Last updated: 10 มิ.ย. 2563 |
วันที่ 10 มิถุนายน 2563 - 15:06 น.
อาชีพรับจ้างอิสระหรือ gig economy กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้คนสมัยใหม่ โดยเฉพาะมิลเลนเนียล มีนิสัยชอบทำงานที่มีความยืดหยุ่น ไม่ยึดติดกับเวลา สถานที่ หรือระบบขององค์กร ทำให้พวกเขาเริ่มทำงานประจำกันน้อยลง และหันมาประกอบอาชีพที่เราเรียกติดปากว่า ‘ฟรีแลนซ์’ (freelance) กันมากขึ้น
และจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ก็ดูเหมือนว่าจะทำให้หลายคนผันตัวมารับจ้างอิสระกันมากกว่าเดิม อาจด้วยการที่สูญเสียงานประจำไปในช่วงล็อกดาวน์ หรือบางคนมีงานประจำอยู่แล้ว แต่ก็อยากหาลู่ทางใหม่ๆ สำรองไว้ เผื่อเจอเหตุการณ์วิกฤตอีกในอนาคต ซึ่งสายอาชีพที่มีงานในลักษณะนี้ ส่วนใหญ่จะเห็นว่าเป็น ‘สายผลิต’ หรือ ‘สายสร้างสรรค์’ ซะส่วนใหญ่ เช่น นักเขียน นักแปล นักวาดภาพประกอบ ช่างภาพ และช่างตัดต่อ
เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นอาชีพรับจ้างอิสระ นั่นก็หมายถึงการมี ‘อิสระ’ ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับงาน จำนวนชิ้น สโคปของงาน ขั้นตอนการทำ ไปจนถึง ‘การตั้งราคา’ ด้วยตัวเอง ซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะในหมู่คนที่เรียนจบใหม่และคนที่เพิ่งเข้าสู่ตลาด ที่ยังไม่รู้เกณฑ์การตั้งราคาที่แน่ชัดให้กับผลงาน และเพราะอาชีพรับจ้างอิสระไม่มีค่าแรงขั้นต่ำหรือขั้นสูงกำหนดไว้ ทำให้การคิดราคาบางครั้งอาจทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าผู้จ้าง ผู้รับจ้าง หรือคนในแวดวงฟรีแลนซ์ด้วยกันเอง เกิดความเสียเปรียบขึ้นได้
ฟรีแลนซ์รุ่นเก่า-ใหม่ คิดราคายังไงให้แฟร์?
จากการพูดคุยกับฟรีแลนซ์ในสายอาชีพต่างๆ พบว่า เมื่อไม่มีประสบการณ์ในการตั้งราคา ฟรีแลนซ์หน้าใหม่มักจะอิงจากราคาส่วนใหญ่ที่พบในตลาดเป็นหลัก หรือที่เรียกกันว่า ‘ราคากลาง’ หรือสอบถามจากผู้ที่มีประสบการณ์ในสายงานเดียวกัน
“เราเทียบเคียงกับของเพื่อน เพื่อนเราคนนึงรับงานฟรีแลนซ์เยอะมาก เราก็เลยถามว่าต้องตั้งประมาณไหน แล้วก็เทียบกับราคาตลาดอีกทีว่าเป็นราคาที่คุ้มมั้ย สามารถลดหรือเพิ่มได้มากกว่านี้หรือเปล่า” นักเขียนคนหนึ่งที่เพิ่งเข้าตลาดฟรีแลนซ์เล่าให้ฟัง
ในฝั่งของนักตัดต่อวิดีโอที่เพิ่งจบใหม่ ก็ให้ความเห็นแบบเดียวกัน เขาบอกว่าราคาที่เขาตั้งในปัจจุบัน เขาอ้างอิงจากราคาที่เคยเห็น บวกกับดูว่าบริษัทที่เขาทำงานประจำมีการคิดราคาให้กับลูกค้ายังไง แล้วนำราคานั้นมาบวกลบในการรับงานอิสระอีกที
จะเห็นได้ว่าฟรีแลนซ์หน้าใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ตั้งราคา จะมีการเซฟตัวเองด้วยการอิงจากราคาที่เคยมีมาก่อนหน้า จากนั้นก็ประเมินจากประสบการณ์ ฝีมือ ผลงาน หรือต้นทุนของตัวเองอีกที ว่าควรจะปรับขึ้นหรือปรับลงกว่านี้ได้อีกมั้ย
แต่ราคาที่มีอยู่แล้วนั้นมาจากไหน? ฟรีแลนซ์ที่มีประสบการณ์ดีลราคากับลูกค้ามานาน อาจให้คำตอบในเรื่องนี้ได้
พิชญา โชนะโต นักออกแบบและครีเอทีฟไดเรกเตอร์ที่บริษัท Punch Up กล่าวในฐานะที่เธอเป็นทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างว่า “ส่วนมากในไทยจะกะราคาแบบคงที่หรือ flat rate แต่ที่เมืองนอกจะใช้วิธีคิดเป็นชั่วโมง เพราะมีความแม่นยำกว่า แต่วิธีคิดเป็นชั่วโมงจะยากตรงที่บางงานเรายังไม่รู้ว่าต้องใช้เวลากี่โมง ฉะนั้นตีราคากันเป็นเลขกลมๆ จึงง่ายกว่า
ส่วนตัวเราคิดว่าประเมินในหัวว่างานนี้ทำนานแค่ไหน ใช้เวลากี่วันกี่ชั่วโมง แล้วก็เสนอราคาไปโดยบอกเป็น range ว่าไม่มากไม่น้อยกว่านี้ ถ้าเขารับได้ก็โอเค แต่มันก็แล้วแต่อุตสาหกรรมด้วย ถ้าเป็นนักออกแบบปก ภาพประกอบบทความ อัลบั้มรูป บางทีก็มีราคาที่ตีมาแล้ว ไม่แน่ใจว่าประสบการณ์หรือแนวการวาดมีผลต่อราคามั้ย ซึ่งจริงๆ ควรมี”
และอีกวิธีที่มักจะมีคนแนะนำมานั่นก็คือ หาจากฐานเงินเดือนที่เราต้องการ โดยประเมินคร่าวๆ ว่าเดือนนึงเราต้องการเงินมากน้อยแค่ไหน จากนั้นก็เอามาหารชั่วโมงที่เราทำงานอีกที
“ลองหาเรทเงินเดือนหรือดูที่ประสบการณ์การทำงานประเภทนั้น แล้วหารชั่วโมง ดูว่า 30 วัน ไม่รวมวันเสาร์และอาทิตย์ เราทำงาน 8 ชั่วโมง เราควรได้เงินชั่วโมงละเท่าไหร่ บวกเปอร์เซ็นต์ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ ร่วมด้วย รวมๆ แก้งานแล้วยังยิ้มได้ก็น่าจะโอเค” มนวดี ศิริเปรมฤดี กราฟิกดีไซน์เนอร์และดีไซน์เมเนเจอร์ท่านหนึ่งที่มีประสบการณ์ดีลงานกับฟรีแลนซ์มากว่า 10 ปี แนะนำถึงวิธีการตั้งราคาแบบที่คนส่วนใหญ่ใช้กัน
อย่างไรก็ตาม คุณมนวดีได้เพิ่มเติมว่าวิธีนี้อาจใช้ไม่ได้กับทุกสายอาชีพ เช่น ช่างถ่ายภาพ ที่อาจคิดราคาเป็นช็อต อาจมีเรื่องค่าเช่าสตู ระยะเวลาเต็มวันหรือครึ่งวันเข้ามาเกี่ยว แต่โดยหลักๆ แล้ว เกือบทุกอาชีพจะมีค่าเฉลี่ยราคาโดยคิดจากวิธีดังกล่าว
แต่ถึงอย่างนั้น การลดหรือเพิ่มราคาก็สามารถเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับลูกค้าและสเกลงานที่เรารับ ถ้าลูกค้ามีงบประมาณน้อย ก็ดูว่าเราช่วยอะไรเขาได้บ้าง เพื่อเซฟค่าใช้จ่ายให้เขาในระดับนึง หรือถ้าเรามองว่างานนั้นเป็นงานน่าสนุก ก็อยู่ที่ตัวเราเอง ว่าเราเต็มใจทำงานมากน้อยแค่ไหนในงบประมาณนั้นๆ ในทางกลับกัน ถ้าเรามองว่าเป็นงานที่ต้องใช้ความพยายามมากเป็นพิเศษ หรือเป็นงานเร่งด่วนที่ทำให้เราใช้เวลามากขึ้นก็อาจจะมีการปรับเพิ่มราคาได้
พิชญายังช่วยเสริมอีกว่า ความยืดหยุ่นของการคิดราคาเกิดขึ้นได้เสมอขึ้นอยู่กับงานแต่ละชิ้น “มันเป็นเรื่องของเวลาด้วย ถ้าเป็นงานเร่ง เราก็จะมีการเพิ่มราคา หรืองานไหนที่ดูน่าเบื่อมาก ทำแล้ววิญญาณต้องหายไปจากร่างแน่เลย เราก็คิดแพง ถ้าเขายอมจ่ายเราก็อาจทำก็ได้ ถ้าเขาไม่ยอมก็ไม่เป็นไร หรือมีคอนดิชั่นอื่นๆ เช่น จำนวนของงาน ถ้างาน 1 ชิ้นเราคิดราคานึง แต่ถ้าเขาให้เราเขียนอีก 20 ชิ้นที่คล้ายๆ กัน หรือว่ามีงานให้ทุกสัปดาห์ ก็คงลดราคาลงได้”
ต้นทุนที่ต่าง สิ่งที่ทำให้ราคาของแต่ละคนไม่เท่ากัน
“ทุกครั้งที่เริ่มงาน เราเสียเวลาเข้าไปในกระบวนการการจัดการต่างๆ ของโปรเจกต์ ไม่ว่าจะเป็นการรับบรีฟ การทำความเข้าใจปัญหาหรือประเด็นของลูกค้า พวกนี้เราไม่ได้ตีออกมาเป็นเลข แต่มันเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งถ้าทำงานกับคนเดิม ก็อาจจะลดภาระการทำความเข้าใจในระบบนี้ไป ก็นำไปสู่การลดราคาลงได้” คุณพิชญากล่าว
เบื้องหลังการตีราคาของผลงาน มีต้นทุนที่เรามองไม่เห็นแฝงเอาไว้ และต้นทุนเหล่านี้เอง จึงทำให้การคิดราคาของแต่ละคนไม่สามารถตีออกมาได้ในตัวเลขที่เท่ากัน เนื่องจากค่าอุปกรณ์ที่ใช้ ค่าเล่าเรียน ค่าความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคนมีความแตกต่าง บางคนใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพดี เขาก็ต้องการที่จะถอนทุนคืนจากสิ่งที่เขาลงทุนไป
ยกตัวอย่างอาชีพที่ต้องใช้โปรแกรม ถ้าเป็นงานประจำ บริษัทอาจออกค่าซอฟต์แวร์หรือค่าอุปกรณ์ให้ อีกทั้งยังไม่ต้องเสียค่าเช่าสำนักงาน แต่เมื่อเป็นรับจ้างอิสระ ฟรีแลนซ์จำเป็นจะต้องนำค่าซอฟต์แวร์ ค่าแล็ปท็อป ค่าสถานที่ ซึ่งรวมไปถึงค่าน้ำ ค่าไฟ นำมาคิดในราคาจ้างนั้นด้วย
ฉะนั้น ราคาค่าจ้างของฟรีแลนซ์จึงมีความยืดหยุ่นและไม่ตายตัว ทำให้พวกเขาสามารถปรับขึ้นปรับลงได้ตามโอกาส ต้นทุน และประสบการณ์
นอกจากนี้ อีกสิ่งสำคัญสำหรับอาชีพที่ไม่มี Account Executive มาบริหารงานลูกค้าให้อย่างฟรีแลนซ์ต้องตระหนัก นั่นก็คือการทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ผลิตงานและผู้บริหารบัญชีด้วยตัวเอง หรือเรียกว่าการ ‘วางบิล’ ที่เปรียบเสมือนสัญญา ข้อตกลง และหลักฐานการว่าจ้างงานแต่ละครั้ง โดยบางครั้งอาจมีการให้ผู้จ้างเซ็นยินยอมจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าก่อน 50% และค่อยจ่ายอีกครั้งหลังเมื่องานจบ
โดยการวางบิลจะเริ่มจากคำนวณต้นทุนและประเมินค่าใช้จ่ายคร่าวๆ ลงใน ‘ใบเสนอราคา’ (quotation) ซึ่งในนั้นจะประกอบไปด้วยรายละเอียดสัญญาการว่าจ้างต่างๆ เช่น ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี งวดจ่ายเงิน ข้อตกลงเรื่องกระบวนการแก้งาน หน้าที่ความรับผิดชอบ ราคา ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในงาน ระยะเวลาการวางบิล สิทธิ์ในการนำงานไปใช้ เป็นต้น และจำเป็นอย่างมากที่ผู้จ้างและผู้ว่าจ้างจะต้องรับรู้สิ่งที่อยู่ในใบเสนอราคาร่วมกัน
“ใบเสนอราคาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการว่าจ้างแต่ละครั้ง โดยจะต้องเขียนหมายเหตุต่างๆ เอาไว้ให้แน่ชัด ว่างานของเรานั้นครอบคลุมหน้าที่อะไร รวมหรือไม่รวมอะไรบ้าง เช่น งานนี้ไม่รวมการรีทัชภาพ งานนี้ไม่รวมภาพประกอบ เป็นต้น เพื่อที่จะได้ไม่เกิดความเข้าใจผิดและเกิดความเสียหายได้ในภายหลัง” คุณมนวดีย้ำ
การตัดราคาในวงการฟรีแลนซ์
เมื่อตลาดฟรีแลนซ์เริ่มขยายใหญ่มากยิ่งขึ้น การแข่งขันก็สูงขึ้นตามมา แต่ด้วยความที่อาชีพนี้ไม่มีค่าจ้างขั้นสูงหรือขั้นต่ำ จึงทำให้มีบางคนยอม ‘หั่นราคา’ ตัวเองลง เพื่อให้ได้ราคาที่ลูกค้าพึงพอใจจนยอมที่จะใช้บริการ โดยเฉพาะในช่วงนี้ ที่บริษัทใหญ่ๆ ลดการจ้างงานของฟรีแลนซ์ลง เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในองค์กร อันเนื่องมาจากสถานการณ์โรคระบาดที่ส่งผลให้หลายธุรกิจทั่วโลกขาดทุน
แต่การหั่นราคาอาจส่งผลกระทบต่อผู้อื่นในวงการฟรีแลนซ์ หรือที่เรียกว่าการ ‘ตัดราคา’ เช่น สมมติเดิมทีภาพวาดหนึ่งรูปมีราคาตลาดอยู่ 1000 บาท แต่วันหนึ่งจู่ๆ มีคนโผล่มาเสนอวาดภาพด้วยราคาเพียง 100 บาท โดยที่คุณภาพอาจไม่ได้แตกต่างกันมากเท่าไหร่นัก เมื่อลูกค้าเห็นจึงแห่กันไปใช้บริการภาพวาด 100 บาทกันมากขึ้น ทำให้นักวาดคนอื่นๆ ที่เหลือเสียลูกค้าไป และอาจจะต้องลดราคาของตัวเองลงตามกลไลตลาด ซึ่งไม่คุ้มกับต้นทุนของพวกเขา
“ช่วงนี้ตลาดไม่เอื้อต่อคนทำงาน เพราะงานหายาก คนเลยแข่งกันตั้งราคาถูก แต่เราอย่าไปแข่งตลาดเขา เพื่อนเราคนนึงก็ผันตัวเองไปเป็นศิลปิน ไม่รับงานภาพประกอบบทความที่ราคาถูกเลย แต่บางคนก็จำใจยอมแหละ ถ้าสมมติราคาถูก แต่งานนั้นไม่ยากเกินหรือสามารถทำเสร็จได้ไว เขาก็รับ” พิชญากล่าว “วิธีแก้ปัญหาในอุดมคติก็คือ ‘สร้างแบรนด์ของตัวเอง’ หรือหาความเฉพาะ ความพิเศษบางอย่างเพื่อดึงลูกค้า แต่อะไรพวกนี้ก็ต้องมีต้นทุนอยู่ดี ถ้าไปบอกแบบนี้กับคนที่ไม่มีทางเลือก เขาก็อาจจะไม่เห็นด้วย”
อีกหนึ่งความเห็นจากกราฟิกดีไซเนอร์ที่ไม่ขอระบุนาม เธอได้ให้ความเห็นในเชิงเดียวกัน ซึ่งเธอมองว่าการตัดราคาไม่ใช่ปัญหา เพราะความแตกต่างจะทำให้ลูกค้าเลือกใช้บริการคนๆ นั้นเอง
“ส่วนใหญ่คนที่เข้ามาจ้างเรา นั่นเป็นเพราะเขาชอบงานเรา หรือสไตล์งานเราเข้ากับแบรนด์ของเขา เพราะฉะนั้นเราเลยจะทำตัวเองให้แตกต่างจากคนอื่น หรือเพิ่มสกิลบางอย่างเข้าไป เช่น เราวางเลย์เอาท์ได้นะ เพราะส่วนใหญ่จะมีแต่รับจ้างวาดภาพเฉยๆ ไม่มีวางเลย์เอาท์ เราเลยรู้สึกว่าเราอยู่อีกตลาดนึง”
ในด้านของมนวดี เราได้ถามไปเพิ่มเติมว่า ในอนาคตควรมีการจัดตั้งสมาคมหรือหน่วยงานเพื่อควบคุม หรือแก้ไขปัญหาการตัดราคาที่เกิดขึ้นหรือไม่ เธอก็ได้ให้คำตอบกลับมาว่า
“เราคิดว่าไม่จำเป็นนะ ถ้าคิดราคาสูงเกินไม่สมกับคุณภาพของงาน ดีไซนเนอร์จะอยู่ไม่ไหวเอง แต่ถ้าถูกเกินไป ดีไซนเนอร์ก็จะแย่อีกเหมือนกัน”
“หรือแม้กระทั่งการลดราคาแบบครึ่งต่อครึ่ง ลูกค้าขอต่อราคาเท่าไหร่ก็ให้เท่านั้น มันเป็นการลดคุณค่างานตนเอง ก่อนอื่นเราต้องมั่นใจในคุณภาพงานของตน คิดคำนวนแล้วเราอยู่ได้ มีความสุขใจที่จะทำงานร่วมกัน หรือบางครั้งก็รับงานที่อยากทำโดยที่ไม่มีค่าจ้างเลย
เพราะสุดท้ายมันขึ้นอยู่กับการให้คุณค่าทางการออกแบบของผู้จ้างและผู้ถูกจ้าง ตามเหตุผลความจำเป็นของแต่ละฝ่าย ส่วนราคาก็เป็นเพียงความพึงพอใจระหว่างผู้จ้างและผู้ถูกจ้างตามมา”
วิธีการตั้งราคาของฟรีแลนซ์ก็ยังคงเป็นเรื่องที่หาคำตอบตายตัวไม่ได้ และไม่แน่ว่าในอนาคตอาจเกิดมาตรฐานราคาใหม่ๆ ซึ่งอาจจะมากขึ้นหรือน้อยลง แต่ท้ายที่สุดแล้ว การจ้างงานของฟรีแลนซ์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้จ้างและผู้ถูกจ้าง ‘แฮปปี้’ ทั้งสองฝ่ายอยู่ดี
Source :
The matter
https://thematter.co/social/how-freelances-calculate-their-rates/112137
16 ก.ย. 2564
7 ก.ย. 2564
10 ก.ย. 2564