การเป็นฟรีแลนซ์กับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ที่ยังไร้ทางออก

Last updated: 24 มี.ค. 2563  | 

วันที่ 24 มีนาคม 2563 - 17:24 น.


เวลาพูดถึงคำว่าฟรีแลนซ์ ภาพจำของหลายคนคือการเลือกเป็นนายตัวเอง มีชีวิตแบบ work-life balance แถมหลายครั้งก็อาจจะมีบางคนที่โพสต์รูปชีวิตชิลๆ จากทางบ้านส่งตรงผ่านโซเชียลมีเดียมาให้คนที่ถูกจำกัดอิสรภาพอยู่ในออฟฟิศอิจฉา

แต่หลายครั้งที่ชีวิตฟรีแลนซ์อาจไม่ได้ดูดีตามไฟล์ .jpeg ที่โพสต์ไป ไม่อย่างนั้นพนักงานประจำก็อาจจะออกไปทำงานอิสระกัน แต่เพราะคำตอบก็คือทุกคนล้วนกลัวว่ามันจะไม่รอด ไหนจะภาระผูกพันมากมายในชีวิต ยิ่งช่วงไวรัส COVID-19 ระบาดจนเศรษฐกิจล้มครืนกันแบบนี้ ฟรีแลนซ์จึงเป็นอีกอาชีพที่กำลังแขวนอยู่บนเส้นดายเหมือนกัน

ฟรีแลนซ์ไม่ใช่แค่อาชีพของชนชั้นกลาง แต่หมายถึงแรงงานนอกระบบทุกคน

การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ COVID-19 นี้ได้กระจายเข้าถึงคนทุกกลุ่มทุกชนชั้น ทำให้ทุกคนต้องเจอความเสี่ยงในการเข้าถึงโรคนี้ได้อย่างเท่าเทียมกันอย่างไรก็ตาม ความเปราะบางทางเศรษฐกิจนี้ดูจะตกเป็นของผู้มีรายได้ต่ำและคนทำงานนอกระบบอยู่สูงพอสมควร นั่นเพราะพวกเขาไม่มีหลักประกันทางสังคมมากนัก เมื่อมีมาตรการจากภาครัฐให้หลายภาคส่วนหยุดการดำเนินงานชั่วคราว แรงงานหลายคนจึงอยู่ในสภาพกึ่งตกงานเนื่องจากไม่มีรายได้จากค่าจ้างรายวันเข้ามาเหมือนเดิม หันไปมองพนักงานประจำหลายคนก็ถูกเสนอโปรโมชันอาสาสมัคร leave without pay ซึ่งว่ากันตรงๆ มันก็คือการบังคับให้ออกจากงานแบบเนียนๆ บางคนถูกปรับลดเงินเดือนลงหลายสิบเปอร์เซ็นต์

‘ฟรีแลนซ์’ เองก็ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงในอาชีพมากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งที่จริงแล้วฟรีแลนซ์นั้นหมายถึง ‘แรงงานนอกระบบ’ เราเองก็เป็นฟรีแลนซ์ที่นั่งเคาะคีย์บอร์ด ผลิตคอนเทนต์ออนไลน์อยู่ที่บ้าน และฟรีแลนซ์ยังรวมไปถึงคนที่รับจ้างเย็บผ้ารายวัน คนเข็นผลไม้ขาย คนขับวินมอเตอร์ไซค์และแท็กซี่ คนขับรถส่งอาหารให้เรากินถึงบ้านเช่นกัน

เพียงแต่ในความรับรู้ทั่วไป ฟรีแลนซ์มักถูกใช้เรียกการเลือกทำงานแบบอิสระของชนชั้นกลางเป็นหลัก และแปะภาพความเป็นนายของตัวเองพร้อมกับภาพจำว่าคนเหล่านี้ช่างมีชีวิตแสนสบาย

ซึ่งหากพิจารณาสถานะทางการเงินและหลักประกันทางสังคมแล้ว คนที่เรียกตัวเองหรือถูกเรียกว่าฟรีแลนซ์เองก็มีความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจพอๆ กับคนหาเช้ากินค่ำในความหมายทั่วไป ยิ่งเมื่อธุรกิจหลายระดับหยุดชะงัก งานที่เคยจ้างฟรีแลนซ์ทำก็หายไปด้วย พอคิดว่าสิ้นเดือนนี้จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าห้อง นั่งหยุดงานอยู่เฉยๆ แต่ค่าน้ำค่าไฟค่ากินไม่หยุดไปด้วย บางคนมีหนี้สินยิ่งไปกันใหญ่ ทีนี้ฟรีแลนซ์ก็เริ่มอยู่นิ่งไม่ได้เพราะไม่แน่ใจแล้วว่ากว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นมาพวกเราจะล้มละลายซ้ำซ้อนไปแล้วกี่ครั้ง


ไวรัสระบาด เศรษฐกิจพัง

นักเศรษฐศาสตร์ด้านความเหลื่อมล้ำอย่าง บรานโค มิลานโนวิก (Branko Milannovic) ชี้ว่าในภาวะโรคระบาดเช่นนี้ ความท้าทายใหญ่ของประเทศที่ไม่มีระบบสวัสดิการสังคมหรือ social safety net ที่กว้างขวางและเพียงพอต้องเริ่มทบทวนความล่มสลายของสังคมทั้งระบบได้แล้ว เพราะแรงงานทั้งหลายไม่ว่าจะในหรือนอกระบบใช่ว่าจะล้มแล้วมีฟูกรองรับกันได้ทุกคน ครั้นจะกลับไปภาคเกษตรกรรมก็ไม่มีทรัพยากรใดรองรับมากนัก คำถามคือแล้วคนที่ตกค้างเหล่านี้จะล่องลอยไปอยู่ตรงไหน ซึ่งหากเปรียบเทียบเข้ากับสถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้ก็พอจะมองเห็นกันว่าเหล่าคนที่เดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ก็เพราะมันเป็นหนึ่งในโอกาสที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต ที่สำคัญคือหากหวนกลับบ้านก็คงไม่มีอะไรให้ทำกินอยู่ดี

ในประเทศไทยเองยังไม่มีตัวเลขทางสถิติแน่ชัด ผู้เขียนจึงขอยกตัวเลขจากกระทรวงแรงงานของอเมริกา ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2563 ว่า นับตั้งแต่การระบาดของ COVID-19 เป็นต้นมา มีคนตกงานไปแล้วประมาณ 281,000 ราย ซึ่งคนงานเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากภาคการบริการ เช่น พนักงานร้านอาหาร บาร์ สายการบิน และธุรกิจโรงแรม

นอกจากนั้น ฟรีแลนซ์หรือแรงงานนอกระบบหลายคนยังอาจทำตามมาตรการกักตัวหรือมาตรการสร้างระยะห่างทางสังคม (social distancing) ไม่ได้ตามที่สังคมคาดหวัง ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าสังคมของเรามีทรัพยากรด้านพื้นที่ให้คนทุกกลุ่มรักษาระยะห่างทางสังคมและเอื้อต่อความปลอดภัยเมื่อต้องจำเป็นเคลื่อนย้ายตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน เพราะทั้งหมดนั้นล้วนสัมพันธ์กับความสามารถทางการเงินที่ไม่มั่นคงเข้าไปอีกเมื่อต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำเช่นนี้

 

เราทุกคนคือแรงงาน

ไม่ว่าเราจะนิยามฟรีแลนซ์ว่าเป็นคนกลุ่มไหน แรงงานนอกระบบทุกคนที่ไม่มีประกันสังคมรองรับก็มีความเสี่ยงจะหลุดออกจากสังคมแห่งการพัฒนาทั้งสิ้น มองให้ไกลไปกว่านั้น ความไม่ชัดเจนของนโยบายรัฐรวมถึงการผูกขาดอำนาจในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในตอนนี้ยิ่งทำให้สังคมอยู่ในสภาพคาดเดาอะไรไม่ได้เลยเข้าไปใหญ่

ซึ่งความไม่รู้นี้ทำให้คนยิ่งตื่นตกใจจนนำมาซึ่งการกักตุนอาหาร หน้ากาก แอลกอฮอล์ เจลล้างมือ และการซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับคนที่กำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างแรงงานนอกระบบนั้นไม่มีความสามารถจับจ่ายเพื่อเข้าถึงความปลอดภัยได้เหมือนคนกลุ่มอื่น

ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด หลายชาติมีมาตรการรับมือและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบเช่น การผ่านงบประมาณพิเศษเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ จัดหาโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยและกักตัวผู้ติดเชื้อ จัดหาหน้ากากให้ประชาชนและผลิตภัณฑ์ที่จำเป็น และให้เงินอุดหนุนสถานศึกษารวมถึงผู้ประกอบการขนส่งมวลชน

นอกจากนั้นยังปรับอัตราภาษี มีการจ่ายเงินชดเชยแรงงานที่ต้องหลุดจากระบบ และการจ่ายเงินให้เปล่าแก่ผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้งหมดนั้นเพื่อให้ประชาชนอยู่รอด และชาติไปต่อได้แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเมื่อกลับมามองนโยบายที่เปลี่ยนไป-เปลี่ยนมาของประเทศไทย ผู้เขียนจึงขอสรุปแบบเหมารวมว่าเราทุกคนล้วนเป็นแรงงานที่มีความเป็นไปได้ที่จะต้องเผชิญผลกระทบทางเศรษฐกิจเหมือนคนทำงานนอกระบบซึ่งเป็นเพียงแค่คนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบไวกว่าเพื่อนร่วมสังคมเท่านั้น หลังโรคระบาดผ่านพ้นไป งานหนักหนึ่งของรัฐบาลไทยอาจเป็นการนับตัวเลขคนว่าคนตกงาน คนจน คนไร้บ้าน และปัญหาสังคมที่เกี่ยวข้องว่าเพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่

ที่พอทำได้ในวันว่างงานเช่นนี้ก็คือการนั่งจินตนาการว่าแรงงานนอกระบบอย่างผู้เขียนจะได้รับโอกาสไปปรากฏในสถิติแห่งชาติด้านใดบ้าง หากวันที่รัฐบาลชนะมาถึงจริงๆ




Source:

Thematter

ในวันที่ฉันต้องว่างงาน : การเป็นฟรีแลนซ์กับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ที่ยังไร้ทางออก

https://thematter.co/social/how-covid19-effect-freelancer/105082