ทำไมการอ่านช่วยให้เกิดการเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง (Self-Directed Learning) ได้ดีขึ้น

Last updated: 18 ก.ย. 2563  | 

วันที่ 18 กันยายน 2563 - 14:42 น.


เมื่อ COVID-19 เปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนรู้ของครูและ นักเรียนทั่วโลกให้เป็นการเรียนทางไกลมากขึ้น แรงจูงใจในการเรียนรู้และ ทักษะการกำกับตนเองจะมีความสำคัญกว่าที่เคย สำหรับนักเรียนที่เรียนในรูปแบบนี้ การอ่านถือได้ว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยให้นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะนี้ โดยเฉพาะการปล่อยให้นักเรียนได้อ่านอย่างอิสระ มาดูกันว่าทำไมการอ่านถึงช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองได้

จากผลการสำรวจ PISA ปี 2018 ระบุว่า จากจำนวนนักเรียนที่มีอายุ 15 ปีในสหรัฐอเมริกาทั้งหมด มีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่อ่านหนังสือเพื่อความเพลิดเพลิน ในขณะที่นักเรียนชาวจีนในวัยเดียวกันเกือบทุกคนอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน การอ่านเพื่อความเพลิดเพลินเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า นักเรียนรู้จักเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง (self-directed learning) มากกว่า ซึ่งเป็นทักษะสำคัญหากโรงเรียนต้องปิดจากการระบาดของ COVID-19 พบว่ามีหลักฐานชัดเจนว่าการอ่านเพื่อความเพลิดเพลินช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ ยิ่งไปกว่านั้นยังเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จอีกด้วย นอกจากนี้เมื่อนักเรียนประสบความสำเร็จในการเรียนรู้มากขึ้น ก็มักจะนำไปสู่การอ่านเพื่อความเพลิดเพลินที่มากขึ้นด้วย สรุปก็คือ ยิ่งอ่านอย่างเพลิดเพลินมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้มากขึ้นเท่านั้น และพอรู้สึกสำเร็จก็ยิ่งทำให้อ่านมากขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ยังมีผลการสำรวจซึ่งสำรวจคนหนุ่มสาวกว่า 18,000 คน พบว่า คนที่สนุกกับการอ่านจะมีทักษะการอ่านในระดับที่คาดหวังของช่วงอายุนั้นๆ มากกว่าคนที่ไม่ชอบการอ่านถึง 6 เท่า ส่วนคนหนุ่มสาวที่ไม่ชอบการอ่านเลยจะมีทักษะการอ่านในระดับที่คาดหวังของช่วงวัยนั้นต่ำกว่าคนที่ชอบการอ่านถึง 11 เท่า หลักฐานจาก OECD ปี 2002 พบว่าการอ่านเพื่อความเพลิดเพลินสำคัญต่อความสำเร็จทางการศึกษาของนักเรียนมากกว่าสถานะทางเศรษฐกิจและ สังคมของพวกเขาเสียอีก

อ่านเพื่อความเพลิดเพลิน ได้อะไรมากกว่าแค่สนุก
ทักษะการอ่านที่ดีขึ้น และความสามารถทางการเขียน
เข้าใจเนื้อหาและไวยากรณ์
รู้คำศัพท์มากขึ้น
ทัศนคติเชิงบวกต่อการอ่าน
ความรู้ทั่วไป
เข้าใจวัฒนธรรมอื่นๆ มากขึ้น
การมีส่วนร่วมกับชุมชน
ความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อธรรมชาติของมนุษย์

5 วิธี ส่งเสริมให้นักเรียนอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน

  1. แบ่งปันประสบการณ์การอ่านให้นักเรียน

หากครูต้องการกระตุ้นให้นักเรียนรักการอ่าน ครูต้องทำให้นักเรียนเห็นว่าครูก็รักการอ่านเช่นเดียวกัน แต่แทนที่จะเล่าเฉยๆ ลองปรับรูปแบบให้เป็นเกมสนุกๆ สื่อสารว่าหนังสือเล่มไหนคือหนังสือเล่มโปรดของครู

วิธีการคือครูเตรียมปกหนังสือแต่ละเล่ม แล้วให้นักเรียนทายว่าหนังสือเล่มไหนคือหนังสือเล่มโปรดของครูแต่ละคน ยิ่งนักเรียนคนไหนได้อ่านหนังสือที่อยู่ในลิสต์เหล่านี้แล้ว ก็ยิ่งช่วยให้เกิดบทสนทนาระหว่างครูและนักเรียนได้ง่ายยิ่งขึ้น

2. ให้นักเรียนพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือ

ไม่มีวิธีไหนทำให้นักเรียนสนใจการอ่านได้ดีเท่าปล่อยให้พวกเขาได้พูดคุยกัน เพราะนักเรียนมักจะได้รับอิทธิพลจากเพื่อน เวลาเราไปร้านหนังสือ เราอาจจะเห็นรีวิวหนังสือสั้นๆ จากผู้อ่านจริงว่าเล่มนี้ดีหรือสนุกอย่างไรแปะอยู่ข้างๆ หนังสือเล่มนั้น เป็นกลยุทธ์ในการสร้างความสนใจและเป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างผู้อ่านกับผู้อ่านด้วยกัน
อีกหนึ่งวิธีคือการทำการ์ดให้คะแนนหนังสือ จากคะแนนเต็ม 10 เพื่อนอ่านแล้วให้เท่าไร
          นอกจากนี้การ์ดยังมีช่องอื่นๆ ให้เลือกติ๊กด้วย เช่น
o อ่านแล้วขำหนักมาก
o ตอนจบขนลุกมาก
o ให้ข้อมูลที่ดีมากๆ
o รู้สึกเหมือนได้ผจญภัยอันน่าตื่นเต้น

3. จัดวางหนังสือให้ดูน่าสนใจ

ลองหันมองรอบๆ ตัวดูว่าหนังสือถูกจัดวางอย่างไรในสายตานักเรียน หากเราจัดหนังสือโดยหันด้านสันออก นักเรียนมักจะหยิบเฉพาะเรื่องหรือนักเขียนที่พวกเขารู้จัก แต่ถ้าเราหันหน้าปกออก โอกาสที่นักเรียนจะหยิบเล่มอื่นมาอ่านก็มีมากขึ้น สำหรับนักเรียนที่อายุยังน้อย รูปแบบของชั้นวางหนังสือก็มีผลอย่างมากต่อการเลือกอ่านหนังสือของพวกเขา ชั้นที่ไม่สูงมากและอยู่ในระดับสายตาจะทำให้นักเรียนเลือกหยิบหนังสือได้ง่ายขึ้น

4. เลือกหนังสือให้หลากหลาย

การมีหนังสือมากๆ ไม่ได้สำคัญเท่ากับการมีหนังสือที่หลากหลายที่ตอบสนองต่อความต้องการของนักเรียนทุกคน ครูควรเลือกทั้งหนังสือที่ยากต่อการอ่าน เพื่อท้าทายนักเรียนที่อ่านเก่ง ไปจนถึงหนังสือที่อ่านง่ายให้นักเรียนที่ไม่ชอบอ่านรู้สึกว่าไม่ยากจนเกินไป มีทั้งนิยายและหนังสือที่อ่านเอาข้อเท็จจริง ไม่ควรเลือกหนังสือที่นักเรียนรู้จักอยู่แล้ว แต่ควรส่งเสริมให้พวกเขาอ่านหนังสือจากนักเขียนใหม่ๆ

5. แนะนำให้นักเรียนรู้จักหนังสือและนักเขียนใหม่ๆ

 นักเรียนมักจะอ่านหนังสือเล่มที่พวกเขาเคยอ่านหรือจากนักเขียนที่รู้จัก ถ้านักเรียนอ่านหนังสือเล่มที่คล้ายๆ เดิม แต่ได้ประสบการณ์ที่แตกต่างออกไปทุกครั้ง การอ่านหนังสือซ้ำก็ไม่ใช่เรื่องที่ครูต้องห้ามปรามแต่อย่างใด ที่สำคัญคือครูต้องหาโอกาสให้พวกเขาได้มีทางเลือกในการอ่านมากยิ่งขึ้น

รูปแบบกิจกรรม

ครูเตรียมหนังสือให้เพียงพอกับนักเรียนทุกคน โดยเผื่อไว้อีก 2-3 เล่ม หนังสือแต่ละเล่มจะมีหมายเลขของตัวเอง โดยทุกหมายเลขจะมีฉลากหมายเลขละ 2 ใบ หากเป็นไปได้ก็อาจรวมหนังสือประเภทอื่นๆ ด้วย เช่น หนังสือเสียง นิตยสารและอีบุ๊ก

หนังสือที่ควรเลือก

เหมาะสมกับช่วงวัยและระดับการอ่านของนักเรียนในชั้นเรียน
อยู่ในสภาพที่ยังใหม่และดูดี
หนังสือที่นักเรียนไม่รู้จักมาก่อน
บทกวี เรื่องแต่ง นิยาย สารคดี ไม่รวมสารานุกรมและหนังสือคู่มือ
แปลก พิเศษ จะเป็นรูปแบบหรือประเภทใดก็ได้

หนังสือที่ควรหลีกเลี่ยง

หนังสือเขียนโดยนักเขียนชื่อดัง หรือหนังสือที่เป็นที่รู้จัก

ขั้นตอนกิจกรรม

          1. ครูม้วนฉลากที่มีตัวเลขเพื่อจับคู่กับหนังสือแล้วใส่ไว้ในกระป๋อง
          2. นักเรียนแต่ละคนจับฉลากคนละใบ หมายเลขที่นักเรียนจับได้คือหนังสือที่นักเรียนจะได้อ่าน
          3. เมื่อนักเรียนทุกคนได้หนังสือของตัวเองแล้ว ให้สำรวจหนังสือของตัวเอง 5 นาที
          4. นักเรียนที่พอใจกับหนังสือที่ตัวเองได้ให้นั่งอยู่กลุ่มหนึ่งแล้วเริ่มอ่าน โดยครูอาจให้ครูอีกคนนั่งอ่านไปพร้อมกับนักเรียน เพื่อคอยกระตุ้นและดูแล
          5. หากมีนักเรียนที่ต้องการแลกหนังสือกับเพื่อน ให้ครูแยกนักเรียนกลุ่มนี้ไว้อีกกลุ่มหนึ่ง
          6. เมื่อนักเรียนแลกหนังสือจนได้เล่มที่อยากอ่านแล้ว ให้นักเรียนเข้าไปรวมกับกลุ่มใหญ่ แต่ถ้ายังมีนักเรียนคนไหนที่ยังไม่เจอหนังสือเล่มที่อยากอ่านก็ให้พวกเขาจับฉลากครั้งสุดท้าย เพื่อเลือกหนังสือสำรองที่ยังเหลืออยู่








SOURCE :

educathai

https://www.educathai.com/knowledge/articles/412