จะพัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์อย่างไร....เมื่อนักเรียนต้องอยู่นอกรั้วโรงเรียน

Last updated: 28 พ.ค. 2563  | 

วันที่ 28 พฤษภาคม 2563 - 11:36 น.


เมื่อโรงเรียนปิดอย่างไม่มีกำหนด เพื่อรับมือวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้นักเรียนหลายสิบล้านคนทั่วโลก ต้องเผชิญกับความวุ่นวายทั้งในเรื่องของการศึกษาและชีวิตประจำวัน นักเรียนของเรายังต้องหวาดกลัวว่าไวรัสอาจจะทำให้ตัวเองหรือคนที่เขารักเจ็บป่วยได้ ดังนั้นช่วงเวลานี้ นักเรียนจำเป็นที่จะต้องมีทักษะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ในช่วงเวลานี้เอง การเรียนรู้ทักษะทางด้านสังคม และอารมณ์จึงกลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และเป็นสิ่งที่ครู และนักการศึกษาควรให้ความสนใจ อาจจะต้องมากกว่าการมุ่งหาทางออกแค่เรื่องสอนหนังสือทางไกล สอนออนไลน์อย่างเดียว

หากเครียดมาก สมองจะมุ่งแต่ต่อสู้ หลีกหนี ทำให้เรียนรู้ไม่ได้

Marc Brackett ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยเยลและผู้อำนวยการศูนย์ความฉลาดทางอารมณ์ได้กล่าวไว้ว่า “การเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์มีความสำคัญมากสำหรับจัดการกับความตึงเครียดในช่วงนี้ เพราะถ้านักเรียนไม่รู้ว่าจะรับมือกับอนาคตของตัวเอง หรือจัดการความรู้สึกที่มีต่อสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเหล่านี้อย่างไร สมองของพวกเขาก็จะอยู่ในโหมดต่อสู้หรือหลีกหนีตลอดเวลา นั่นหมายความว่าสมองของนักเรียนจะไม่ได้อยู่ในสภาพที่พร้อมเรียนรู้”

ครูจะช่วยส่งเสริมทักษะทางด้านสังคมและอารมณ์ได้อย่างไร เมื่อนักเรียนอยู่นอกโรงเรียน

มีความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ที่ช่วยสรุปว่าทักษะการเรียนรู้ทางด้านสังคมและอารมณ์คืออะไร โรงเรียนควรจะให้การส่งเสริมในเรื่องใดบ้าง และครูเองจะสามารถส่งเสริมทักษะเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง

1. เว้นระยะห่างทางความคิด

Brackett กล่าวว่า สิ่งแรกที่ควรทำคือการพยายามใช้เทคนิคที่เรียกว่า การเว้นระยะห่างทางจิตวิทยาหรือ Psychological distancing ครูสามารถช่วยให้นักเรียนหยุดคิดถึงและกังวลแต่เรื่องตัวเอง

โดยอาจจะถามว่า “ฉันควรจะทำอะไรเพื่อช่วยเหลือเพื่อนสนิทของฉัน ที่มาบอกฉันว่าพวกเขากังวลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนามากๆ ฉันควรจะพูดอะไรกับเขาดี”

คำถามนี้จะทำให้นักเรียนเริ่มคิดถึงกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้พวกเขาแสดงความเห็นอกเห็นใจกับผู้อื่น แม้ว่าจะเป็นวิธีการที่พวกเขาไม่ได้เอามาใช้กับตนเอง แต่ตัวนักเรียนเองก็จะได้ตรวจสอบสิ่งที่เขาพูดอย่างมีสติ โดยที่ไม่ได้คิดวนเวียนอยู่แต่เรื่องของตนเอง และได้ทบทวนกับตัวเองว่าการพูดแบบนี้ช่วยอะไรได้หรือไม่

2. วิธีง่ายๆ โน้ตประจำวัน ประชุมสั้นๆ กิจกรรมสนุกๆ เพื่อสัมผัสความรู้สึกซึ่งกันและกัน

Karen VansAusdal ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการของ Collaborative of Academic and Social Emotional Learning หรือ CASEL กล่าว่าเธอได้เห็นครูหลายๆ ท่านกำลังพยายามทดลองใช้กลยุทธ์ต่างๆ ในการสอนหรือผสมผสานเอาการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์เข้าไปในบทเรียนทางไกล ตัวอย่างง่ายๆ เช่น การส่งโน้ตประจำวัน หรือการจัดประชุมในช่วงเช้า เพื่อให้เกิดการรวมตัวและเปิดโอกาสในการดูแลนักเรียนเพื่อดูว่าแต่ละคนเป็นอย่างไรกันบ้าง สำหรับนักเรียนที่ยังเล็ก ครูบางท่านอาจจะใช้การอ่านหนังสือ ออกเสียงให้นักเรียนฟังผ่านการประชุมเสมือนจริง ก่อนจะชวนพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกและอารมณ์ของตัวละครในหนังสือเหล่านั้นก็ได้

ส่วนนักเรียนที่โตแล้ว ครูอาจจะถามนักเรียนว่าพวกเขาเห็นทักษะทางสังคมและอารมณ์แบบไหนบ้างในตัวผู้นำของประเทศ ผู้นำชุมชน และถามว่าทักษะเหล่านั้นจะช่วยให้ประเทศก้าวข้ามวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ไปได้อย่างไร

ทักษะทางสังคมและอารมณ์ ที่ครูควรจะเน้นย้ำให้และส่งเสริมแก่นักเรียน ได้แก่ การรู้จักตนเอง การจัดการตนเอง การตระหนักรู้ทางสังคม และการตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ

การอธิบาย และแสดงให้นักเรียนรู้ถึงที่เหตุผลว่า พวกเขาเองก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้ ถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญว่าทำไมทักษะเหล่านี้จึงกลายเป็นเรื่องจำเป็น พวกเขาก็ควรจะระวังว่าถึงแม้พวกเขาจะไม่ป่วย พวกเขาก็จะต้องล้างมือเพื่อเป็นการช่วยลดความเสี่ยงของผู้อื่น ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสในการสร้างความเข้าใจว่าการกระทำของพวกเขาและตัวเลือกต่างๆ ของพวกเขาล้วนมีผลกระทบต่อคนอื่นๆ ได้ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือการคงไว้ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัติ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ถึงแม้ว่าจะไม่มีการเรียนในชั้นเรียน แต่กิจกรรมต่างๆ ที่สำคัญ เช่น กิจกรรมส่งเสริมกำลังใจ โดยให้นักเรียนใส่ถุงเท้าแปลกๆ และถ่ายรูปมาให้เพื่อนๆ ดู ก็อาจจะช่วยได้เช่นกัน

3. กำลังใจผ่านเสียงของครูใหญ่และครู

VanAusdal ยังกล่าวอีกว่า เธอได้เห็นตัวอย่างจากครูใหญ่และครูอีกหลายท่านที่ทำวิดีโอบันทึกข้อความให้กำลังใจต่างๆ ขึ้นมาเพื่อส่งให้กับเด็กนักเรียนของพวกเขา วิธีการต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้สามารถเข้าถึงนักเรียนที่อาจจะกำลังต้องเผชิญกับปัญหาไม่สามารถติดต่อกับคนอื่นได้ อาจเป็นเพราะพวกเขาไม่มีคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตที่บ้าน เธอยังกล่าวด้วยว่า หากนักเรียนกลุ่มนี้มีโทรศัพท์มือถือ เราก็สามารถส่งข้อความในรูปแบบของวิดีโอให้พวกเขาได้

4. ระบายอารมณ์ผ่านการบันทึก การฝึกหายใจ

ผู้สร้างหลักสูตรการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์บางราย ได้นำเสนอสื่อการเรียนการสอนที่นักเรียนสามารถนำไปใช้งานได้โดยง่ายและไม่จำเป็นจะต้องมีครูหรือผู้ปกครองเข้ามาดูแล นอกจากนี้ยังมีแบบฝึกหัดที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เช่น การฝึกหายใจขั้นพื้นฐาน การเขียนบันทึก เหล่านี้ล้วนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ครูสามารถช่วยนักเรียนได้ในทันที การเขียนบันทึกเป็นอีกทางออกที่ให้นักเรียนได้แสดงอารมณ์ออกมา และอาจกลายเป็นเรื่องที่น่าจดจำอีกเรื่อง เมื่อพวกเขาโตขึ้นด้วยและมองย้อนกลับมา

5. รับข่าวสารอย่างมีสติ ไม่มากเกินไป

แม้ว่าการพูดคุยกับนักเรียนถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ควรระวังไม่ให้นักเรียนต้องรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคระบาดนี้จนมากเกินไป ตัวครูเองจะต้องให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ และแนะนำผู้ปกครองว่าไม่ควรจะเปิดข่าวในบ้านตลอดทั้งวัน ที่สำคัญครูเองก็ต้องคิดอยู่เสมอด้วยว่า สถานการณ์และการรับมืออาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

ในการก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยปกติไม่ว่าจะเป็นเด็กและผู้ใหญ่ ก็รู้สึกจำเป็นต้องเชื่อมโยง ผูกพัน และสร้างกำลังใจให้กันและกัน แต่ในเวลาของการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้เราไม่สามารถเชื่อมโยงได้เหมือนเดิม หมายความว่าเรามีเครื่องมือเพื่อรับมือกับความเครียดในสถานการณ์เหล่านี้น้อยลง ดังนั้นทักษะทางสังคมและอารมณ์ จึงยิ่งเป็นเรื่องจำเป็น ครูจะต้องช่วยให้นักเรียนของเราผ่านพ้นวิกฤตการณ์และเติบโตทั้งทางอารมณ์และสังคมได้ต่อไป



Source :

Educathai 

https://www.educathai.com/knowledge/articles/346