Last updated: 2 ก.ค. 2563 |
วันที่ 2 กรกฎาคม 2563 - 14:51 น.
นานมาแล้ว มนุษย์ได้สร้างแบบแผนที่สามารถใช้โอบอุ้มการเปลี่ยนผ่านจากวัยหนึ่ง ไปสู่อีกวัยหนึ่งที่มีความเป็นผู้ใหญ่กว่าเดิม โดยเพศชายนั้น มีทั้งธรรมเนียมที่ให้เด็กชายต้องจากลาแม่ออกไปล่าสัตว์ดุร้าย ออกไปเผชิญพิธีกรรมอันเหี้ยมโหดในพื้นที่ไม่คุ้นเคย หรือออกบวช เป็นต้น ซึ่งล้วนมีสัญลักษณ์ของการตายจากสถานะเดิมและก้าวเข้าสู่การเป็นสมาชิกของกลุ่มที่มีสถานะใหม่ ส่วนจุดอ้างอิงการเปลี่ยนผ่านเติบโตของผู้หญิงในขนบเดิม มักเป็นเพียงการออกเรือนไปสู่การเป็นภรรยาและเป็นแม่ (มีหนังสือและบทความในวารสารวิชาการมากมายได้ค้นคว้าประเด็นที่เกี่ยวข้องไว้ เช่น บทความของ Charles F. Keyes เรื่อง Mother or Mistress but Never a Monk: Buddhist Notions of Female Gender in Rural Thailand)
อย่างไรก็ดี บทความนี้มิได้เน้นสำรวจการเปลี่ยนผ่านซึ่งมีพิธีกรรมทางวัฒนธรรมรองรับให้ แต่จะสำรวจสภาวะจิตใจอันลักลั่น ชนิดกลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ยังไม่ถึง พร้อมนำเสนอกระบวนการทำงานกับกรอบกั้นในใจเราเอง โดยอาศัยนิทานและตำนานต่างๆ ช่วยพาเราให้ก้าวข้ามกรอบสู่สภาวะใหม่ซึ่งบริบูรณ์กว่าเดิม ซึ่งไม่จำเป็นว่านิทานและตำนานนั้นต้องตรงตามเวอร์ชั่น “อะไร” เพราะคำถามที่สำคัญกว่าคือ ภาพคล้ายมวลหมอกแห่งฝันอันพร่าเลือนนั้นอาจทำให้เราบริบูรณ์ขึ้น “อย่างไร” ได้บ้าง
เฉกเช่นเรื่องเล่าเหล่านี้คือ กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระราชาและพระราชินีผู้ทรงธรรมให้กำเนิดเจ้าหญิงตัวน้อยผมสีทองลื่นสลวยทอดยาวราวแพรไหม แต่แล้วแม่มดก็ขโมยเจ้าหญิงไปเพื่อมาเลี้ยงไว้บนหอคอยในป่าเร้นลึก เส้นผมของเจ้าหญิงพริ้งเพรานั้นมีอานุภาพคืนความสาวให้แม่มดผู้ชราแห้งเหือด แม่มดกลายเป็นคุณแม่รู้ดีที่บอกว่าโลกข้างนอกนั้นช่างโหดร้าย และเพื่อปกป้องลูก แม่มดจึงจำต้องขังลูกผู้เปราะบางดุจกลีบดอกไม้หวานนวลไว้ในหอสูงเกินอาจเอื้อมกับแม่มดตลอดไป
อีกเรื่องที่คล้ายกันนั้นคือตำนานพื้นบ้านที่ว่ามีแม่ยักษ์เอาตัวละครเอกมาเลี้ยงไว้ และเมื่อตัวละครเอกรู้ว่าแม่เป็นยักษ์ ก็ผละหนีออกมาจากอาณาจักรยักษ์นั้น เมื่อแม่ยักษ์รู้ก็ตามมาพร้อมกับบทลงทัณฑ์ที่ลูกบังอาจหนี
ดูเหมือนว่าในเรื่องราวเหล่านี้มีความพยายามของตัวละครเอก ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ตำแหน่งแห่งที่อื่น โดยมีลักษณะที่เป็น ‘ด้านมืด’ ของบุคคลผู้เคยหล่อเลี้ยงรบกวนจิตใจของเขา ราวกับว่าพวกเขาเป็นต้นกล้าที่เติบใหญ่ขึ้น และกระถางเดิมที่เคยโอบอุ้ม บัดนี้กลับคับแคบและกลายเป็นโทษแก่เขาเสียแล้ว เขาไม่อาจอยู่ในภาชนะเดิมได้อีกต่อไป ทว่าก็มีอะไรบางอย่างคอยเหนี่ยวรั้งเพรียกหาให้เขากลับไปอยู่ที่เดิม ดุจห้วงเวลาแห่งความสัมพันธ์อันลักลั่นระหว่างพ่อแม่ผู้หวาดกลัวการสูญเสียระคนกับความขมขื่น
ส่วนลูกในวัยที่ต้องเติบโตขึ้นเรื่อยไปก็ถูกตีกรอบให้ต้องฝืนใช้ชีวิตแบบเด็กๆ ต่อไปด้วยความเจ็บปวดแต่ก็ปะปนไปกับความอยากขบถ ขณะเดียวกันก็รู้สึกผิดและขาดความมั่นใจในศักยภาพและคุณค่าของตน กระนั้น นี่มิได้เป็นเพียงเรื่องทางกายภาพ เพราะก็มีหลายตัวอย่างของคนที่มีอายุพอสมควร และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างผู้ใหญ่คนหนึ่งแล้ว อีกทั้งผู้ที่เคยเลี้ยงดูเขาก็ได้วายชนม์ไปแล้ว หากแต่เขายังยึดถือบางอย่างที่เคยเป็นประโยชน์ในบริบทเก่าก่อน ซึ่งแม้มาบัดนี้ทำให้เขาเหนื่อยล้าเกินควรแล้ว แต่มันยังคงเป็นแรงขับให้เขาต้องทำตาม ‘คุณค่า’ ที่เชื่อมโยงกับสิ่งนั้นอยู่ต่อไป
เช่น บางคนอาจถูกสอนเรื่องคุณค่าของการทำงานหนัก หรือการที่ต้องช่วยเหลือคนรอบตัวที่มาขอให้ช่วยอย่างไร้ขอบเขตโดยเฉพาะกับญาติพี่น้อง มาวันหนึ่ง เขารู้สึกว่าตนอายุมากและอ่อนแรงเกินไปแล้ว เขาเริ่มรู้สึกถูกเอาเปรียบ เขารู้สึกอยากพักผ่อน แต่ก็ยังมีแรงขับให้ต้องทำงานตลอดเวลาและต้องช่วยผู้คนไปอย่างระโหยโรยแรง เขาทรมานแต่ออกมาจากกรอบนี้ไม่ได้ เพราะมันถูกผูกสมการเป็นคุณค่าของเขามาแสนนานแล้ว
หลายกรณีความอึดอัด ที่อีรุงตุงนังอยู่นั้นกลายร่างเป็นอาการซึมเศร้า หรือความเจ็บป่วยทางร่างกายเรื้อรัง มันคือการแสดงออกของจิตที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เฉกเช่นอาณาจักรในตำนานต่างๆ ที่คล้ายว่าปลอดภัยมานาน ทว่ามาบัดนี้กลับเกิดภัยพิบัติขึ้นมากมายอย่างไม่อาจเลี่ยง เช่น ตัวละครเอกพบภายหลังว่าผู้นำอาณาจักรที่เคยเลี้ยงดูเขานั้นเป็นยักษ์ร้าย หรือไม่ก็มีสัตว์ประหลาดมาบุกทลายอาณาจักร ซึ่งทำให้ตัวละครเอกไม่อาจดำรงอยู่แบบเดิมได้อีกต่อไป ตัวละครเอกต้องออกไปจากพื้นที่เดิม ไปเผชิญกับบางสิ่งที่เขาไม่รู้จักและอาจหวาดหวั่นมากด้วย แต่หลังจากผ่านบททดสอบนี้ เขาก็เปลี่ยนแปลงเป็นคนที่บริบูรณ์กว่าเดิม แต่หากเขายังสอบไม่ผ่าน เขาก็ต้องทนทุกข์ทรมานในกรงขังแบบเดิมๆ ประหนึ่งว่าได้ถูกยักษ์หรือสัตว์ประหลาดที่รบกวนใจเขา กลืนกินเข้าไป
ในกระบวนการใช้สัญลักษณ์บนไพ่ทาโร่สำรวจโลกภายใน เรามักจะเห็นรูปแบบการเปลี่ยนผ่านอย่างนี้ของผู้คน จากการติดอยู่ในบางสิ่งบางอย่างที่คิดว่า ‘ปลอดภัยแล้ว’ ทว่าได้ทอดเงามืดไว้อย่างไม่อาจเลี่ยง กระทั่งความยึดถือดังกล่าวกลายเป็นหอคอยคุกที่รอวันพังทลายลงมา เสมือนอาณาจักรใกล้อวสาน (ห้วงที่หอคอยกำลังสั่นคลอน มักเป็นจุดที่คนมาขอให้เปิดไพ่ให้ และ/ หรือขอทำจิตบำบัด) เพื่อพบกับการเริ่มต้นใหม่ของตัวตนที่ไพศาลขึ้น และเปี่ยมด้วยความหวังดั่งแสงดาวพร่างพราย อาบไอดินกลิ่นพืชพรรณอันชุ่มน้ำ เช่นเดียวกัน ในบท Symbols of Transcendence จากหนังสือ Man and His Symbols นั้น Dr. Joseph L. Henderson ได้กล่าวถึงสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับ “ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน” ซึ่งสะท้อน “ความต้องการของมนุษย์ที่จะเป็นอิสระจากภาวะการดำรงอยู่ที่เป็นเด็กเดียงสาเกินไป หรือการปลดปล่อยตนจากรูปแบบชีวิตที่จำกัด ไปสู่ภาวะที่โตกว่า… ซึ่งในกรณีของคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ความรู้สึกครบถ้วนสมบูรณ์ อาจหาได้จากการรวมเนื้อหาจากจิตไร้สำนึกเข้าไว้กับความสำนึกรู้”
นิทานและตำนานต่างๆ เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งเหมือนกับความฝัน ที่มีภาษาอุปมาอุปไมย และสามารถใช้เป็นประตูเข้าถึงข้อมูลในจิตไร้สำนึกเพื่อจิตที่ไพบูลย์กว่าเดิมได้ โดยในนิทานและตำนานที่ได้กล่าวมา อาณาจักรซ่อนกลิ่นสาปของยักษ์เจ้าแค้น และหอคอยดำทะมึนของแม่มดจอมบงการนั้น แยกออกจากอาณาจักรอันปลอดภัยของพระราชาและพระราชินีผู้แสนดี กระนั้น หากสังเกตโลกภายในตนเอง ก็อาจพบว่าอาณาจักรเหล่านั้นเป็นอาณาจักรเดียวกัน โดยเราอาจพบ “ลักษณะ” ต่างๆ ของแม่มด ยักษ์ พระราชา พระราชินี และตัวละครอื่นๆ ในตัวเราเอง
เช่น เราต่างก็มีด้านที่เหี้ยมเกรียมและต้องการควบคุมคนอื่นให้อยู่หมัด (แม้แต่ลูกเองหลายครั้งก็ต้องการควบคุมพ่อแม่ไม่ให้ควบคุมตัวเอง) เพื่อหล่อเลี้ยงคุณค่าบางอย่างของเราให้คงอยู่ต่อไป เปรียบเหมือนที่แม่มดขังเจ้าหญิงไว้ในหอคอยเพื่อให้ตนเป็นสาวต่อไป พร้อมๆ กับที่พวกเรามีด้านที่เป็นผู้ใหญ่กว่านั้น ดั่งราชาราชินีผู้ทรงธรรม ซึ่งมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่มากขึ้น รวมถึงรับผิดชอบความทุกข์ความสุขของเราเอง โดยไม่ต้องคอยควบคุมหรือโทษปัจจัยภายนอกด้วย
อย่างไรก็ดี ในการถอดความหมายของนิทานเพื่อเข้าถึงข้อมูลที่เราอาจไม่ตระหนักในตนนั้น เราไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับการตีความของนักจิตวิทยาเรืองนามทั้งหลาย เพราะเราแต่ละคนให้ความหมายของสิ่งเดียวกันไม่เหมือนกัน เช่น คนบางคนที่มีลักษณะโอนอ่อนมานาน อาจมองว่านางยักษ์เป็นผู้ร้ายกินคนที่กวนใจเราเหลือเกิน จึงเป็นด้านนั้นของตัวเราซึ่งจำต้องตระหนักรู้และบ่มเพาะเพื่ออธิปไตยที่มากขึ้น ส่วนบางคนอาจเห็นว่ายักษ์เป็นนักรบที่สามารถปกครองและดูแลผู้อื่นได้ จึงเป็นความเข้มแข็งและโอบอุ้มผู้อื่นในตัว ซึ่งเราได้ละเลยไป หรือบางคนอาจมองว่าแม่มดคือความเป็นนางพญาและความเป็นแม่ในตัวเธอผู้เป็นลูกเอง ซึ่งเธอมองข้ามและเห็นเฉพาะในคนอื่นมาตลอด หรือ บางคนก็เทียบเจ้าหญิงหวานแหววว่าเป็นผู้ที่ถูกขนบกดทับเรื่องทางเพศ ซึ่งต้องปลดแอกสู่ขุมพลังพรั่งพรู หรือบางคนกลับรู้สึกหมั่นไส้นักปกครองผู้สูงศักดิ์ ในกระบวนการสำรวจโลกภายใน เขาพบว่าตนเชื่อมโยงตัวละครลักษณะดังกล่าวกับหัวหน้าองค์กรที่มือถือสากปากถือศีล เสมือนเจ้าสำนักพรรคเทพที่ซุกซ่อนความเป็นมารยิ่งกว่ามาร และฉับพลันนั้นก็ปิ๊งแวบว่า อ๋อ อย่างนี้นี่เองที่ทำให้เขาหงุดหงิดกับความสุภาพแสนดี และหลีกเลี่ยงที่จะรับตำแหน่งผู้นำแสน ‘ดี’ แต่กลับชอบบทบาทขบถผู้จริงใจอย่างกร้านกระด้างตลอดมา เมื่อปัจเจก “เห็น” รูปแบบการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ของตนอย่างกระจ่างแล้ว แต่ละคนก็เปลี่ยนสถานะจากเหยื่อผู้ถูกสถานการณ์กระทำ เป็นผู้ที่เลือกสุขทุกข์ และวิถีใหม่ที่เต็มเปี่ยมกว่าเดิมได้
ฉะนั้น สิ่งต่างๆ ในนิทานจึงเชื่อมโยงกับ “ลักษณะ” “ด้าน” “รูปแบบ” ต่างๆ บนพื้นฐานประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกันไปได้ การให้ความหมายของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน จึงไม่ควรจะต้องเป็นเรื่องผิดถูกแต่อย่างใด
ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นก็คือ นิทานและตำนานซึ่งคลับคล้ายบางเหตุการณ์ที่กวนใจในชีวิตจริงนั้น สามารถเป็นเครื่องมือพาเราไปทำความรู้จักกับลักษณะหรือด้านที่เราไม่ค่อยรู้จักเกี่ยวกับตนเองได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นด้านลบเสมอไป แต่อาจเป็นคุณงามความดีที่เรามองไม่เห็นในตนเองก็ได้ หรือ มันอาจทำให้เราประจักษ์ใจในรูปแบบของเหตุการณ์ทรมานใจที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างซ้ำซาก กระทั่งเราเป็นอิสระจากมันได้ ทั้งนี้ แต่ละคนมีประเด็นที่ต้องเข้าไปทำงานกับโลกภายในไม่เหมือนกัน
ในหนังสือ The Old English Lives of St. Margaret ชุด Cambridge Studies in Anglo-Saxon England ตำนานของเซนต์มาร์กาเร็ต ซึ่งถูกมังกรกลืนเข้าไปแล้วออกมาได้นั้น สามารถเป็นตัวอย่างเชิงอุปมาของการทำความเข้าใจพื้นที่ที่ไม่ค่อยรู้จักในตนเอง และตระหนักรู้ได้ในที่สุด ตำนานเล่าว่ามาร์กาเร็ตมีแม่เลี้ยงที่รักและคอยดูแลเธอ จวบจนเธอเป็นวัยรุ่น ในขณะที่เธอกำลังดูแลฝูงแกะอยู่นั้น โอลิบริอุส (Olibrius) ผู้กำลังต่อกรกับชาวคริสต์ก็มาเห็นเธอเข้าและอยากได้เธอเป็นภรรยา ทว่าภายหลังมาร์กาเร็ตถูกจองจำเพียงเพราะเธอเป็นชาวคริสต์ โดยในคุกนั้นเอง ปิศาจก็ปรากฏเป็นมังกรต่อหน้าเธอและกลืนเธอเข้าไป เธอทำเครื่องหมายกางเขนซึ่งทำให้สามารถออกมาจากตัวมังกรได้ เราอาจพิเคราะห์เรื่องราวดังกล่าวว่าเป็นการสร้างความชอบธรรมให้ความเชื่อในศาสนาหนึ่งอยู่เหนือกว่าอีกความเชื่อหนึ่ง แต่ในบริบทแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ความบริบูรณ์นั้น กางเขนอาจเป็นเครื่องหมายของกระบวนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความถ้วนทั่วผ่านการที่เราสามารถเข้าไปเผชิญกับข้อมูลในจิตไร้สำนึก และนำสิ่งนั้นเข้ามาในความรับรู้ได้ พร้อมกันกับที่เราได้แผ่ขยายอาณาเขตใหม่แห่งตนให้กว้างใหญ่ออกไป
กระบวนการที่ปัจเจกเปลี่ยนผ่านจากการยึดถือในกรอบอย่างหนึ่งมากเกินไป สู่ความตระหนักรู้ในตนเองอย่างถ้วนทั่วบริบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ นั้น เกิดขึ้นราวกับการตายแล้วเกิดใหม่ โดยมีการกำหนดจุดศูนย์กลางแห่งวงมณฑลของเราใหม่ ครั้งแล้วครั้งเล่า
SOURCE :
The Potential
https://thepotential.org/life/mtyh-life-crisis1/