เมื่อการร้องไห้ออกมาบ้างอาจไม่เป็นไร แต่ละคนรับมืออย่างไรเมื่อน้ำตารินไหลในที่ทำงาน?

Last updated: 8 มิ.ย. 2563  | 

วันที่ 08 มิถุนายน 2563 - 15:08 น.


แปดชั่วโมงแห่งการทำงาน นอกจากต้องจัดการเอกสารและภาระงานตรงหน้า บางครั้งยังต้องรับมือกับภาวะทางอารมณ์ที่เกิดจากปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะทำงานผิดพลาด เจ้านายด่า ลูกค้าบ่น ไม่วายวิ่งออกไปร้องไห้ในห้องน้ำ แล้วกลับมาพร้อมกับตาที่บวมปูด
 

ทุกคนรู้ มนุษย์วัยทำงานรู้ ใครๆ ก็เคยร้องไห้ในที่ทำงานทั้งนั้น เพราะไม่ว่าเราพยายามปกปิดมากแค่ไหน แต่สุดท้ายก็ดูเหมือนน้ำตาจะไม่เชื่อฟัง พร้อมไหลออกมาตลอดเวลา จนทำให้ห้องน้ำ ระเบียง และบันไดหนีไฟกลายเป็นพื้นที่รองรับความรู้สึกอันท่วมท้นเหล่านั้น

แต่ทุกวันนี้ เรามองว่าการร้องไห้ในที่ทำงานกลายเป็นเรื่องทั่วไปที่ใครก็ทำกัน หรือยังคงเป็นพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความไม่มืออาชีพในการทำงานอยู่?


น้ำตาในที่ทำงานและการยอมรับ

โชคดีที่สมัยนี้ การร้องไห้และน้ำตาถูกตีความไปในทางที่ดีขึ้น เพราะนอกจากจะไม่ใช่การแสดงความอ่อนแอ แต่ยังเป็นวิธีบรรเทาความเครียดที่ดูจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการหัวเราะเสียด้วยซ้ำ ถึงขั้นที่ว่าบริษัทหลายแห่งในประเทศญี่ปุ่น มีการกระตุ้นให้พนักงานของพวกเขาร้องไห้ออกมา ผ่านบริการที่เรียกว่า ‘A Handsome Crying Boy’ ที่ให้หนุ่มหล่อมาเช็ดน้ำตาให้พนักงานออฟฟิศ เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานให้คุ้นเคยกับการแสดงออกความรู้สึกในที่สาธารณะมากขึ้น หรือประเทศสหรัฐอเมริกา ที่สร้าง ‘ห้องร้องไห้’ ให้กับนักศึกษา เพื่อที่พวกเขาจะได้ปลดปล่อยความเครียด ความกดดันจากการเรียนและการสอบ

นอกจากนี้ยังมีโปรเจกต์อื่นๆ ที่สนับสนุนการร้องไห้ในที่ทำงาน อย่างเวิร์กช็อปของ ฮิโรกิ เทไร (Hiroki Terai) ที่มองว่าการร้องไห้ช่วยให้บรรยากาศการทำงานมีความเป็นทีมเวิร์กมากขึ้น โดยให้ ‘ผู้ชายร้องไห้’ เป็นคนนำการเวิร์กช้อป เนื่องจากเขาต้องการผลักดันน้ำตาของผู้ชายกลายเป็นที่ยอมรับในกระแสหลักมากขึ้นด้วยเช่นกัน

“ผมอยากให้คนญี่ปุ่นร้องไห้ออกมาบ้าง ไม่ใช่แค่ร้องที่บ้าน แต่สามารถร้องในที่ทำงานได้ด้วย เพราะผมมองว่าหลังจากที่เราร้องไห้ หรือปล่อยให้คนอื่นๆ ได้เห็นมุมอ่อนแอของเราบ้าง น่าจะทำให้เราเข้ากับพวกเขาได้ง่ายขึ้น และช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานให้เป็นทีมได้อีกด้วย” ฮิโรกิกล่าว


หันกลับมาพูดคุยกับคนใกล้ตัว ว่าพวกเขาร้องไห้ในที่ทำงานกันบ่อยแค่ไหน และอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขากลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ก็มีผสมปนเปกันไประหว่างความเครียด ความกดดันเรื่องงาน และปัญหาส่วนตัว

เมื่อได้พูดคุยกับอดีตพิสูจน์อักษร วัย 26 ปี คนหนึ่ง ด้วยลักษณะทำงานที่บังคับให้เธอต้องรอบคอบและพิถีพิถัน แต่เมื่อวันหนึ่งการทำงานเกิดผิดพลาด เธอจัดการกับความเครียดตรงนั้นอย่างไรบ้าง ก็ได้คำตอบกลับมาว่า

“มันเป็นครั้งที่รุนแรงมากๆ ในฐานะพิสูจน์อักษร เพราะตอนนั้นเราปล่อยให้มีจุดผิดพลาดที่เห็นได้ชัดหลุดออกไป ซึ่งถ้าจะบอกอย่างแก้ตัวก็คือตอนนั้นเรายังมือใหม่ ประกอบกับงานชิ้นนั้นเป็นงานแรกที่เราต้องรับผิดชอบคนเดียว แต่ด้วยท่าทีของหัวหน้าที่ดูตึงๆ ไหนจะความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เราเลยรู้สึกเสียใจ ก็เลยเดินออกไปร้องไห้เงียบๆ คนเดียวที่มุมหนึ่งในออฟฟิศ”

นอกจากเรื่องงาน การแบกสภาพจิตใจที่ชีช้ำด้วยเรื่องอื่นๆ มาออฟฟิศ ก็ทำให้น้ำตาสามารถทะลักออกมาได้เช่นกัน บางวันเราอาจมีเรื่องทะเลาะกับแฟน เจอปัญหาครอบครัว สัตว์เลี้ยงตาย ซึ่งเป็นวันที่หนักหนาเกินจะรับมือ

“ก็มีร้องไห้เรื่องงานบ้าง แต่หลายครั้งเพื่อนร่วมงานจะเข้าใจว่าเรากำลังเจออะไรอยู่ เค้าก็เดินมาปลอบ แต่เราจะบอกว่า อย่าปลอบนะ เดี๋ยวเราจะยิ่งร้อง ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าจะร้อง เราร้องด้วยเรื่องส่วนตัวมากกว่า เพราะเรื่องงานยังมีลิมิตอยู่ บางทีเราอาจจะเครียดเกินไป กดดันเกินไป แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว เราทำไงได้ล่ะ เช่น เฮิร์ตๆ อยู่ แต่ก็ต้องมาทำงาน ต้องดำเนินชีวิตต่อ บางทีมันก็เก็บไว้ไม่ไหว

เซฟโซนเวลาร้องไห้ของเราคือห้องน้ำ เพราะมันจะเงียบๆ มีทิชชู่พร้อม แล้วก็มีบ้างในที่ทำงานเก่าที่มีฉากกั้นโต๊ะ ด้วยความที่เรานั่งอยู่มุมห้อง ก็เลยค่อนข้างที่จะส่วนตัว บางวันทำงานเหมือนปกติ แต่น้ำตาหยดแปะๆ อยู่ก็มี” บรรณาธิการฝ่ายดิจิทัล วัย 34 ปี เล่าให้ฟัง



แต่ถึงอย่างนั้น บางคนก็ยังรู้สึกผิดกับการร้องไห้ในที่ทำงาน เพราะรู้สึกว่าบริษัทไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยในการปลดปล่อยความเศร้า มิหนำซ้ำ วัฒนธรรมการร้องไห้ยังไม่กลายเป็นที่ยอมรับ อย่างผู้จัดการกองถ่าย วัย 24 ปี คนนี้

“เรารู้สึกแย่กับตัวเองมากเวลาร้องไห้ และไม่สะดวกใจที่จะระบายอะไรออกมา เพราะเราเป็นน้องเล็ก คนอื่นๆ อายุ 30 ปีขึ้นไปกันหมด กลัวว่าเขาจะไม่เข้าใจ หาว่าเราไม่ทน หรืออ่อนไหวเกินไป ทำให้เราชอบร้องไห้คนเดียว เพราะมีครั้งนึงเม่นที่เราเลี้ยงตาย ตอนนั้นใจเราพังไปหมด แต่พี่ๆ ที่ทำงานบอกว่าเรื่องแค่นี้เอง ซื้อใหม่เลี้ยงใหม่ก็ได้ ซึ่งเป็นคำที่เราไม่โอเคมากๆ แต่ละคนมีเรื่องที่บีบคั้นต่างกัน มันวัดค่าความรู้สึกกันไม่ได้”

ทำให้เห็นว่ามีบางปัจจัยที่ทำให้การร้องไห้ในที่ทำงานยังคงเป็นเรื่องต้องห้าม หรือบางคนยังคงมีมุมมองเกี่ยวกับการร้องไห้ที่ไม่ดี อาจจะด้วยวัฒนธรรมองค์กร หรือความแตกต่างระหว่างวัย แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง การร้องไห้ถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่เลี่ยงไม่ได้พอๆ กับการหัวเราะ บรรณาธิการดิจิทัล วัย 34 ปี ได้ให้ความเห็นว่า

“เรามองว่าการร้องไห้ในที่ทำงานเป็นเรื่องโอเค ตราบใดที่ไม่ได้ฟูมฟายหรือดราม่าขนาดที่สร้างซีน เรียกความสนใจหนัก มันก็คือความเป็นมนุษย์ มันเป็นเรื่องปกติที่เราจะร้องไห้ เราซับน้ำตาเสร็จ เราก็ไปทำงานต่อ the show must go on 

ตอบจบใหม่แล้วเข้ามาทำงานช่วงแรกๆ จำได้ว่าเราเคยไปร้องไห้ที่ลานจอดรถออฟฟิศ เป็นเรื่องที่โง่มาก ด้วยความที่เรายังอ่อนต่อโลก แต่มันก็คือการระบายอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องผิด ฉะนั้น การร้องเป็นเรื่องโอเค ขึ้นอยู่กับเราจะรับมือยังไง เรามีวิธีจัดการความเศร้าไม่เหมือนกัน สุดท้ายเมื่อโตขึ้น เราจะหาทางที่ครีเอทีฟขึ้นในการระบาย อย่างการวาดรูป ออกไปดื่มสังสรรค์ แต่ละคนก็จะหาทางจัดการความเศร้ากับความเครียดที่แตกต่างกัน ซึ่งโตขึ้นเราจะรู้เองว่าอะไรดีกับเรา”

 

รับมืออย่างไรในวันที่ร้องไห้ในที่ทำงาน

“เคยปลอบเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง ตอนนั้นสัตว์เลี้ยงเค้าตาย สิ่งที่เราทำได้ก็คือเดินเข้าไปลูบหลัง บีบไหล่ หยิบทิชชู่มาให้แบบเงียบๆ ไม่ได้ทำให้เป็นจุดสนใจ เพราะเรารู้ว่าเค้าก็คงอยู่ในมุมที่ต้องจัดการน้ำตาตัวเอง เลยปล่อยให้เค้าอยู่เงียบๆ สักพัก” บรรณาธิการดิจิทัลคนเดิมกล่าว

เมื่อเราเสียน้ำตากันในที่ทำงานเป็นปกติ และดูเหมือนคำปลอบใจของคนสมัยนี้จะเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อนอย่างเห็นได้ชัด เดิมเราอาจบอกกับใครหลายคนว่า “อย่าร้องไห้สิ ฮึบไว้” แต่ดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์อะไร เพราะสุดท้ายไม่ช้าก็เร็ว น้ำตานั้นก็ไหลอยู่ดี ทำให้หลายคนเลือกที่จะพูดคำว่า “ร้องออกมาเลย ร้องให้พอ” และเมื่อคนฟังได้ยิน ก็รู้สึกสบายใจที่จะร้องไห้กันมากขึ้น



แต่ปัญหาที่ตามมาคือเรามักจะ ‘รู้สึกผิด’ หลังร้องไห้ เพราะคิดว่าตัวเองเป็นต้นเหตุของการทำลายบรรยากาศในที่ทำงาน แต่การพูดขอโทษ อาจตอกย้ำว่าน้ำตาเป็นสิ่งต้องห้าม และทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกจมกว่าเดิม ซึ่งถ้าหากเราต้องการกู้บรรยากาศดีๆ กลับคืนมา สามารถเปลี่ยนไปพูดคำอื่น อย่างเช่น “ขอบคุณที่เป็นห่วง” หรือ “ขอบคุณที่ปล่อยให้เราได้ระบายออกมา” เพียงเท่านี้ก็น่าจะลดความอึดอัดในตัวทั้งสองฝ่ายลงได้

ท้ายที่สุด แม้ใครก็ตามจะบอกว่าการร้องไห้ไม่ได้ทำลายความเป็นมืออาชีพของเราก็ตาม แต่ความจริงเราควรรู้ได้ด้วยตัวเองมากกว่า ว่ามันไม่เคยทำลายอะไรเลยตั้งแต่แรก การเก็บไว้ไม่ปล่อยออกมาต่างหาก ที่จะค่อยๆ กัดกินข้างในจิตใจ จนวันหนึ่งเรารับมือกับมันไม่ทันและกระทบกับหน้าที่การงานในที่สุด เพราะบางครั้ง ความเป็นมืออาชีพและวุฒิภาวะก็มาในรูปแบบการรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง และตอบสนองภาวะทางอารมณ์นั้นแบบถูกวิธี

ลองให้เวลาตัวเองรับมือกับความเครียดนั้นสักพัก แล้วค่อยกลับมาเผชิญความรับผิดชอบตรงหน้าอย่างมืออาชีพ อย่าลืมว่าเราคือมนุษย์วัยทำงาน ไม่ใช่ AI ที่ไร้ความรู้สึก

การร้องไห้เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นจากอะไร หรือเกิดขึ้นที่ไหน เพราะการร้องไห้ไม่ใช่ความอ่อนแอ แต่หมายถึงการที่เราเข้มแข็งมากพอจะยอมรับความรู้สึกของตัวเอง และรู้จักระบายมันออกมาได้อย่างซื่อสัตย์ต่างหากล่ะ



Source :

The matter

https://thematter.co/social/is-crying-at-work-okay/113643