดเชื้อได้อีกด้วย
“ส่วนเรื่องคลื่นลูกที่สอง มันคือเรื่องจริง เราเคยเห็นกันมาแล้วเมื่อตอนไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ (pandemic) แต่นี่ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ กฎของไข้หวัดใหญ่ใช้กับโรคนี้ไม่ได้ มันอาจจะมีคลื่นลูกที่สอง ผมก็ไม่รู้หรอก แต่คนที่อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงไม่ควรจะต้องรับเชื้อไวรัสในตอนนี้ เพื่ออนาคตที่ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น”
เขายังชื่นชมวิธีการยับยั้งการแพร่ระบาดของ เกาหลีใต้ ที่ใช้การเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น และมาตรการ social distancing (การลดโอกาสที่ผู้คนจะพบปะกัน ทั้งในเชิงจำนวนและระยะเวลา เพื่อชะลอการแพร่ระบาด) ซึ่งช่วยควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ ทั้งยังกล่าวว่า ควรนำมาตรการของสิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวัน มาเรียนรู้และปรับใช้ด้วย
อีกด้านหนึ่ง วิทยากรชำนาญการพิเศษด้านไวรัสวิทยา อย่าง เจเรมี โรสแมน (Jeremy Rossman) จาก University of Kent ก็ให้ความเห็นว่า มาตรการเฝ้าระวังและกักตัวตามที่ WHO แนะนำนั้น เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 และหากจะใช้ Herd immunity เพื่อป้องกันกลุ่มคนที่สุ่มเสี่ยงติดเชื้อ ก็ต้องใช้ประชากรถึง 47 ล้าน ในการติดเชื้อเลยทีเดียว
ขณะที่ มาร์ติน ฮิบเบิร์ด (Martin Hibberd) ศาสตราจารย์โรคติดต่ออุบัติใหม่จาก London School of Hygiene and Tropical Medicine กล่าวว่า รัฐบาลของสหราชอาณาจักรคาดการณ์ว่า Herd immunity จะเกิดขึ้นในท้ายที่สุด และตัวเขาเองก็คาดหวังว่า มันจะเกิดขึ้นก่อนที่ฤดูหนาวจะมาถึง ซึ่งคงเป็นเวลาที่ COVID-19 กลายเป็นโรคทั่วไปแล้ว
“แต่ผมยังกังวลว่า การที่ประชากรจำนวนมากติดเชื้อ โดยหวังว่าจะฟื้นตัวและมีภูมิคุ้มกันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ .. อีกหนึ่งกลยุทธ์คือ การพยายามยื้อเวลาให้นานเพียงพอสำหรับการบำบัดที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นช่วงที่เรามีวิธีการรักษาแบบอื่นแล้ว” ดูเหมือนว่า ประเด็นที่ใครหลายคนกังวล คือการที่ให้ผู้คนติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องลุ้นกันว่า ใครจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ โดย กราแฮม เมดเลย์ (Graham Medley) ศาสตราจารย์จาก London School of Hygiene and Tropical Medicine เช่นเดียวกับ ฮิบเบิร์ดและแคมป์แมนน์ อธิบายว่า การตีความไปแบบนั้น เป็นเรื่องที่ผู้คนเข้าใจผิด
“เป้าหมายที่แท้จริง ก็เหมือนกับในประเทศอื่นๆ นั่นคือการ ‘flatten the curve’ (การทำให้อัตราการระบาดสูงสุด ลดต่ำลง แต่เวลาในการระบาดยาวนานขึ้น) ซึ่งเป็นผลมาจากการบรรลุ Herd immunity แล้ว .. มันเป็นผลข้างเคียง ไม่ใช่เป้าหมาย”
อีกทั้ง กระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษ ก็ออกมาแถลงว่า Herd immunity ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในแผนปฏิบัติการของทางกระทรวงแต่อย่างใด เป็นเพียงผลพลอยได้ที่จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อการระบาดสิ้นสุดลงเท่านั้น โดยทางกระทรวงก็ยินดีที่จะฟังเสียงของเหล่านักวิทยาศาสตร์
และยังกล่าวด้วยว่า Herd immunity เป็นเพียงหนึ่งในแนวคิดทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น
Source:
Thematter
Herd Immunity คืออะไร ใช้ได้จริงไหม? ว่าด้วยวิทยาศาสตร์ของภูมิคุ้มกันและโรคระบาด
https://thematter.co/science-tech/health/herd-immunity/104664
10 ก.ย. 2564
16 ก.ย. 2564
7 ก.ย. 2564