Last updated: 19 มิ.ย. 2563 |
วันที่ 19 มิถุนายน 2563 - 16:01 น.
เราสร้างกล้ามเนื้อให้บึกบึน แข็งแกร่ง มีสมรรถนะที่สูงกว่าเดิมได้ด้วยการใช้งานทุกวัน หรือออกกำลังยกน้ำหนักเพื่อเพาะสร้างกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน แล้วกับสมองล่ะ เราสร้างความแข็งแรงและขยายขีดความสามารถของมันให้มากขึ้นเหมือนกล้ามเนื้อได้หรือไม่?
ที่จริงแล้ว สมองมีความสามารถในการจัดแจงปรับเปลี่ยนตนเองตามความรู้ที่ป้อนใส่เข้าไป ถ้าได้ลับสมองประลองปัญญาบ่อยๆ หรือเรียนรู้สิ่งใหม่สม่ำเสมอ สมองส่วนที่ใช้งานเป็นประจำก็จะแข็งแรง ส่วนที่ได้เรียนรู้ใหม่ก็จะเติบโตขึ้นทั้งทางกายภาพ และมีขีดความสามารถอื่นเพิ่มขึ้นด้วย เราเรียกความสามารถของสมองในการขยายตัวเติบโตนี้ว่า Brain Plasticity หรือ Neuroplasticity
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพด้วยอาชีพคนขับรถแท็กซี่ที่ต้องจดจำเส้นทางลัด คนกลุ่มนี้จะมีสมองส่วน hippocampi (พื้นที่เก็บความจำ) ขยายใหญ่ขึ้น หรือกรณีอันน่าพิศวงของเด็กหญิงชาวอเมริกัน คาเมรอน มอตต์ (Cameron Mott) ซึ่งป่วยด้วยโรคร้ายแรงจนได้รับการผ่าตัดเอาสมองออกไปครึ่งหนึ่ง แต่สมองของเธอที่เหลือเพียงครึ่งเดียวก็สามารถ ‘เชื่อมต่อใหม่’ จนทำงานได้เหมือนคนปกติร้อยเปอร์เซ็นต์
นี่คือพลังมหัศจรรย์ของ Neuroplasticity!
ในขณะที่การศึกษาในปัจจุบันเล็งเห็นว่า กรอบคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) เป็นหัวใจสำคัญของการเตรียมเยาวชนคุณภาพให้เท่าทันโลกที่กำลังหมุนไป หากครูเสริมให้นักเรียนเข้าใจกลไกการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ก็จะยิ่งช่วยขยายภาพให้พวกเขามองเห็นความเป็นได้อย่างชัดเจนว่า การเรียนรู้และฝึกทักษะในด้านที่ไม่เคยใช้มาก่อนก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางบวกอย่างไรกับสมอง และแท้จริงแล้วพวกเขาสามารถสร้างทักษะ ปัญญา และความคล่องแคล่วเชี่ยวชาญขึ้นมาได้ด้วยตนเอง
งานวิจัยของ แครอล ดเวค (Carol Dweck) และ ลิซา แบล็คเวล (Lisa Blackwell) แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) เรื่อง Mind-sets and Equitable Education สนับสนุนข้อเสนอข้างต้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะงานวิจัยนี้ศึกษานักเรียนเกรด 7 สองกลุ่ม กลุ่มแรกผ่านการเรียนการสอนตามปกติ กับอีกกลุ่มครูเพิ่มการสอนเรื่อง Brain Plasticity ให้พวกเขาโดยอธิบายว่าทุกๆ การเรียนรู้และการทำความเข้าใจสรรพวิชาต่างๆ นั้น สมองพวกเขากำลังเติบโตแข็งแรงขึ้นทุกขณะ ผลปรากฏว่าเด็กกลุ่มที่สองนี้มีแรงจูงใจในการเรียนมากขึ้นและทำเกรดวิชาคณิตศาสตร์ได้ดีกว่ากลุ่มแรก
นอกจากจะสรุปได้ตรงๆ ว่าครูควรสอนข้อมูลเรื่องกลไกการเติบโตของสมองควบคู่ไปกับเนื้อหาความรู้ทั่วไปด้วยแล้ว การเปิดโลกทัศน์ผู้เรียนให้ตระหนักถึงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงตนเองอันยิ่งใหญ่นี้เท่ากับเป็นการกดปุ่มสตาร์ท Growth Mindset ให้เด็กลบล้างอคติความเชื่อเรื่องเป็น ‘อัจฉริยะฟ้าประทาน’ หรือ ‘โง่แต่กำเนิด’ ไปได้เลยทีเดียว
นักศึกษาคนหนึ่งซึ่งเป็นตัวโจ๊กในกลุ่มเพื่อนมาโดยตลอด เมื่อได้เรียนรู้เรื่องนี้จากดเวค ถึงกับร้องดีใจว่า “งั้นผมก็ไม่ต้องโง่อย่างนี้ไปตลอดน่ะสิ”
โจ โบเลอร์ (Jo Boaler) ผู้เขียนหนังสือ Mathematical Mindsets และสอนวิชาคณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน อธิบายอิทธิพลของ Growth Mindset ที่มีผลต่อการเติบโตทางสมองว่า
นักเรียนที่มี Growth Mindset เมื่อคิดคำนวณพลาดหรือแก้โจทย์ไม่ได้ กระบวนการของสมองที่ประมวลความผิดพลาดนี้จะมองจุดที่ผิดหรือยากเป็นอุปสรรคท้าทาย และลองคิดหาวิธีใหม่ต่อไป ซึ่งนี่เป็นวิธีที่กระตุ้นให้สมองค่อยๆ เติบโตพัฒนาขึ้นนั่นเอง
ปัจจัยที่สำคัญช่วยสนับสนุน Growth Mindset อย่างได้ผลชะงัดที่สุดนั้นคงไม่พ้นครูที่ต้องสอนเพื่อให้เด็กเรียนรู้ เข้าใจ (learning subject) ไม่ใช่เพื่อให้ตอบถูก (performance subject)
ส่วนประเด็นเรื่องการสอดแทรกความรู้ด้านกลไกสมองให้นักเรียนควบคู่ไปด้วย แม้ครูจำนวนไม่น้อยเห็นพ้อง แต่ส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับการเทรนเรื่องนี้อย่างจริงจังมาก่อน ดังนั้นครูจึงจำเป็นต้องเตรียมตัวหาข้อมูลความรู้พื้นฐานเพื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับช่วงวัยของเขาด้วย
ตัวอย่างการจัดการเรียนรู้
จุดประสงค์ในการเรียนรู้
ความรู้เรื่องสมอง
สมองแยกออกเป็นสองฝั่ง : ซ้าย-ขวา แต่ละข้างมีส่วนประกอบแตกต่างกันไป ส่วนประกอบเหล่านั้นมี cerebrum, prefrontal cortex, hippocampus, cerebellum, brain stem, amygdala ทุกส่วนล้วนทำงานร่วมกันในการเรียนรู้และเติบโต
ขอบคุณภาพจาก : the potential
ส่วนประกอบของสมอง
ขอบคุณภาพจาก : the potential
ส่วนประกอบของเซลล์สมอง (Neuron)
กลไกการเติบโตของสมอง (Neuroplasticity)
ก้อนสมองคือกลุ่มเซลล์ขนาดใหญ่ประกอบกันขึ้น แต่ละเซลล์สมอง (neuron) รับส่งข้อมูลผ่านกระแสไฟฟ้าซึ่งกันและกันในขณะที่เราทำกิจกรรมต่างๆ ความเชี่ยวชาญคล่องแคล่วในกิจกรรมใดๆ ยกตัวอย่างเช่น คนที่เต้นเก่ง ทักษะการเต้นมาจากการที่กลุ่มเซลล์สมองส่วนสั่งการเคลื่อนไหว สามารถรับส่งข้อมูลได้รวดเร็วและพร้อมกันคราวละมากๆ ถ้ายิ่งรับส่งได้มากและรวดเร็วเท่าไหร่ การเรียนรู้ (ในกรณีนี้คือการเคลื่อนไหวร่างกาย) ก็จะเป็นไปได้อย่างง่ายดายลื่นไหลมากเท่านั้น
ในคนที่เคลื่อนไหวร่างกายยังไม่เก่ง การฝึกฝนท่าทางที่ยังทำไม่ได้หรือไม่ถนัดบ่อยๆ เข้า กลุ่มเซลล์สมองส่วนการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้ใช้งานบ่อยนักก็จะเริ่มมีการเชื่อมต่อและรับส่งข้อมูลใหม่ๆ (นึกภาพจำนวนขา axon ของเซลล์ยื่นต่อไปยังเซลล์อื่นเพิ่มมากขึ้น แขนง dendrite ก็รับข้อมูลเข้าได้มากขึ้น) หากยังฝึกฝนไปเรื่อยๆ axon ของเซลล์สมองกลุ่มนั้นก็จะเพิ่มขาไปเกาะกับเซลล์อื่นได้มากขึ้น และรับส่งได้ดีขึ้น เมื่อกระบวนการนี้ดำเนินต่อไปอีกด้วยการฝึกหนัก ท่าทางที่เราเคยทำไม่ได้ก็จะสามารถทำได้ง่ายขึ้นจนคล่องแคล่วในที่สุด นี่เองคือกระบวนการเรียนรู้และกลไกการเติบโตของสมอง
กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้
ในทางอุดมคตินั้น แก่นกลางของการเปิดโลกทัศน์ให้นักเรียนตระหนักถึงพลังอันไร้ขีดจำกัดในตนเองซึ่งสามารถผลักดันให้เขาทรงปัญญาขึ้นได้คือ ‘ความรู้’ (cognition) ซึ่งเป็นความเข้าใจในวิทยาการความรู้ต่างๆ กับอีกอย่างคือ ‘การรู้คิด’ (metacognition) หรืออภิปัญญา ซึ่งเป็นการตระหนักรู้ว่าตนกำลังคิดอะไรอยู่ มีจุดบกพร่องตรงไหนและสามารถจัดการโดยการวางแผนปรับเปลี่ยนเพื่อยกระดับปัญญาความรู้ของตนได้ เช่น รู้ตัวว่าตนเองเหมาะกับการเรียนรู้แบบใด เช่น เวลาอ่านหนังสือแล้วชอบหลับเลยเปลี่ยนไปใช้วิธีเปิดวิดีโอที่สอนเป็นคลิปใน YouTube แทน หรือตั้งเป้าหมายกับตัวเองว่าจะเรียนรู้สิ่งนี้ไปเพื่ออะไร สามารถประเมินความเข้าใจตนเองในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นต้น รู้สิ่งใดไม่สู้ ‘รู้คิด’
ส่วนใหญ่ ‘ความรู้’ เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ผ่านการจัดการเรียนรู้โดยตรงในห้องเรียน ในขณะที่โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้กล่าวถึง ‘การรู้คิด’ แบบเป็นรูปธรรมไว้ในหลักสูตรหรือแม้แต่ครูเองก็ไม่เคยเอ่ยถึงสิ่งนี้เลย ที่ผ่านมาจึงมักเป็นเพียงความคาดหวังที่ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่านักเรียนควรจะจัดการกับความคิดหรือความรู้ของตนเองได้แม้ไม่ได้สอนกันตรงๆ
สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะครูเป็นผู้เตรียมการสอนมาล่วงหน้า นักเรียนจึงไม่มีโอกาสใคร่ครวญวางแผนการเรียนรู้ของตนเอง อีกทั้งช่วงเวลาที่จะให้นักเรียนทบทวนประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ก็ทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วยเวลาอันจำกัด
อย่างไรก็ตามมีการพิสูจน์ชัดเจนว่าการสอน ‘การรู้คิด’ ให้ผู้เรียนช่วยพัฒนาทักษะความสามารถของพวกเขาได้อย่างติดปีก โดยงานวิจัยThe Boss of My Brain ของ ดอนนา วิลสัน (Donna Wilson) และ มาร์คัส คอนเยอร์ส (Marcus Conyers) ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain Based Learning) ซึ่งศึกษาเด็กตั้งแต่วัยก่อนเข้าโรงเรียนไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยที่มีการสอนเรื่อง ‘การรู้คิด’ ให้กับเด็กที่เข้าร่วมวิจัย ผลชี้ออกมาว่า เด็กเหล่านี้เมื่อรู้จัก ‘การรู้คิด’ ก็สามารถใคร่ครวญกระบวนการเรียนรู้ของตนเองและควบคุมให้ตนเองมีวินัยเชิงบวกในการเรียน พยายามฝึกฝนและกระตุ้นตนเองให้รับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ตลอดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิผลได้
อย่างนี้แล้วหากครูท่านใดตั้งเป้าเสริมสร้าง Growth Mindset ให้เด็กๆ ในชั้นเรียนอาจเริ่มก้าวแรกด้วยการสอน ‘การรู้คิด’ อย่างเป็นรูปธรรมเสียก่อนเพื่อให้เขาถอยกลับมาสังเกตและประเมินตนเองจากมุมมองภายนอกก่อนวางหมุดหมายในสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ตลอดจนวางแผนกระบวนการเรียนรู้ได้ต่อไป
ต่อไปนี้คือวิธีที่ครูสามารถนำไปกระตุ้น ‘การรู้คิด’ ในชั้นเรียน
1. ใช้แผนผัง K-W-L: ให้นักเรียนสำรวจความคิดแต่ละขั้นตอนของตนตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการเรียนรู้ในแต่ละประสบการณ์
2. ใช้คำเกริ่นนำความคิดในห้องเรียน : ฝึกให้นักเรียนใช้คำเกริ่นนำความคิดด้านล่างให้ชินในการแสดงหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในชั้นเรียน คำเกริ่นนำทำให้นักเรียนตระหนักว่าตนเองกำลังมีแบบแผนในการคิดอย่างไร ขณะเดียวกันครูผู้สอนก็ควรใช้คำเกริ่นนำเมื่ออธิบายให้นักเรียนฟังด้วย เช่น “ครูกำลังคิดว่าประโยคนี้มีจุดที่ยังไม่สมบูรณ์อยู่นะ เพราะเรามีประธานแต่ไม่มีกริยา ครูสงสัยว่า คำกริยาที่เราจะเติมประโยคนี้ให้สมบูรณ์มีคำว่าอะไรได้บ้าง”
3. ใช้ Think Sheet : ให้นักเรียนเขียนความคิดตามความเข้าใจของเขา การกรอกคำตอบจะเป็นการช่วยให้พวกเขาใช้เวลาทบทวนความคิดของตนเองอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง
4. บันทึกความก้าวหน้า: ให้นักเรียนจดบันทึกความเข้าใจวิชาต่างๆ เป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ วิธีนี้นอกจากจะสามารถติดตามพัฒนาการตนเอง ยังทำให้เห็นสไตล์การเรียนรู้ที่ใช้อยู่ เห็นข้อดีข้อด้อยของวิธีและชี้แนวทางการเรียนรู้อื่นๆ ที่ก่อนหน้านี้นักเรียนอาจมองข้ามไป
5. โน้ตย่อ : กระตุ้นให้นักเรียนจดโน้ตจากความเข้าใจหรือคำถามที่เกิดขึ้นระหว่างเรียนรู้ควบคู่ไปกับการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ
6. สร้างห้องเรียนที่เป็นมิตรกับความผิดพลาด : สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่นักเรียนไม่กลัวการทำผิด แต่กลับรู้สึกสนุกตื่นเต้นกับมัน เห็นความผิดพลาดของตนเองหรือเพื่อนๆ เป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้เป็นประสบการณ์ได้
ขยับตัวออกท่า เพิ่มพลังสมอง
สมองชื่นชอบความตื่นเต้นเกินคาดเดาเป็นที่สุด ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราชอบการเซอร์ไพรส์ หรือดูหนังระทึกขวัญที่มีพล็อตเรื่องหักมุมทำใจเต้นไม่เป็นส่ำ
สมองถูกสร้างมาเพื่อรับมือกับเรื่องแปลกใหม่อยู่เสมอ ดังนั้นห้องเรียนที่จะกระตุ้นให้สมองใช้ศักยภาพการเรียนรู้อย่างเต็มกำลังได้จึงไม่ใช่ห้องเรียนที่มีบรรยากาศเหี่ยวเฉา เดาตอนจบได้ว่าครูจะสอนเรื่องไหนและให้ทำอะไรบ้าง
นอกจากเนื้อหาความรู้ทั่วไป กิจกรรมเพิ่มพลังสมองเป็นการเติมสีสันให้ชั้นเรียนไม่ซ้ำซากจำเจ ช่วยปลุกไฟให้ชั้นเรียนที่กำลังซึมเซาใกล้มอดจากงานยากๆ หรือวิชาที่คร่ำเคร่งให้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง และยังสร้างขุมพลังใหม่ให้สมองปลอดโปร่งเตรียมพร้อมกับการเรียนรู้อีกด้วย
เกมขันเกลียวมนุษย์ (Human Knot) : ทุกคนล้อมวงแล้วยื่นมือขวาไปข้างหน้าจับกับมือขวาของใครก็ได้ที่ไม่ได้ยืนอยู่ข้างตัวเอง จากนั้นมือซ้ายทำแบบเดียวกัน สร้างเป็น ‘ขันเกลียวมนุษย์’ ที่ทุกคนต้องร่วมมือกันแก้เกลียวที่พันยุ่งเหยิงนี้ด้วยวิธีใดก็ได้ จะมุด รอด บิดตัว ข้ามแขนขากันและกันเพื่อคลายเกลียวได้หมด
เกมวาดวิมานในอากาศ (Air Writing) : ตั้งหัวข้ออย่างหนึ่งเช่น อุปกรณ์ที่ใช้ในครัว แล้วให้นักเรียนตอบด้วยการวาดนิ้วชี้ในอากาศเป็นคำตอบ ให้เพื่อนคนถัดไปเป็นคนทาย ทำต่อกันไปเรื่อยๆ
โยคะพักสมอง : ให้นักเรียนได้จดจ่อสมาธิกับลมหายใจและทำท่าโยคะพื้นฐานเช่น ท่า upward facing dog หรือ warrior ที่ช่วยยืดเหยียดกระตุ้นความกระปรี้กระเปร่า
บริหารสมองด้วย YouTube (YouTube Brain breaks): หาเพลงเข้าจังหวะสนุกๆ ที่ต้องทำท่าประกอบอย่างเพลงสาละวันเตี้ยลง ก็สามารถสร้างความสนุกสนานและปรับอารมณ์ให้ผ่องใสขึ้น ใน YouTube มีคลิปที่เป็นเพลงแนว Brain Break อยู่มากมาย ครูสามารถเลือกใช้ให้เข้ากับวัยผู้เรียนตามแต่จังหวะและสถานการณ์อีกที
สุดท้ายนี้ ปลายทางของการพานักเรียนในชั้นไปออนทัวร์ด้านการทำงานของสมองและรู้จักกระบวนการสร้าง ‘การรู้คิด’ ให้มีติดตัวพวกเขา เหล่านี้ล้วนเป็นการแผ้วถางหนทางไปสู่การเรียนรู้อันยั่งยืนไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าจะเปรียบร่างกายที่สามารถฟิตซ้อมสมรรถะความแข็งแกร่งจนมีมัดกล้าม สมองก็สามารถแข็งแรงได้ด้วยการใช้งานเรียนรู้ฝึกฝนสิ่งใหม่ๆ ให้ด้านที่ไม่ถนัดสามารถพัฒนาให้คล่องแคล่ว ทักษะที่ดีอยู่แล้วก็กลายเป็นเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ เหนืออื่นใด Growth Mindset คือความเชื่อตั้งต้นที่เป็นแรงผลักสำคัญอันจะนำพาทุกคนไปสู่ปลายทางดังที่ว่าได้นั่นเอง
Source :
The Potential
https://thepotential.org/knowledge/growth-mindset-and-brain-plasticity/