‘7 วัน 7 กิจกรรม’ เมื่อหยุดอยู่บ้าน กระชับความสัมพันธ์และสร้างคาแรกเตอร์ให้ลูก

Last updated: 6 เม.ย 2563  | 

วันที่ 6 เมษายน 2563 - 13:15 น.


เนื่องจากช่วงนี้ไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ทำให้บ้านเมืองเราเดินหน้าสู่บรรยากาศแห่งการ ‘work from home’ รวมถึงโรงเรียนที่ทยอยปิดเพื่อป้องกันการแพร่ของไวรัส แต่ในคำว่า ‘อยู่บ้าน’ นั้นมีความหนักใจและกังวลใจซ่อนอยู่ อย่างไรก็ดี The Potential (หนึ่งในผู้ประสบภัย) เราจับความกังวลใจของผู้ปกครองบางท่านในแง่ ‘อยู่บ้านแล้วจะทำอะไรดี’ จึงหันไปปรึกษาเพื่อนพ้องน้องพี่นักออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อช่วยกันคิดกิจกรรมซึ่งมีโจทย์คือ ครอบครัวต้องทำเองได้ง่ายๆที่บ้าน จากวัสดุเหลือใช้ที่บ้าน ราคาไม่แพง และหาซื้ออุปกรณ์ได้ง่ายในสถานการณ์เช่นนี้


ไม่มากก็น้อย… เราหวังว่ากิจกรรมเหล่านี้จะช่วยคนในครอบครัวพักความเครียดความกังวล ถือโอกาสใช้วันเวลาแบบนี้กระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว และทำกันยาวไปแบบ ‘นันสต็อป’ 7 วัน 7 กิจกรรมกันไปเลย

แจ๋-สิริกาญจน์ บรรจงทัด นักการละครหุ่น เจ้าของกลุ่ม puppet by Jae และขวัญ-ขวัญหทัย สมแก้ว วิทยากรอิสระ นักออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้ เป็น 2 วิทยากรที่จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมที่ว่านี้

และเพื่อให้แน่ใจว่ากิจกรรมเหล่านี้เวิร์คกับเด็กจริงๆ เราได้ครอบครัวอาสามาลองทำกิจกรรมกับเราในวันนี้ คือธีตา นิเวศชนะจิต หรือแม่ยุ้ย และพ่อก็อต ปชาฤทธิ์ จอมเงิน สองสามีภรรยาเจ้าของ Little Splash Kid & café จ.นครปฐม พาน้องมอนิ่ง ชาริตา จอมเงิน ลูกสาววัย 5 ขวบของพวกเขามาทำกิจกรรมกับเราด้วย ก่อนจะเริ่มทำกิจกรรมที่แจ๋และขวัญเตรียมมา แม่ยุ้ยก็ขอชิงแนะนำกิจกรรมที่เธอทำอยู่กับน้องมอนิ่ง นั่นคือการปลูกต้นกระบองเพชร


กิจกรรมที่ 1 หาบ้านให้กระบองเพชร

กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรม Outdoor ที่เด็กจะได้รู้จักวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการปลูกต้นไม้ ได้รู้จักชีววิทยาของพืชอวบน้ำ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกได้รู้จักกับสิ่งมีชีวิตลักษณะนี้ เพื่อให้เขาให้คุณค่ากับการเล่นที่ใส่ใจกับสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะพืช ว่าพืชเป็นสิ่งมีชีวิต เรากำลังเพาะพันธุ์พืชที่เราต้องใส่ใจเขาในฐานะที่เขาเป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่ง อาหารของพืชที่ต้องได้จากดิน ปุ๋ย น้ำ แสงแดด การสอนลูกให้ใส่ใจกับสิ่งมีชีวิตลักษณะนี้ ทำให้คาแรกเตอร์ของการใส่ใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ติดตัวลูกไป ขณะทำกิจกรรมลูกจะเห็นว่า ดิน หิน ทุกเม็ดมีคุณค่าต่อการก่อกำเนิดพืชมาได้ ซึ่งเวลาการเติบโตของไม้อวบน้ำก็เป็นเหมือนช่วงเวลาการเติบโตของลูกเช่นเดียวกัน

จุดเด่นของการทำกิจกรรมลักษณะนี้คือการวางแผน เตรียมอุปกรณ์ และลงมือทำทีละขั้นตอน ซึ่งจะได้ฝึกทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ การใส่ใจจดจ่อ การกำกับตัวเองให้อยู่นิ่งกับการทำงานทีละขั้นตอนจนกว่างานจะบรรลุเป้าหมาย ซึ่งแต่ละขั้นนั้นไม่ง่าย ทำอย่างไรที่จะทำให้ลูกใส่ใจจดจ่อ และรับผลความสำเร็จร่วมกันทั้งครอบครัว รวมถึงเก็บอุปกรณ์ให้เรียบร้อย เป็นการสร้างลักษณะนิสัยของการรับผิดชอบได้


กิจกรรมที่ 2 นิทรรศการครอบครัว

แดดในสวนเริ่มแรงขึ้น แม่ยุ้ยเลยชวนทุกคนให้เข้ามาหลบแดดภายในร้าน แจ๋และขวัญก็ไม่ปล่อยให้เสียเวลาเปล่า พวกเธอชวนทำกิจกรรมต่อไป กิจกรรมที่ว่าคือ สร้างนิทรรศการในบ้านด้วยรูปถ่ายครอบครัว

ขวัญเล่าถึงที่มาของกิจกรรมว่า กิจกรรมนี้เป็นการสร้างช่วงเวลาที่สมาชิกครอบครัวจะได้นั่งและทบทวนความทรงจำที่มีร่วมกันผ่านการดูภาพถ่าย พร้อมสื่อสารความในใจที่ไม่กล้าพูดผ่านการเขียนการ์ด ฝึกความกล้าแสดงออกที่จะพูดความรู้สึกข้างในของเด็ก

แนวคิดของกิจกรรมนี้คือ การดึงความทรงจำ ความรู้สึกในช่วงเวลาดีๆ ที่ครอบครัวมีร่วมกันขึ้นมาใช้ พ่อกับแม่ควรให้เวลาคุยกับลูกอย่างใจเย็นมากกว่ามุ่งทำผลงานให้สำเร็จ


กิจกรรมที่ 3 ลังกระดาษแปลงกาย: เกมฟุตบอล

กิจกรรมต่อไปเป็นการทำของเล่นจากวัสดุเหลือใช้ที่น่าจะมีทุกบ้าน นั่นคือ ‘กล่องลังกระดาษ’ โดยแจ๋และขวัญนำมาสาธิต 2 เกม คือ เกมฟุตบอล และ เกมเขาวงกต พวกเธอบอกว่าแรงบันดาลใจมาจากเกมกด เกมตู้ ที่เล่นครั้งยังเป็นเด็ก นำมาให้เด็กๆ ลองทำตั้งแต่กระบวนการผลิตตัวเกมไปจนถึงการเล่น เป็นข้อดีของการทำเกมเอง ที่เด็กๆ สามารถคิดเนื้อเรื่อง กฎกติกาได้เอง เป็นการฝึกทักษะทั้งภายนอก คือ ฝึกการใช้มือหยิบจับ ตัด ระบายสี และทักษะภายใน เช่น การจินตนาการ การคิดวิเคราะห์ การอยู่ร่วมกันกับคนอื่น เป็นต้น

แนวคิดของกิจกรรมนี้คือ การทำสิ่งประดิษฐ์ที่ซับซ้อนขึ้น ต้องใส่ใจจดจ่อ (Attention) มากขึ้น เกมนี้มีการทำชิ้นงานที่ซับซ้อน ต้องวางแผนงานมากกว่ากิจกรรมที่ผ่านมา ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกให้เข้าใจเรื่องการทำงานให้สำเร็จไปทีละขั้นกว่าจะสำเร็จเป็นงานชิ้นใหญ่ได้ เช่น การทำกล่อง ทำประตูฟุตบอล ทำสนาม ทำไม้หมุน ทำหุ่น ให้แข็งแรง เราอาจจะวางแผนในการทำกล่องชิ้นนี้ให้สำเร็จใน 3-5 วัน แต่ละวันให้เห็นความสำเร็จไปทีละขั้น กิจกรรมนี้ช่วงเวลาของการค่อยๆ ประดิษฐ์ จึงมีความสำคัญพอๆ กับการได้เล่นสนุกร่วมกัน

ความสนุกของเกมนี้คือช่วงเวลาของการเล่น ซึ่งการที่ลูกใจจดใจจ่อที่จะเล่นเกมนี้ เมื่อได้เล่นสนุกแล้ว พ่อแม่สามารถชวนคุยได้ว่า เห็นไหมว่ากว่าที่เราจะทำเกมเสร็จต้องอดทนและกำกับตนเอง (Self-directed) อย่างไร เพื่อให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจถึงชิ้นงานชิ้นโบว์แดงที่เขาทำ


กิจกรรมที่ 4 ลังกระดาษแปลงกาย: เกมเขาวงกต

แนวคิดของเกมนี้คือ การนำวัสดุเหลือใช้ที่มีในบ้านมาทำเป็นของเล่น คุณพ่อคุณแม่ต้องชวนลูกสังเกตว่าที่บ้านเรามีของเหลือใช้อะไรบ้าง เช่น กล่องกระดาษ แก้วน้ำพลาสติก กระดาษสี เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่าวัสดุเหลือใช้สามารถนำกลับมาใช้ได้

เช่นเดียวกับเกมฟุตบอล เกมนี้ต้องอาศัยการวางแผนและการสร้างสรรค์ คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนคิดชวนคุยให้ลูกเป็นเจ้าของไอเดีย สร้างสรรค์ชิ้นงานร่วมกัน และช่วยทำให้งานสำเร็จ

การเล่นเกมนี้เด็กต้องใช้เซนส์เรื่องความสมดุล (Sense of balance) เพื่อเลี้ยงลูกบอลให้ไปถึงเส้นชัยให้ได้ ต้องกำกับอารมณ์ของตนเอง ไม่หงุดหงิด หากหงุดหงิด คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนคิดให้เขากำกับอารมณ์ตนเองได้แม้ว่าจะแพ้ และเป็นการฝึกให้เด็กใช้ร่างกายในการทรงตัวทั้งแขน ขา ทำให้เด็กได้ใช้ร่างกายมากกว่ากิจกรรมอื่นๆ


กิจกรรมที่ 5 หุ่นเงาโรงเล็ก

แนวคิดหรือเสน่ห์ของกิจกรรมนี้คือ การนำเรื่องเล่า นิทาน มาทำให้เป็นภาพ เมื่อใช้แสงไฟส่องไปที่เงาจะเกิดความมหัศจรรย์ เห็นความสร้างสรรค์ การทำกิจกรรมนี้สิ่งที่น่าใส่ใจคือ การให้เวลากับนิทาน ให้ลูกเข้าใจเรื่องราวของนิทาน เข้าใจตัวละคร เข้าใจแก่นเนื้อหาการเรียนรู้ของนิทานเรื่องนี้เป็นลำดับแรก

จากนั้น ขั้นตอนของการผลิตโรงละครและหุ่น พ่อแม่ก็ควรให้ความสำคัญในการสร้างสรรค์และผลิตตัวละครตามจินตนาการของลูก วางแผนการทำอย่างเป็นระบบ ฝึกการวางแผน จินตนาการ กำกับตัวเอง จัดการอารมณ์ อดทนทำให้เสร็จเพราะใช้เวลาในการทำ พ่อแม่ให้เวลาในการทำได้มากกว่า 1 วัน

ในการทำหุ่นเงาพ่อแม่อาจชวนลูกให้เป็นคนเลือกใช้สี ใช้กรรไกร ทากาว นำมาฉายกับแสง หากไม่พอใจสามารถทำใหม่จนเป็นที่พอใจ ลูกจะได้เรียนรู้ถึงสุนทรียะของแสง สี รูปทรง โดยไม่ต้องคำนึงถึงความสมจริงและความสวยงาม แต่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ใช้จินตนาการได้อย่างเต็มที่

เมื่อทำเสร็จแล้วจะวางแผนการเชิด ให้ลูกได้เป็นคนเล่าเอง เล่นเอง โดยพ่อแม่ไม่ปิดกั้นจินตนาการ พ่อแม่อาจจะเป็นเพียงผู้เล่าโครงเรื่อง แต่การพากย์ และบทสนทนาของตัวละครควรเปิดพื้นที่ให้ลูกเป็นคนเล่นเองเพื่อส่งเสริมจินตนาการ และเข้าใจในนิทานนั้นอย่างถ่องแท้มากขึ้น เด็กส่วนใหญ่จะจดจำเรื่องราวได้ และเล่นซ้ำ พ่อแม่ควรให้เวลาลูกได้เล่นซ้ำ เพราะนั่นเป็นช่วงเวลาที่กำลังหล่อหลอมให้เขาเข้าใจเรื่องราว พฤติกรรม เหตุและผลของตัวละครได้มากกว่าการฟังนิทานอย่างเดียวนอกจากความสนุก ได้ใช้จินตนาการ เด็กๆ ยังได้เรียนรู้เรื่องแสง เช่น วัตถุตกกระทบแสงสะท้อนเป็นเงา หรือวัตถุถ้าอยู่ใกล้แสงเงาจะใหญ่ ถ้าอยู่ไกลเงาจะเล็ก เป็นต้น แล้วก็มีเรื่องของคณิตศาสตร์ เช่น การคำนวณระยะทาง


กิจกรรมที่ 6 นิทานสี่มิติ

แรงบันดาลใจกิจกรรมนี้ ขวัญเล่าว่า มาจากการเล่านิทานของพ่อแม่ให้เด็กฟัง นำนิทานพวกนั่นที่มีแค่ตัวอักษรมาทำให้กลายเป็นจริง ซึ่งกิจกรรมนี้จะใช้ศิลปะหลายแบบ เช่น การพับ วาดรูป ส่วนเนื้อเรื่องแล้วแต่ความชอบของเด็กๆ เลยว่าอยากนำเอานิทานเรื่องโปรดมาทำ หรือแต่งใหม่ให้เป็นนิทานของตัวเองก็ได้

แนวคิดของกิจกรรมนี้คือ การเล่านิทานเป็นช่วงเวลาของการส่งเสริมความเข้าใจในชีวิต เช่น คุณธรรม จริยธรรม และพฤติกรรมของตัวละครผ่านนิทาน พ่อแม่ควรคัดสรรนิทานเข้าบ้านที่จะส่งเสริมให้ลูกได้เข้าใจเรื่องราว บริบท พัฒนาการของตัวละคร เช่น บางเรื่องสอนเรื่องความรับผิดชอบ ความกตัญญู การเคารพต่อสิ่งแวดล้อม หรือพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การรักษาความสะอาด เป็นต้น คุณพ่อคุณแม่ควรคัดสรรเรื่องที่มีคุณค่าในการเรียนรู้ให้ลูก

ในการเล่านิทาน การเล่าที่ดีคือเล่าจากความเข้าใจของพ่อแม่ ไม่เร่งรีบ ช้าๆ ใช้ห้วงเวลานี้อยู่กับลูกให้เต็มที่ อาจเป็นช่วงเวลาเช้าหรือก่อนนอน กำหนดให้เป็นจังหวะเวลา (Rhythm) ที่สม่ำเสมอ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับลูกคือลูกจะมีจินตนาการมาก การเล่าเรื่องของเราจะไปปรากฎในจินตนาการของลูก ทุกคำที่เราคัดสรรจะไปสร้างภาพจินตนาการในหัวของลูก พ่อแม่ควรสังเกตว่าลูกชื่นชอบเรื่องไหน ให้เขาเลือกเรื่องที่อยากทำเป็นนิทาน 4 มิติ เพื่อให้ลูกทำซ้ำ


กิจกรรมที่ 7 ร้องเพลง

หลังทำกิจกรรมมาตั้งแต่เช้า แม่ยุ้ยและมอนิ่งเริ่มหมดแรง แจ๋และขวัญเป็นผู้ชวนทำกิจกรรมสุดท้าย เป็นกิจกรรมง่ายๆ ไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรมาก คือ การร้องเพลง พวกเธอให้พ่อก็อตหยิบกีตาร์แล้วมานั่งตั้งวงร้องเพลงด้วยกัน โดยมีแม่ยุ้ยและมอนิ่งเป็นนักร้อง ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องร้องเพลงเพราะหรือต้องเล่นดนตรีเป็น แค่มานั่งใช้เวลาร่วมกันก็เพียงพอแล้ว เป็นการจบวันที่สวยงาม

แนวคิดของกิจกรรมนี้ คือ นอกจากการสร้างสรรค์กิจกรรมขึ้นมาใหม่แล้ว คุณพ่อคุณแม่ที่เล่นดนตรีเป็นอาจนำเครื่องดนตรีมาเล่น ร้องเพลง เพื่อให้เกิดความบันเทิง อาจจะร้องให้ลูกฟังก่อน เหมือนการเล่านิทานที่พ่อแม่ร้องให้ลูกฟังก่อน ทั้งนี้การใช้คำ การเรียบเรียงภาษา อาจเลือกเพลงที่ไม่ยากเกินไป และความหมายของภาษา เข้ากับช่วงวัยของลูก คำแนะนำสำหรับการทำกิจกรรมทุกกิจกรรม คือ ให้ลูกเล่นของเล่นที่ทำขึ้นแบบรักษาของ ทะนุถนอม ไม่ทำให้ของพังง่าย และแบ่งเวลาเล่น รวมถึงเล่นแล้วหาที่เก็บให้เรียบร้อย




Source:

Thepotential

7 DAYS PLAY AND LEARN: ‘7 วัน 7 กิจกรรม’ เมื่อหยุดอยู่บ้าน กระชับความสัมพันธ์และสร้างคาแรกเตอร์ให้ลูก

https://thepotential.org/2020/03/22/7-day-7-activity-at-home