เพื่อนต้องไม่ทิ้งกัน? ทำไมเราถึงรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อเพื่อนไปสนิทกับคนอื่น

Last updated: 22 มิ.ย. 2563  | 

วันที่ 22 มิถุนายน 2563 - 13:41 น.


บางครั้งมิตรภาพก็ทำให้เราเจ็บปวดได้ราวกับถูกหักอก โดยเฉพาะตอนที่กำลังไถหน้าฟีดเฟซบุ๊กหรือเลื่อนดูสตอรี่ไอจี แล้วดันไปพบว่าเพื่อนคนสนิทที่มักจะแฮงก์เอาท์ด้วยกันบ่อยๆ เพิ่งลงรูปไปกินข้าว ดูหนัง ช้อปปิ้งกับเพื่อนกลุ่มอื่นที่เราไม่รู้จัก หลังจากนั้นก็รู้สึกโหวงแปลกๆ ความรู้สึกนี้มันคืออะไรกัน?
 

“เธอจะไปสนิทกับคนอื่นไม่ได้นอกจากฉัน”

เคยรู้สึกมั้ยว่าคนคนนี้หรือคนกลุ่มนี้เป็นเพื่อนสนิทของเราได้เพียงคนเดียวเท่านั้น พวกเราจะต้องไปไหนมาไหนด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน ดูหนังด้วยกัน ทำอะไรหลายๆ อย่างด้วยกัน และจะรู้สึกเหมือนถูกหักหลังมากๆ เวลารู้ว่าเขาไปใช้เวลากับคนอื่นที่ไม่ใช่เรา

หรือพูดแบบไม่เคอะเขินเลยก็คือ ‘หวง’ เขานั่นแหละ

ความรู้สึกนี้ไม่ใช่ความรู้สึกที่ไม่ดีหรือเกิดจากความประสงค์ร้ายหรอก เพราะลึกๆ อาการอิจฉาหรือหวงแหนนั้นเต็มไปด้วยเป็นความรู้สึกเชิงลบที่ค่อนข้างจะซับซ้อนพอสมควร ทั้งความเศร้า ความน้อยใจ ความโกรธ และความวิตกกังวลที่ประดังประดาพร้อมๆ กันในจิตใจ ทำให้บางครั้งเราอาจพูด คิด หรือกระทำอะไรไปแบบไม่รู้ตัว

ขึ้นชื่อว่าความรู้สึกหึงหวง เรามักจะคิดกันว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นเฉพาะในความสัมพันธ์แบบโรแมนติกหรือกับเพศตรงข้ามเท่านั้น แต่ไม่ใช่เสมอไปหรอก เพราะความหึงหวงสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกความสัมพันธ์ แม้กระทั่งกับเพื่อนสนิทที่เป็นเพศด้วยกัน หรือที่เรียกว่า friendship jealousy

เนื่องจากความสัมพันธ์แบบมิตรภาพถือเป็นองค์กระกอบหลักที่สำคัญในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกับความสัมพันธ์รูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะเพื่อนสนิทที่เราทุกคนมักจะผูกพันกว่าเพื่อนทั่วๆ ไป ทำให้หลายๆ คนรู้สึกเกิดการแข่งขันทางสังคมขึ้น เพื่อรักษามิตรภาพที่มีคุณค่าของพวกเขาเอาไว้

ด้วยเหตุนี้ อาการหึงหวงเพื่อนจึงเกิดขึ้นได้จากการที่เราถูกคุกคามทางด้านอารมณ์ ขณะที่รับรู้ว่าตัวเองกำลังจะสูญเสียความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีค่าไป โดยเฉพาะการคุกคามจากบุคคลที่สามที่เพื่อนเราสนใจหรือเข้ามาสนใจเพื่อนเรา 

ผลการศึกษาหลายชิ้นพบว่า ทั้งในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ต่างก็เชื่อว่าการที่เพื่อนของตัวเองไปมีเพื่อนใหม่ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มิตรภาพระหว่างพวกเขาลดลง แอนเดรีย ลาวินธัล (Andrea Lavinthal) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Friend or Frenemy?: A Guide to the Friends You Need and the Ones You Don’t กล่าวไว้ว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยโอเคกับการที่คนอื่นมาตีสนิทกับเพื่อนซี้ของตัวเอง โดยพวกเธอชอบที่จะให้คนอื่นเข้าหาตัวเองด้วยเรื่องอื่นมากกว่า

อีกทั้งนักแสดงตลกอย่าง อปาร์นา แนนเชอร์ลา (Aparna Nancherla) ซึ่งเป็นคนรับจองที่สำหรับการแสดงตลกช่วงเย็นที่โรงละคร the Ars Nova ยังเคยเผยว่า เธอพยายามที่จับคนสองคนที่ดูน่าจะเข้ากันได้มาเจอกัน ซึ่งพวกเขาก็เข้ากันได้ดีอย่างที่คิดจริงๆ แม้จะรู้สึกภูมิใจอย่างบอกไม่ถูก แต่ในขณะเดียวกันเธอก็แอบรู้สึกเสียดายเล็กๆ เพราะหลังจากนั้นเธอดันไปเห็นพวกเขาคอมเมนต์คุยกันในโพสต์บนโซเชียลมีเดียอย่างสนุกสนาน เธอเลยเข้าไปคอมเมนต์แซะแบบอ้อมๆ ว่า ‘เป็นเพราะฉันเลยนะเนี่ย’



เบื้องหลังของอาการคือความรู้สึก ‘ไม่ปลอดภัย’

การหึงหวงติดตัวเรามาตั้งแต่เด็กๆ แบบที่เราไม่ทันได้สังเกต เพราะ childish behaviour ที่เด็กๆ มักจะใช้ในการป้องกันความอ่อนแอ โดยแรกเกิด พวกเขาเริ่มที่จะเรียนรู้ถึงการครอบครองหรือเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรือบุคคล ซึ่งความรู้สึกอ่อนแอหรือไร้พลังที่ว่าอาจเกิดขึ้นจากความกลัวที่จะถูกทอดทิ้ง กลัวที่จะถูกขโมยบางสิ่งบางอย่าง (เช่น ของเล่น) หรือใครบางคน (เช่น พ่อแม่) ไปจากชีวิต สังเกตได้จากการที่เวลาพ่อแม่ให้กำเนิดลูกคนที่สอง ลูกคนแรกมักจะรู้สึกหวงและอิจฉา

เบื้องหลังความรู้สึกอิจฉาหรือหวงแหนจึงเกิดจากความไม่มั่นใจหรือความไม่ปลอดภัย (insecurity) เพราะคนเรามักจะรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงได้ยาก จากที่พ่อแม่เคยเทความสำคัญทั้งหมดมาที่เรา วันหนึ่งพวกเขากลับต้องแบ่งอีกครึ่งหรือมากกว่านั้นไปให้เด็กอีกคน เช่นเดียวกันกับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน เมื่อก่อนเรากับเพื่อนคนนี้เคยไปกินข้าวหรือเที่ยวเล่นด้วยกันทุกวัน แต่กลายเป็นว่าจู่ๆ เขาเลือกที่จะไปกับอีกคน ทำให้เรารู้สึกเหมือนถูกดีดออกจากวงโคจร ถูกลดค่า ลดความสำคัญลง ทำให้ความน้อยใจ ความงอน ความโกรธเข้ามาครอบงำเราในที่สุด

นอกจากนี้ ผลการศึกษาเรื่อง ‘When Friends Have Other Friends Friendship Jealousy in Childhood and Early Adolescence’ ยังเผยว่า ความรู้สึกดังกล่าวยังเกิดจากความนับถือในตัวเองต่ำ (low self-esteem) ของเด็กคนนั้นอีกด้วย เนื่องจากมีหลักฐานที่พบว่าเด็กที่มีความนับถือในตัวเองต่ำจะมีความหวงแหนในมิตรภาพที่สูง และเด็กฝั่งที่เผชิญหน้ากับการถูกหวงนี้ ก็มีความพึงพอใจในมิตรภาพที่ต่ำลงด้วย ซึ่งเด็กที่มีชื่อเสียงในเรื่องของความอิจฉาหรือหวงแหนในความสัมพันธ์ มักจะไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับจากคนรอบข้าง



หวงและห่วงมากเกินไป สุดท้ายก็ไม่ทำให้ใครเติบโต

บางครั้งเราดูจะไม่ค่อยรู้สึกตัวว่าเราหวงแหน ปกป้อง หรือควบคุมชีวิตของเพื่อนสนิทมากเกินไปหรือเปล่า เพราะเรามักจะให้เหตุผลการกระทำเหล่านั้นด้วยคำว่า ‘รัก’ ‘เป็นห่วง’ หรือ ‘หวังดี’ อยู่บ่อยๆ พอวันหนึ่งเพื่อนเลือกที่จะให้ความรู้สึกแบบเดียวกันนี้กับคนอื่น เราจึงพยายามกีดกันเขาออกจากคนหรือสิ่งเหล่านั้นด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นห่วง

แต่เราจะต้องถามตัวเองให้ดีๆ ว่าสิ่งที่เราห่วงจริงๆ คืออะไร ระหว่างเพื่อนกับตัวเอง?

นักวิจัยหลายคนให้ความเห็นตรงกันว่า ความรู้สึกหวงแหนมักจะไปกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองบางอย่างเพื่อป้องกันและปรับตัวต่อความสัมพันธ์ที่ถูกคุกคาม ทำให้หลายคนเกิดอาการ overprotective หรืออาการปกป้องที่มากจนเกินไป เวลาเพื่อนเลือกเส้นทางที่ตัวเองคิดว่าไม่ดี ไม่สมควร หรือไม่ปลอดภัย และพยายามการกีดกัน (guarding) หรือแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ (possessing) เพื่อนคนนั้นมากขึ้น เพราะกลัวจะสูญเสียเพื่อนรักคนสำคัญไป หรือที่เรียกว่า the fear of losing BFF และเผลอไปก้าวก่ายชีวิตเขาด้วยการบอกว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ



“มิตรภาพระหว่างเพื่อนเปลี่ยนแปลงได้เสมอ แต่ข้อดีก็คือ มันจะทำให้พวกเขาทั้งคู่เข้มแข็งขึ้น” Shank จากภาพยนตร์เรื่อง Wreck It Ralph 2


 
*หลังจากนี้โปรดระวังเนื้อหาสปอยล์ ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง  Ralph Breaks the Internet

ขอยกตัวอย่างจากเรื่อง ‘Ralph Breaks the Internet’ การ์ตูนที่แม้ภายนอกจะดูน่ารัก สดใส และเข้าใจง่าย แต่เนื้อเรื่องกลับซุกซ่อนประเด็นที่ลึกซึ้งเอาไว้มากมาย ทั้งเรื่องโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน ไปจนถึงความสัมพันธ์ของเพื่อน ที่ทำให้คนดูตระหนักว่าการปกป้องเพื่อนที่มากเกินไปนั้นส่งผลให้เกิด toxic friendship ได้ยังไง

วาเนลโลปี้ (Vanellope) เด็กสาวจากเกม Sugar Rush ที่ในภาคนี้เธอได้ค้นพบการผจญภัยครั้งใหม่ที่น่าตื่นเต้นจากเกมแข่งรถที่รุนแรงจนอยากเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในนั้นตลอดไป แต่ในขณะเดียวกันก็กังวลว่า ราล์ฟ (Ralph) เพื่อนซี้ตัวใหญ่จากเกม Wreck It Ralph จะโกรธและไม่พอใจ เนื่องจากที่ผ่านมาพวกเขาทั้งสองใช้เวลาร่วมกันจนแทบจะตัวติด

แน่นอนว่าพอราล์ฟรู้ความจริงเข้า เขาไม่เข้าใจถึงการตัดสินใจของวาเนลโลปี้ และพร่ำคิดว่า “มันเป็นไปไม่ได้ เธอควรจะเป็นเพื่อนสนิทของฉันสิ วาเนลโลปี้จะต้องโดนล้างสมองแน่ๆ ยังไงเธอก็ไม่มีทางทิ้งฉันไว้คนเดียวหรอก” พร้อมกับพยายามหาทางนำวาเนลโลปี้ออกไปจากเกมแข่งรถที่อันตรายนั้นให้ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าวาเนลโลปี้และเขาจะต้องอยู่ด้วยกันตลอดไป



“ไม่มีกฏข้อไหนบอกว่าเพื่อนสนิทจะต้องมีความฝันแบบเดียวกัน” ประโยคที่แชงค์แนะนำวาเนลโลปี้


ในตอนจบของเรื่อง ทั้งวาเนลโลปี้และราล์ฟก็ได้พาให้เราได้ทำความเข้าใจกับมิตรภาพมากขึ้น ว่าการยึดติดที่มากเกินไปหรือพยายามควบคุมชีวิตของใครสักคนนั้น อาจจบด้วยการกลายเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นทุกข์ ดังนั้น การปล่อยให้เพื่อนได้จัดการกับปัญหาชีวิตของตัวเองบ้าง ก็ไม่ได้หมายความเราจะเป็นเพื่อนที่แย่ เพราะความจริงเราได้ให้พื้นที่แก่เขาในการเรียนรู้ที่จะเผชิญปัญหาด้วยตัวเอง เพื่อที่เขาจะได้เติบโตไปอย่างเข้มแข็งมากขึ้น

การเลือกเดินในเส้นทางที่แตกต่างกันจึงไม่ได้ถึงการแตกแยกเสมอไป แต่หากเป็นสัญญาณของการค่อยๆ เจริญเติบโตของแต่ละคน ซึ่งทุกคนย่อมมีเส้นทาง ความฝัน และเป้าหมายที่ไม่มีทางเหมือนกันได้อย่าง 100%

 
เปลี่ยนตัวเองยังไง ก่อนจะเสียเพื่อนไปจริงๆ

อาจดูเป็นเรื่องที่ห้ามกันได้ยากเพราะความรู้สึกไม่ดีที่แวบเข้ามาในใจนั้น มันไม่ได้ออกไปง่ายเหมือนตอนที่เข้ามา หลายคนคิดแล้วคิดอีกว่าตัวเองทำอะไรผิดหรือไม่มีคุณค่าพอที่เพื่อนจะคบต่อใช่มั้ย? แต่ก่อนที่จะตีตัวออกห่างเพราะคิดว่าเพื่อนคนนั้นไม่สนใจเราอีกต่อไปแล้ว เราอาจจะต้องทำให้แน่ใจก่อนว่าทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแค่ ‘การคิดหรือการรู้สึกไปเอง’ ของเรา 

เพื่อความชัวร์ การลองเช็กให้แน่ใจจากเพื่อนคนนั้นว่า เขาได้ลดความสำคัญของเราลงจริงๆ หรือเปล่า? หรือเป็นเพราะเขาอาจจะแค่อยากเปลี่ยนบรรยากาศไปเจอผู้คนใหม่ๆ บ้าง น่าจะสบายใจกว่าเราต้องมานั่งนึกเอาเอง

เพราะในแง่หนึ่งขณะที่อารมณ์น้อยใจกำลังพลุ่งพล่าน เราย่อมอยากที่จะให้เพื่อนคนนั้นเทความสนใจทั้งหมดมาให้เรา หรือให้ความสำคัญกับเราเป็นอันดับแรก แต่เมื่อไม่เป็นไปอย่างที่คิด ความรู้สึกเชิงลบจึงเกิดขึ้น ต้นตอที่เห็นได้ชัดคงเป็น ‘ความคาดหวัง’ ว่าเขาจะต้องมาสนใจ เป็นความคาดหวังที่เขาอาจจะไม่ได้รับรู้กับเราเลยด้วยซ้ำ เป็นเราที่ติดอยู่กับความขุ่นมัวนี้เพียงคนเดียว ดังนั้น ยิ่งเราตึง งอน ไม่พูดไม่จา ก็อาจจะทำให้เพื่อนคนนั้นเป็นฝ่ายอยากตีตัวออกห่างจากเรามากขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็น toxic friendship ในที่สุด

หากจะหาว่าเรื่องนี้ใครเป็นคนผิดก็คงจะพูดได้ยาก เพราะไม่ใช่ความผิดของเพื่อนเราที่จะไปใช้เวลากับคนอื่นบ้าง แล้วก็ไม่ใช่ความผิดของเราที่จะรู้สึกน้อยใจกับการถูกทิ้งหรือมองข้าม แต่ท้ายที่สุดแล้ว ความรู้สึกขุ่นมัวต่างๆ เป็นเรื่องที่ต้องรีบจัดการ แล้วเราจะต่อสู้กับเรื่องราวทั้งหมดนี้ก่อนจะสายไปได้ยังไง? 

อาจจะเริ่มที่เราพยายามไม่ปฏิเสธความรู้สึกตัวเอง ปล่อยให้ความรู้สึกหวง อิจฉา น้อยใจ เศร้า หรือโกรธค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เรารู้ตัวดีว่าเราไม่โอเค เรารับไม่ได้กับความผิดหวังตรงนี้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่หลังจากที่เราได้ติดอยู่กับความรู้สึกเหล่านั้นสักพักจนมันจะค่อยๆ จางลง เราจะรู้สึกเหมือนเราได้ออกมายืนมองเรื่องทั้งหมดจากมุมมองข้างนอก และเรียนรู้ว่าความรู้เหล่านั้นไม่ได้ช่วยให้ความสัมพันธ์ของคุณกับเพื่อนซี้ดีขึ้นเลยสักนิด มีแต่จะแย่ลงไปเรื่อยๆ และในท้ายที่สุด เมื่อความรู้สึกหวงแหนนั้นได้หายไปอย่างสิ้นเชิง เราจะค่อยๆ รู้สึกว่าเราเป็นอิสระจากอารมณ์และความรู้สึกเหล่านั้นมากขึ้น เราจะคาดหวังในตัวเขาน้อยลง และความหวงหรืออิจฉาก็จะทำอะไรเราไม่ได้อีกต่อไป

ถึงแม้เพื่อนจะมีส่วนสำคัญในชีวิต แต่อย่าลืมว่าเขาไม่ได้ใช้ทั้งชีวิตเพื่อมาสร้างความสำคัญให้กับเรา เราไม่ใช่เจ้าของชีวิตใคร ทุกคนล้วนแล้วแต่มีชีวิตเป็นของตัวเอง หรือแม้กระทั่งเราก็เช่นกัน 

ในเมื่อคนอื่นเลือกที่จะมีความสุขบนเส้นทางที่อาจจะมีเราบ้าง ไม่มีเราบ้าง เราเองก็มีสิทธิ์ที่จะมีความสุขในแบบเดียวกัน ช่วงเวลาว่างๆ เหงาๆ ที่ไม่ได้เจอเพื่อนคนนั้นบ่อยๆ เหมือนเมื่อก่อน อาจจะลองหาอะไรที่ทำแล้วรู้สึกสำคัญในตัวเองมากขึ้น เป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว เช่น ทำอาหาร อ่านหนังสือ หรือสร้างสรรค์งานศิลปะสักชิ้น แล้วเราจะรู้ว่าในชีวิตเรายังมีเพื่อนรักอีกคนหนึ่งซ่อนอยู่ นั่นก็คือ ‘ตัวเราเอง’

ต่างคนต่างแยกย้ายกันเดินทาง แล้วกลับมาเจอกันในวันที่ตัวเองเติบโตมากขึ้น อาจจะดีกว่าการใช้เวลาอยู่ด้วยกันตลอดเวลา แต่ไม่ได้มีชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ หากคนเราต้องการที่จะมีกันไปตลอด ยังไงซะ พวกเขาก็จะหาทางอยู่ด้วยกันให้ได้ในที่สุด ไม่ใช่แค่เฉพาะมิตรภาพระหว่างเพื่อน แต่สำหรับทุกๆ ความสัมพันธ์บนโลกใบนี้



Source :

The Matter

https://thematter.co/social/toxic-friendship/98387