พันธุกรรมไม่สำคัญเท่าการเลี้ยงดู ความเอาใจใส่ของพ่อแม่กำหนดบุคลิกของลูกได้

Last updated: 14 ส.ค. 2563  | 

วันที่ 14 สิงหาคม 2563 - 14:18 น.

 

ตามธรรมชาติแล้วทารกจำเป็นต้องพึ่งพาใครสักคนที่จะมอบความรัก ความอบอุ่น ดูแลเอาใส่ใจเขาเพื่อความอยู่รอด พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดอาจเป็นตัวเลือกแรกสุด หรืออาจเป็นญาติพี่น้องซึ่งเป็นผู้ใหญ่ใจดีสักคนเข้ามาทำหน้าที่ผู้เลี้ยงดู สุดแล้วแต่เหตุผลของชีวิต อย่างน้อยที่สุดเจ้าหนูต้องได้รับความรักความอบอุ่นเพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยเป็นสุขหรือมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ฐานที่มั่น’ (secure base) เพื่อให้เขากล้าออกไปเรียนรู้อย่างอุ่นใจและมีที่พักพิงอันปลอดภัยซึ่งเขาสามารถกลับไปหาได้เสมอ

นี่คือสาระสำคัญจาก ทฤษฎีความผูกพัน (Attachment Theory) ของ จอห์น โบวล์บี (John Bowlby) นักจิตวิทยาและนักจิตวิเคราะห์ ซึ่งอธิบายหลักการเอาไว้ว่า สมองของทารกถูกตั้งโปรแกรมอัตโนมัติให้เรียกร้องถวิลหาความรู้สึกปลอดภัยเป็นสุข ผ่านการดูแลเอาใส่ใจ เข้าใจและตอบสนองความต้องการอย่างรวดเร็วฉับไวจากผู้เลี้ยงดูหลัก (primary caregiver -ซึ่งอาจไม่ใช่พ่อแม่ก็ได้) ตามที่เขาคาดหวังอย่างเสมอต้นเสมอปลาย 

แนวทางของโบวล์บี ทำให้โรงพยาบาลและสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเปลี่ยนวิธีปฏิบัติต่อผู้ป่วยเด็ก จากเดิมที่เคยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนผู้ดูแลเด็กเพื่อไม่ให้เกิดความเศร้าหมองเมื่อต้องกลับบ้านหลังเสร็จสิ้นการรักษา เปลี่ยนเป็นจัดให้มี ‘ผู้ดูแลหลัก’ ดูแลเด็กเป็นคนๆ ไปเพื่อพัฒนาความใกล้ชิดและผูกพัน ผลคือเด็กมีอัตราการรอดชีวิตและหายป่วยมากขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด

งานศึกษาอื่นๆ ที่อิงทฤษฎีนี้ยังระบุด้วยว่า เด็กควรต้องได้รับการตอบสนอง ดูแลใกล้ชิดจากผู้เลี้ยงดู เขาจึงจะเกิดความผูกพันอันเป็นก้าวแรกสู่พัฒนาการที่ดีด้านสังคม อารมณ์ และความสามารถในการเรียนรู้ และยิ่งสำคัญมากในความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก เพราะมันจะเป็นต้นแบบของปฏิสัมพันธ์ที่เขานำไปใช้กับเพื่อนๆ และสั่งสมความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยที่จะออกไปเรียนรู้สำรวจโลกรอบตัว เขาจึงจะสามารถรับมือกับความเครียดและอารมณ์อย่างสมดุล เข้าใจและยอมรับตนเอง ตลอดจนสร้างสัมพันธภาพที่มีคุณค่าความหมายในอนาคตได้



พันธุกรรมไม่สำคัญเท่าการเลี้ยงดู

นักวิจัยสัตว์ชื่อ สตีเฟน ซูโอมี (Stephen Suomi) สังเกตพฤติกรรมของลิงพันธุ์ rhesus ที่มีความใกล้เคียงกับมนุษย์ที่สุดสายพันธุ์หนึ่งแล้วพบว่า ถ้าลิงถูกเลี้ยงแบบขาดแม่ (peer-raised) โดยเฉพาะตัวที่สืบต่อพันธุกรรมไม่ดีบางอย่างมา มักแสดงลักษณะพันธุกรรมนั้นพร้อมกับพฤติกรรมผิดปกติ แต่เมื่อนำแม่ลิงเข้ามาดูแลลิงกลุ่มนี้ปรากฏว่าลักษณะทางพันธุกรรมนั้นสงบลงและลิงมีพฤติกรรมดีขึ้น แต่เมื่อแยกแม่ลิงออกมาอีกครั้ง ลักษณะพันธุกรรมเดิมก็กลับมา ปฏิกิริยาทางเคมีของสารสื่อประสาทเปลี่ยนแปลงไป จนสุดท้ายลิงมีความผิดปกติทางอารมณ์และเข้าสังคมไม่ได้

ผลการศึกษานี้เป็นเครื่องยืนยันว่าการเลี้ยงดูมีผลต่อการปรากฏลักษณะทางพันธุกรรมว่าจะแสดงออกมาหรือไม่และอย่างไร กล่าวคือการเลี้ยงดูเอาใจใส่จากพ่อแม่ช่วยระงับการแสดงออกของพันธุกรรมลบและการขาดการเอาใจใส่กระตุ้นให้มันแสดงออกมา

นับเป็นการทบทวนข้อถกเถียงของงานศึกษาที่แล้วมาเสียใหม่ ซึ่งผู้วิจัยมักศึกษาอิทธิพลของพันธุกรรมกับประสบการณ์แบบเดี่ยวๆ แล้วโต้กันไปมาว่า เหตุผลอย่างหนึ่งอย่างใดมีอิทธิพลต่อพัฒนาการของบุคคลมากกว่ากัน (Nature vs Nurture) ทั้งที่ทั้งสองต่างเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันสำหรับการเจริญเติบโตและพัฒนาบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคน

แม้พันธุกรรมมีส่วนกำหนดการทำงานของสมองและควบคุมกลไกระดับโมเลกุลเซลล์โดยสั่งการให้ยีนทำงานหรือไม่ก็ได้ หรือจะเปิดปิดตอนไหนเมื่อไหร่ก็ได้ ทั้งยังสะท้อนไปถึงพฤติกรรมที่แสดงออก แต่ในขณะเดียวกันประสบการณ์ก็เป็นเบ้าหลอมให้คนคนหนึ่งปรับตัวเข้ากับสิ่งที่เขาพบผ่านด้วยเหมือนกัน ซึ่งหากมองตามตรงแล้ว พันธุกรรมและประสบการณ์ต่างมีผลกระทบซึ่งกันและกัน เช่น กระบวนการปรับโครงสร้างสมองในช่วงวัยรุ่นจะมีการลดจำนวนเซลล์ประสาทลง (pruning) ตามธรรมชาติ แต่กระบวนการนี้อาจเกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดมากเกินไปด้วยเช่นกัน

สำหรับพ่อแม่ สรุปง่ายๆ ได้ว่า สมองถูกออกแบบมาให้พัฒนาตนเองอย่างสมบูรณ์แข็งแรงอยู่แล้ว อยู่ที่เราจะเลี้ยงเขาอย่างไรให้มีพัฒนาการทางกายใจที่ดีโดยสิ่งที่อาจรับช่วงต่อทางพันธุกรรม (เช่น นิสัยที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เป็นคนอ่อนไหว เจ้าอารมณ์ หรือขี้หงุดหงิด) จะไม่เป็นอุปสรรคกับการเติบโตผลิบานของชีวิต

ความรักความผูกพันอันมั่นคงจึงเป็นคำตอบสุดท้ายที่ครอบคลุมนิยามการเลี้ยงลูกอย่างมีคุณภาพได้ตรงไปตรงมาที่สุด



เลี้ยงลูกผูกพัน

เพราะธรรมชาติของสมองจำเป็นต้องมีการเรียนรู้เพื่อเติบโตและปรับตัว การเลี้ยงลูกให้เกิดความผูกพันจึงเป็นตัวแปรหนึ่งของพัฒนาการ เพราะเหตุผลข้างต้นที่เด็กจำเป็นต้องรู้สึกมั่นคงปลอดภัยจากฐานที่มั่นภายในตนเองเสียก่อนจึงจะกล้าก้าวไปสู่โลกกว้าง 

มาดูกันดีกว่าว่าในสมองของเด็กๆ นั้นเขาพัฒนาความผูกพันป็นลำดับขั้นจากการสื่อสารปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ได้อย่างไร

ขั้นที่หนึ่ง ปรับจูน (Attunement) คือ กระบวนการที่สมองฝั่งขวาของลูกเรียกร้องการเชื่อมต่อกับพ่อแม่ผ่านการรับส่งภาษากายซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอารมณ์ความรู้สึกให้รู้ และรอคอยว่าพ่อแม่จะตอบสนองเขาอย่างไร เขาจะรู้สึกว่าได้รับการตอบสนองก็ต่อเมื่อพ่อแม่เข้าใจสิ่งที่ตนต้องการและตอบสนองทางการสบตา สีหน้า น้ำเสียง สัมผัส สอดคล้องในจังหวะเวลาที่เหมาะเจาะพอดี (contingent communication) 

ขั้นที่สอง ภาวะสมดุล (Balance) เด็กเกิดความรู้สึกสมดุลกายใจจากการได้รับการตอบสนองและถูกเข้าถึง สังเกตได้จากวงจรการตื่นและนอนหลับที่เหมาะสม ปฏิกิริยาที่มีต่อความเครียด อัตราการเต้นของหัวใจ การย่อยและการหายใจ นักประสาทวิทยาอธิบายว่าตัวชี้วัดเหล่านี้เกี่ยวพันกับการมองเห็นแม่ในสายตาด้วย สมองเด็กเล็กจะตึงเครียดเมื่อไม่เห็นแม่อยู่ในสายตาเป็นเวลานาน และมีผลให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ บกพร่อง

ขั้นสุดท้าย ภาวะเชื่อมโยงสอดประสาน (Coherence) เด็กรู้สึกเป็นปึกแผ่นจากการเชื่อมโยงต่อติดกับผู้เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ สมองมีเสถียรภาพในการรับรู้และเข้าใจประสบการณ์พร้อมกับปรับตัวตามสิ่งแวดล้อมได้อย่างปกติสุข 

แมรี เอนสเวิร์ธ (Mary Ainsworth) ศิษย์คนใกล้ชิดของ จอห์น โบวล์บี ต่อยอดทฤษฎีความผูกพันโดยจำแนกลักษณะความผูกพันที่เด็กจะมีต่อพ่อแม่ที่มีวิธีเลี้ยงดูแตกต่างกันดังนี้ 

 

ลักษณะของความผูกพันที่เป็นผลจากการเลี้ยงดู

ในงานศึกษาดังกล่าว เอนสเวิร์ธให้ชื่อว่า ‘ทารกกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย’ โดยนำเด็กวัยหนึ่งขวบกับแม่เข้ามาในห้องซึ่งมีของเล่นมากมายกับคนแปลกหน้าคนหนึ่ง จากนั้นให้แม่เด็กเดินออกไป ปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังกับคนแปลกหน้าสักพักแล้วค่อยให้แม่เด็กกลับเข้ามาเพื่อสังเกตพฤติกรรม

เด็กที่มีความผูกพันแบบมั่นคง 

เด็กที่มีความผูกพันแบบมั่นคงรู้สึกกลัวตอนที่แม่ไม่อยู่ แต่เมื่อแม่กลับมาก็รีบวิ่งไปหาแสดงความใกล้ชิด สงบลงในชั่วเวลาสั้นๆ และกลับไปเล่นสนุกได้ใหม่ เพราะได้รับความเอาใจใส่จากผู้ใหญ่แบบคงเส้นคงวาและเสมอต้นเสมอปลาย การมีแม่อยู่ใกล้ๆ เป็นตัวการันตีเพียงพอแล้วว่าเขาจะปลอดภัย

เด็กที่มีความผูกพันแบบห่างเหิน 

เชื่อหรือไม่ว่าเด็กที่มีความผูกพันแบบหมางเมินห่างเหิน ไม่แสดงอาการร้อนหนาวใดๆ เมื่อแม่เดินออกจากห้อง เขายังเล่นของเล่นต่อจนเมื่อแม่กลับมาก็ไม่ยี่หระ เหมือนกับจะบอกเป็นนัยๆ ว่า “ที่ผ่านมาจะอยู่หรือไม่อยู่ก็ไม่ต่างกันนี่” แต่อย่างไร ผลจากการวัดอัตราการเต้นของหัวใจพบว่า แม้แสดงออกว่าไม่แคร์ แต่ภายในเต็มไปด้วยความเครียดและการกลับมาของแม่ช่วยให้สงบลง 

เด็กที่มีความผูกพันแบบครึ่งๆ กลางๆ

เมื่อแม่เดินออกไปจากห้อง เด็กที่ถูกเลี้ยงดูด้วยพ่อแม่ที่เดี๋ยวก็สนใจ เดี๋ยวก็ปล่อยปละจนเกิดความไม่มั่นใจว่าเขาพึ่งพาพ่อแม่ได้จริงไหม เมื่อแม่กลับเข้ามาในห้องจะรีบวิ่งถลาเข้าหาอย่างขวัญเสีย ปลอบเท่าไหร่ก็ไม่หยุดร้องและเกาะแม่แจจนไม่กลับไปเล่นต่อ 

เด็กที่มีความผูกพันแบบสับสน

เด็กกลุ่มสุดท้ายในงานศึกษาของเอนสเวิร์ธ คือกลุ่มที่แสดงพฤติกรรมพลุ่งพล่านปั่นป่วน เมื่อแม่กลับมาก็รีบเข้าไปหาแต่แล้วก็ผลักแม่แล้ววิ่งหนี บางคนนอนกลิ้งไปกับพื้น หรือเข้าทุบตีแม่ พฤติกรรมส่วนใหญ่คือแวบแรกที่เห็นแม่กลับมาจะแสดงความดีใจ แต่เมื่อแม่เข้าใกล้ก็เกิดความกลัว

เด็กกลุ่มนี้ถูกขยายความในการศึกษาของ แมรี เมน (Mary Main) กับ อีริค เฮสเส (Erik Hesse) อาจารย์ด้านจิตวิทยาแห่ง University of California, Berkeley ต่อมาว่าพฤติกรรมที่แสดงออกลักษณะนี้เกิดจากการได้รับการตอบสนองที่ข่มขู่คุกคามหรือถูกพ่อแม่ฟาดงวงฟาดงาใส่เมื่อเขาเรียกร้องต้องการ เด็กสับสนทั้งในตัวเองและกับพ่อแม่เพราะที่พักพิงเดียวของเขากลับกลายเป็นที่มาของมหันตภัยเลวร้ายด้วยเช่นกัน



เด็กแสดงออกกับผู้อื่นโดยอิงจากความผูกพันในครอบครัว

เด็กที่เติบโตจากการเลี้ยงดูแบบหมางเมินห่างเหินหรือเอาแน่เอานอนไม่ได้ จะปรับวิธีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ให้กลมกลืนกับสิ่งที่ตนได้รับ แล้วสร้างรูปแบบความสัมพันธ์กับคนอื่นโดยอิงจากความผูกพันกับครอบครัวนั่นเอง กับที่บ้านเป็นอย่างไร กับครู เพื่อน หรือคนรัก ก็เอาแพทเทิร์นเดียวกันไปใช้ เมื่อความเชื่อฝังรากลึกเกินหยั่ง เขาก็จะเอาแต่อยู่กับโลกที่มันแห้งแล้ง ปราศจากความรู้สึกและเหมาว่าผู้คนไม่อาจเปิดเผยอารมณ์ระหว่างกันได้ (ผูกพันแบบห่างเหิน) หรือโลกนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนจนไว้วางใจใครไม่ได้เลย (ผูกพันแบบครึ่งๆ กลางๆ)

ส่วนเด็กที่พัฒนาความผูกพันแบบสับสน พ่อแม่นอกจากไม่ตอบสนองความต้องการเขา ยังแสดงปฏิกิริยาที่ทำให้เขาหวาดกลัวแบบไร้ทางออก (fright without solution) ความผูกพันประเภทนี้มักพบในเด็กที่ถูกพ่อแม่ทำทารุณทุบตี หรือครอบครัวที่ใช้ยาเสพติดและขว้างปาอารมณ์ฉุนเฉียวใส่ลูกเป็นประจำ

อย่าว่าแต่ความรู้สึกปลอดภัยไม่มี เด็กไม่อาจแม้แต่จะสร้างคุณค่าในตัวตนได้เพราะไม่สามารถยึดโยงสายสัมพันธ์กับพ่อแม่ เกิดภาวะย้อนแย้ง สับสนที่รู้สึกกลัวพ่อแม่ทั้งที่ใจใฝ่หาความอบอุ่นปลอดภัยจากพวกเขา

งานวิจัยที่ศึกษาพัฒนาการทางสมองของเด็กกลุ่มนี้ พบว่าพวกเขามีพัฒนาการสมองบกพร่อง บ้างมีขนาดเล็กกว่ามาตรฐานในช่วงวัยเดียวกัน บ้างพบว่าเซลล์ที่เป็นสะพานเชื่อมสมองฝั่งซ้ายขวาไม่สมบูรณ์ทำให้สมองทั้งสองฝั่งไม่ประสานงานกัน บางคนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ดีใจก็จะดีใจสุดกู่จนกลายเป็นล้นเพราะสารสื่อประสาทตัวหนึ่งที่ชื่อ GABA ไม่ทำงาน

 

ทั้งหมดนี้มีสาเหตุจากฮอร์โมนความเครียดซึ่งเด็กหลั่งออกมาเวลาตื่นกลัว ปัญหาที่ตามมาคือเด็กมีปัญหาในการเรียนและเข้าสังคมไม่ได้ และที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือมีแนวโน้มในการใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นด้วย

 

ซึ่งเมื่อสืบสาวต่อไปแล้วก็พบว่า พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบนี้มักมี ปมปัญหาค้างคา (unresolved trauma) ที่สืบต่อมาจากรุ่นพ่อแม่ตนเองเช่นกัน แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ทุกคนที่มีปมปัญหาจะสร้างความผูกพันแบบสับสนกับลูกไปเสียหมด ตราบใดที่เขายังแสดงความรักและเมตตาให้ตนเองและลูกมากพอ 

อาจารย์อลัน ซรูเฟ (Alan Sroufe) ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กแห่งมหาวิทยาลัยมินเนโซตาทำการศึกษาผลกระทบระยะยาวว่าลักษณะความผูกพันในเด็กที่เข้าร่วมงานวิจัยของเอนสเวิร์ธ ส่งผลให้เขาเติบโตไปเป็นอย่างไร โดยเก็บข้อมูลการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กวัยเดียวกัน เพื่อนๆ มองเด็กเหล่านี้เช่นไร และพวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่คนในบ้านอย่างไรบ้าง ผลออกมาว่า

  • เด็กที่มีความผูกพันแบบมั่นคง โตไปแล้วมีความเป็นผู้นำสูง
  • เด็กที่มีความผูกพันไม่มั่นคง-แบบห่างเหิน เพื่อนที่โรงเรียนไม่อยากคบหาผูกมิตร
  • เด็กที่มีความผูกพันไม่มั่นคง-แบบครึ่งๆ กลางๆ กลายเป็นเด็กที่ลังเลและวิตกกังวล ขาดความเด็ดเดี่ยว
  • เด็กที่มีความผูกพันไม่มั่นคง-แบบสับสน เข้ากับคนอื่นไม่ได้และควบคุมอารมณ์ไม่เป็น 

ลักษณะความผูกพันที่เด็กพัฒนาขึ้นจะส่งผลถึงชุดพฤติกรรมที่เด็กใช้โต้ตอบกับพ่อแม่และฝังจำจนเป็นบุคลิกลักษณะเฉพาะตัว เมื่อเติบโตขึ้นมาเขาก็จะส่งต่อแพทเทิร์นความสัมพันธ์นั้นไปยังคนรอบตัวและแม้แต่ครอบครัวที่เขาสร้างเองด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อเท็จจริงจากงานศึกษาที่น่าสนใจ อยากแบ่งปันคุณแม่คุณพ่อและผู้ใหญ่ที่มีเด็กๆ ในบ้านลองทบทวนอยู่สองประเด็น 

หนึ่ง แม้เราจะสามารถเยียวยาบาดแผลทางความรู้สึกที่เด็กได้รับจากการเลี้ยงดูที่เลวร้ายได้ แต่ยังไม่มีงานใดรับรองว่าความเสียหายที่เกิดกับเซลล์สมองจากภาวะความเครียดจะฟื้นคืนกลับมาดีได้ดังเดิม หรือมีวงจรการเชื่อมต่อใหม่ที่ทดแทนหน้าที่เดิมได้หรือไม่ 

สอง ลักษณะความผูกพันที่เด็กพัฒนาขึ้นกับพ่อหรือแม่นั้นอาจไม่เหมือนกัน พ่อแบบหนึ่ง แม่แบบหนึ่ง และลักษณะนั้นๆ ก็ไม่ได้ถาวรยืนยาวไปตลอดชีวิต เพราะคนเราทุกคนมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันไปตามช่วงเวลา ดังนั้นลักษณะของความผูกพันที่เกิดขึ้นแล้วสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเรากับลูกผูกพันแบบมั่นคงอยู่แล้วจงรักษาความสัมพันธ์ไว้ให้เสมอต้นเสมอปลาย แต่ถ้าที่ผ่านมายังทำได้ไม่ดีพอ ก็ไม่มีคำว่าสายที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้เกิดขึ้น

 

 

SOURCE :

The Potential

https://thepotential.org/family/attachment-parenting/