Last updated: 28 เม.ย 2563 |
วันที่ 28 เมษายน 2563 - 15:18 น.
ชีวิตในฝันของหนุ่มสาวออฟฟิศคือการได้ทำงานที่บ้าน แต่พอฝันเป็นจริงจากเหตุโควิด-19 ก็มีคนจำนวนหนึ่งปรับตัวได้ดี ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งอึดอัดและเกิดอาการบิดเบี้ยว เพราะปรับตัวได้ไม่ดีนัก พร้อมกับความเจ็บปวดในใจที่การทำงานของเราไม่ได้แสดงคุณค่าให้คนได้เห็นเท่าการทำงานในพื้นที่สำนักงานตามปกติ
รายงานของ United Nations ในปี 2017 พบว่า คนทำงานในสำนักงาน 25% มีความเครียดสูง ในขณะที่คนทำงานที่บ้าน 41% มีความเครียดที่สูงกว่า เนื่องจากปัญหาของการทำงานที่รวมพื้นที่พักผ่อนเข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนี้งานวิจัยที่เผยแพร่ใน Harvard Business Review ได้ทำการวิจัยคนทำงาน 1,100 คน พบว่า 52% ของคนทำงานจากบ้านจะมีความรู้สึกว่าเป็นคนนอกสายตาและถูกทำไม่ดีด้วย ทั้งยังพบปัญหาความขัดแย้งระหว่างเพื่อนร่วมงาน อีกทั้งการสื่อสารผ่านอีเมลอาจถูกตีความผิดๆ ด้วย เพราะไม่ได้เห็นน้ำเสียงหรือท่าทีผู้พูดร่วมด้วย เป็นไปได้ว่ามันอาจส่งผ่านข้อมูลที่เราไม่ได้ตั้งใจ หรือดูหยาบคาย ดูแข็งกระด้างเกินไป
อะไรอยู่เบื้องหลังความอึดอัดจากการ Work from Home ที่คนจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญ
คำตอบคือเส้นแบ่งอันพร่าเลือนของ ‘เวลา’ และ ‘สถานที่’ เมื่อทุกอย่างกลืนเข้าหากัน ทั้งเวลาทำงานที่เกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ และสถานที่ที่เกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ แม้กระทั่งบนเตียงนอนของคุณ
ปกติมนุษย์ออฟฟิศคุ้นเคยกับเวลา 9-5 เริ่มงานเก้าโมงเช้า เลิกงานห้าโมงเย็น มันเป็นตัวเลขมาตรฐานสากลของชั่วโมงทำงานวันจันทร์ถึงศุกร์ที่รับรู้กันมาเป็นเวลานาน มนุษย์ออฟฟิศคุ้นเคยกับการตื่นแต่เช้ารีบไปทำงานในช่วงเวลาเร่งด่วน มีพื้นที่สำนักงานบังคับให้เราทำงานในคอกสี่เหลี่ยม หรือโต๊ะทำงานที่วางเรียงแถว ถึงบรรยากาศจะตึงเครียดหรือตกแต่งให้ผ่อนคลายอย่างไร มันก็คือพื้นที่ทำงาน ซึ่งพ้นชั่วโมงทำงานแล้วเราจะปิดสวิตช์การทำงาน ใช้เวลาหลังเลิกงานพักผ่อน ซึ่ง บ้าน ห้องนอน โต๊ะกินข้าว คือพื้นที่บ่งบอกการพักผ่อน
แต่พอการทำงานแบบ Work from Home ที่เบลอทั้งเรื่องเวลาและสถานที่ ทำให้เกิดความอึดอัดขึ้นมาทันที เพราะพื้นที่ที่เราเคยใช้ในการพักผ่อนปะปนกับพื้นที่การทำงาน หลายคนไม่มีสมาธิกับการทำงานที่บ้านได้เลย จากความรู้สึกถูกบุกรุกพื้นที่ส่วนตัว บางคนรู้สึกว่าตัวเองถูกลดคุณค่าลงเมื่อทำงานที่บ้าน ที่เจ้านายไม่ได้เห็นการทำงานได้ชัดเจนอย่างการนั่งอยู่ในพื้นที่เดียวกันของสำนักงาน
นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่เกี่ยวกับสภาพอากาศ ที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนเต็มรูปแบบ, การต้องอยู่ร่วมกับครอบครัวพร้อมหน้าตลอดเวลา, พื้นที่ส่วนตัวที่ถูกบุกรุกได้ง่ายจากสมาชิกในครอบครัว เช่น โดนเรียกไปกินข้าวตอนที่กำลังวิดีโอคอลสายสำคัญ, โซเชียลมีเดีย ข่าวสาร ที่เราต้องคอยอัปเดตจนเลยเถิดกินเวลาการทำงาน, กรณีที่บ้านอยู่ร่วมกันหลายคน ต่างย่อมต้องการพื้นที่การทำงานเช่นกัน, การทำงานบ้านที่ต้องเพิ่มมากขึ้น เพราะอยู่บ้านตลอดทั้งวัน, การจัดสรรเวลาที่ต้องปรับใหม่ และยังไม่คุ้นเคย ฯลฯ
หลังจากโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น และโลกกลับมาปกติอีกครั้ง เราเชื่อว่าระบบการทำงานจะปรับเปลี่ยนอย่างแน่นอน ออฟฟิศที่เคยมีทั้งตึก หรือรองรับพนักงาน 400-500 คน จะไม่จำเป็นอีกต่อไป การทำงานจากบ้านช่วยลดค่าใช้จ่ายของบริษัท อีกทั้งเทคโนโลยีต่างๆ ที่ติดตามการทำงานของพนักงานได้ไม่ยาก แอปพลิเคชันที่ตอบรับการประชุมออนไลน์ ตารางงานนัดหมายจะลดค่าใช้จ่ายของบริษัทได้มากมาย ทั้งยังบริหารจัดการเวลาได้ดีขึ้น เมื่อถึงวันนั้น เป็นไปได้ว่าวิธีการทำงานต่อไปนี้ของมนุษย์โลกจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
ปรับตัว ปรับใจ ทำงานที่บ้านอย่างไรให้ได้งาน
จากประสบการณ์การทำงานที่บ้านมาเป็นเวลานาน และด้วยตัวเนื้องานที่ทำจากที่ไหนก็ได้ ทำให้เรา ‘ผ่านพ้นจนค้นพบ’ แต่สำหรับผู้มาใหม่ที่ต้องปรับบ้านให้เป็นออฟฟิศช่วงโควิด-19 เรามีคำแนะนำ เพื่อที่จะเตรียมพร้อมรับมือการทำงานในช่วงเวลาไวรัสโคโรนาระบาด รวมถึงเริ่มปรับตัวให้เข้ากับวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ที่ ‘สำนักงาน’ ไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไป
พูดคุย ปรับทัศนคติ ร่วมมือกับที่บ้าน
กรณีที่อยู่คนเดียวคงไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าอยู่ร่วมบ้านกันหลายคน เมื่อลงเรือลำเดียวกันแล้ว ให้หันหน้ามาพูดคุย ช่วยกันวางแผน จัดพื้นที่ หรือกำหนดเวลาร่วมกัน เพื่อให้ต่างคนต่างทำงานและหน้าที่ของตัวเองได้ดีที่สุด
แบ่งพื้นที่การทำงานให้เป็นสัดส่วน
ใครที่มีปัญหาการปรับตัว ควรยังคงลักษณะการทำงานแบบออฟฟิศเอาไว้ แนะนำให้จัดบริเวณสำหรับทำงานให้ชัดเจน ถึงจะเป็นโต๊ะกินข้าวหรือโต๊ะในบ้านก็ตาม วางปฏิทินกันหลงลืมวัน โน้ตสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน เตรียมหูฟังดีๆ สักอันไว้ด้วย นี่คือสิ่งที่ทำให้เรามีสมาธิเพิ่มขึ้นเมื่อต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสียงรบกวนเยอะ และเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ พยายามอย่าให้เตียงนอนอยู่ในสายตา เพราะนั่นคือสัญลักษณ์ของการพักผ่อนที่ทำให้เราอยากล้มตัวลงไปตลอดเวลา
* แนะนำ Deep Focus Music ที่มีให้เลือกฟังมากมายใน YouTube เสียงบรรยากาศหรือดนตรีคลาสสิกที่ช่วยให้เรามีสมาธิกับการเรียนหรือการทำงานได้ดีขึ้น
ทำตารางเวลาในแต่ละวันให้ชัดเจน
ไม่ใช่แค่จัดตารางเวลาทำงาน แต่ให้จัดตารางเวลาสำหรับทั้งวันไว้เลย ตั้งแต่เวลาที่ควรตื่นในตอนเช้า เวลาออกกำลังกาย อาหารเช้า เวลาทำงาน เวลาพักกลางวัน ช่วงพักเบรก พยายามให้ใกล้เคียงกับชีวิตการทำงานปกติเพื่อให้คุ้นเคยกับตารางเวลาได้ดีขึ้น กรณีที่มีสมาชิกในบ้านหลายคน ก็ควรใช้ตารางเวลาคล้ายๆ กัน เพื่อการไม่รบกวนกันและกันในช่วงทำงาน
การทำงานที่ใช้สมาธิสูง ควรเลือกช่วงเวลาที่เรามีสมาธิสูงสุดในแต่ละวัน ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นช่วงเช้าที่ยังสดชื่นมีพลังงานเต็มที่ อาจจะจัดตารางงานสำคัญไว้ในช่วงเช้า และทำงานทั่วไปในช่วงบ่าย เป็นต้น
สัญญาณเตือนสำหรับคนรอบข้าง
การประชุมงานออนไลน์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ การตั้งสัญญาณที่รับรู้ร่วมกันกับคนในบ้านคือสิ่งที่ช่วยได้มาก ถ้าคุณไม่อยากให้คนในบ้านโผล่มาในช่วงประชุมกำลังเข้มข้น แนะนำให้ใช้กระดาษติดไว้แถวโต๊ะทำงานเพื่อบอกสถานะว่า ‘คุยได้’ ‘กำลังใช้สมาธิ’ หรือ ‘ประชุมอยู่’
ช่วงพักคือพัก คือรางวัลเล็กๆ ให้ตัวเอง
การทำงานที่บ้านมีสิ่งล่อตาล่อใจให้งานไม่เดินสูงมาก ทั้งซีรีส์ที่รอดูมานาน หนังสือกองดองที่รออ่าน ไหนจะโซเชียลมีเดียที่เพื่อนๆ ลงเมนูอาหารกันจนอยากทำเองบ้าง ดังนั้นควรเพิ่มช่วงเวลาพักเป็นรางวัลเล็กๆ ที่เราทำงานได้ตามที่ตั้งใจไว้
การพักจากการทำงานเป็นสิ่งสำคัญของการ Work from Home เพราะเมื่อพื้นที่การทำงานและการพักผ่อนอยู่ร่วมกัน สำหรับบางคนกลายเป็นบาลานซ์เสีย และรู้สึกว่าต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นช่วงพักคือการต้องพักจากการทำงานจริงๆ
* สำหรับฤดูร้อนปีนี้ ขอแนะนำช่วงเบรกตอนบ่าย 2-3 ที่อากาศกำลังร้อนระอุ ทำเมนูเครื่องดื่มเย็นๆ สร้างความสดชื่น หรือจะเป็นไอศกรีม น้ำปั่นผลไม้ ชาเย็นๆ ก็ได้
* ช่วงบ่ายแก่ๆ ที่จะมีช่วง Magic Hour แสงแดดสาดส่องสีสวย พักเบรกออกไปดูท้องฟ้า มองนอกหน้าต่างบ้าง ช่วยบำบัดจิตใจได้ดี
อาบน้ำแต่งตัวทุกวันก่อนทำงาน
การทำงานที่บ้านไม่จำเป็นต้องแต่งตัว นี่คือเรื่องจริง แต่การอาบน้ำ แต่งตัวทุกวันก่อนเริ่มทำงาน คือการสร้าง Mindset หรือวิธีคิดในการพัฒนาตัวเองได้ด้วย การอาบน้ำแต่งตัวคือการเริ่มต้นใหม่ในทุกวัน คือการสร้างความมั่นใจในตัวเอง สร้างแรงบันดาลใจ คือการบอกว่าตัวเราพร้อมแล้วสำหรับการทำงานในวันนี้ จะแต่งเต็มเท่าวันออกไปออฟฟิศก็ได้ หรือเบาลงมาหน่อยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะต้องวิดีโอคอลหรือประชุมงานออนไลน์สายสำคัญหรือเปล่า
ออกกำลังกายและการนอนหลับ
นอกจากการทำงานแล้ว อย่าลืมการออกกำลังกายเป็นประจำ และเข้านอนเวลาปกติ เก็บซีรีส์เอาไว้ดูวันเสาร์อาทิตย์ที่ควรเป็นวันพักผ่อนจริงจัง เพื่อให้กิจวัตรมีสัดส่วนของการทำงานและพักผ่อนที่เหมาะสม
Source:
Thestandard.co
https://thestandard.co/work-from-home-2/
10 ก.ย. 2564
16 ก.ย. 2564
7 ก.ย. 2564