นักเรียน 4 แบบที่ทุกห้องเรียนต้องมี: ชวนครูอ่านนักเรียนผ่านแนวคิด DISC Personality ด้วยรูปแบบสัตว์ 4 ทิศ

Last updated: 10 เม.ย 2563  | 

วันที่ 10 เมษายน 2563 - 13:30 น.


ในห้องเรียนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ครูต้องเจอนักเรียนลักษณะต่างๆ แทบทุกวัน เชื่อไหมว่าท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายนี้ เราสามารถจัดกลุ่มบุคลิกลักษณะทางอารมณ์ และพฤติกรรมของนักเรียนตามทฤษฎีของนักจิตวิทยา William Moulton Marston ซึ่งเราสามารถจดจำง่ายๆ จากการเทียบกับลักษณะของสัตว์ 4 ชนิด คือ

1. กระทิง (Dominance)
2. อินทรี (Influence)
3. หนู (Steadiness)
4. หมี (Conscientiousness)

ทั้งนี้ อาจจะมีนักเรียนบางคนที่มีลักษณะร่วมได้ด้วย เช่น บุคลิกแบบ กระทิง-อินทรี, หนู-อินทรี หรือ หมี-กระทิง เป็นต้น

การที่ครู (หรือตัวนักเรียนเอง) รู้จักลักษณะบุคลิกภาพซึ่งเกี่ยวข้องกับวิธีการคิด การแสดงออก และอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละคน ก็จะช่วยให้เข้าใจ และรู้จักนักเรียนทั้งในด้านจุดแข็ง และข้อจำกัดของแต่ละคน เพื่อพัฒนา ปรับปรุง และแก้ไขนักเรียนเป็นรายบุคคล รวมทั้งประสานความเข้าใจระหว่างครูกับนักเรียน นักเรียนกับนักเรียน ให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างเคารพและมีความสุข

ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1. บุคลิกลักษณะแบบกระทิง (Dominance) : ตรงไปตรงมา, มีเป้าหมายชัดเจน, แข็งขันเด็ดเดี่ยว

บุคลิกลักษณะ : มีนิสัยรวดเร็ว ทันใจ หวังผลเลิศ ชอบลงมือทำงานด้วยตนเอง มากกว่าฟังคนอื่นว่าตามกันมา ดังนั้นความรู้ที่ได้สั่งสมมาจึงมาจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง จึงไม่เชื่อทฤษฎี โดยบุคลิกแล้วจะมีลักษณะดุดัน กล้าชน กล้าเผชิญหน้า มีความมุ่งมั่น จริงใจ เคลื่อนไหวรวดเร็วอย่างมีเป้าหมาย ชอบเห็นผลเร็ว ชอบอยู่แนวหน้า กล้าแสดงออก ชอบใช้พลัง มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อปัญหาต่างๆ อย่างรวดเร็ว เหมือนวัวกระทิงที่เจอสีแดงแล้วจะวิ่งชนทันที ถือว่าเป็นทิศของนักรบ เพราะมีความกล้าเสี่ยง กล้าท้าทาย ชอบวิ่งชนกับปัญหา ผู้นำลักษณะนี้เหมือนนักการเมือง สื่อสารมวลชน ทนายความ มักจะมีบุคลิกของความเป็นกระทิงอยู่สูง

ข้อดี : พร้อมปกป้องดูแลคนอื่นแบบเป็นแม่ไก่กางปีกปกป้องลูกไก่ เป็นคนเอาพรรคเอาพวก ชอบอยู่เป็นกลุ่มก้อน ถือว่าเป็นทิศแห่งการยืนหยัด พร้อมเผชิญหน้ากับความขัดแย้งทุกรูปแบบ ท้าทายอำนาจอย่างเปิดเผย

ข้อเสียควรแก้ไข : ควรที่จะยอมผิดพลาดบ้าง รู้จักที่จะช้าๆ กับบางเรื่อง รู้จักอดทนรอคอย อย่าคิดเร็วทำเร็ว หัดทบทวนการตัดสินใจของตัวเองดูอีกครั้งว่าถูกต้องแม่นยำจริงๆ แล้วหรือไม่ เพราะอาจแฝงไว้ด้วยความมีความเป็นตัวตนสูง หรืออาจจะทำให้ดูเป็นคนชอบใช้อำนาจมากเกินไป

ข้อแนะนำสำหรับครู : เมื่อเจอนักเรียนลักษณะแบบกระทิง สิ่งที่ครูต้องเข้าใจคือพวกเขาปากร้ายใจร้อนแต่ไม่ได้คิดไตร่ตรองให้ดีและมักทำให้ตัวเองเสียใจอยู่เสมอ ครูควรแนะนำให้นักเรียนเรียนรู้จากคนลักษณะแบบหมี เพราะการสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่งแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ จะมีปัญหาการทำงาน หรืออยู่ร่วมกับคนอื่นได้ในระยะยาวได้ และฝึกให้นักเรียนกระทิงเข้าใจและยอมรับนักเรียนที่มีลักษณะแบบหนู อย่างน้อยกระทิงจะได้มีความอ่อนโยน เข้าอกเข้าใจ ให้ความสำคัญเรื่องของใจมากกว่าที่จะใช้กำลังเพียงอย่างเดียว


2. บุคลิกลักษณะแบบอินทรี (Influence) : เข้าสังคม, ช่างพูดช่างคุย, ร่าเริงมีชีวิตชีวา

บุคลิกลักษณะ : เป็นคนชอบมองภาพรวมใหญ่ๆ เชื่อมโยงเครือข่ายแบบสร้างสรรค์ ไม่ค่อยสนใจรายละเอียด มีจินตนาการสูง เป็นนักคิดนักฝันสูง ชอบเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ ชอบคิดนอกกรอบ แสวงหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ มักจะไปที่ที่ไม่เคยไป เป็นจอมโครงการเจ้าแผนการ บางครั้งเหมือนพวกฝันกลางวัน สนใจทุกเรื่องราว อยากทำทุกเรื่อง จนบางครั้งทำให้ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน เพราะสนใจไปหมดทุกเรื่องแต่มักจะไม่อยู่กับอะไรนานๆ เป็นคนชอบอิสระสูง ชอบสร้างเรื่องประหลาดใจเสมอ อะไรที่เหนือความคาดหมายนั้นจะชอบเป็นพิเศษ ดังนั้นจะไม่ชอบทำอะไรแบบซ้ำซากจำเจ แบบพวกนักสร้างสรรค์งานโฆษณา ผู้กำกับภาพยนตร์ มักจะมีบุคลิกแบบอินทรีสูง

ข้อดี : จะมีชีวิตการทำงานที่มีสีสัน สนุกสนาน รักอิสระ มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จึงมีความรู้ที่หลากหลายและกว้างขวาง

ข้อเสียที่ควรแก้ไข : ไม่ค่อยจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง จับจด เบื่อง่าย

ข้อแนะนำสำหรับครู : เมื่อครูเจอนักเรียนที่มีบุคลิกอินทรี สิ่งแรกคือครูควรเข้าใจคือนักเรียนลักษณะนี้มักมีความสนใจหลากหลายแต่ไม่สามารถคงความสนใจได้นาน ดังนั้นควรสนับสนุนให้ยึดอะไรให้มั่น ทำงานหลักให้เสร็จก่อน ฝึกให้พิจารณาว่าควรทำก่อน-หลัง โดยฝึกให้เรียนรู้ระบบตามลักษณะหมีหรือกระทิงดูบ้าง โดยเฉพาะให้เรียนรู้จากนักเรียนที่มีลักษณะแบบหมีเพื่อให้เกิดความหนักแน่นมั่นคง มีการวางแผนที่ดี คิดใหม่ทำใหม่ กลายเป็นคนที่มีจินตนาการที่จับต้องเป็นหลักการได้มากกว่าลักษณะนักฝันแต่เพียงอย่างเดียว


3. บุคลิกลักษณะแบบหนู (Steadiness) : สุภาพ, ว่าง่าย, จิตใจโอบอ้อมอารี

บุคลิกลักษณะ : ให้ความสำคัญกับความรู้สึกและอารมณ์สูง ชอบใช้ใจมากกว่าการใช้กำลัง มีบุคลิกรวดเร็ว ว่องไว ปราดเปรียว ขี้เล่น ขับเคลื่อนพลังด้วยความรู้สึกที่ใส่ใจ ชอบช่วยเหลือดูแลคนรอบข้างแบบอบอุ่น ใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ หล่อเลี้ยงและดูแล ดึงคนมารวมกันอยู่ด้วยหัวใจได้อย่างมากมาย จะทำทุกวิถีทางที่ทำให้คนรอบข้างตัวรู้สึกดีอยู่เสมอ ถือว่ามีความเป็นผู้ให้สูง โดยลักษณะของหนูนั้นจะไม่เรียกร้อง เป็นคนไม่เปิดเผย มีแบบแผน และชอบสนองความต้องการของผู้อื่นมากกว่าความต้องการของตนเอง เป็นคนที่มีความประนีประนอมสูง ไม่ชอบเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง จะหลีกเลี่ยงการปะทะรุนแรง ลักษณะแบบหนูมักจะมีบทบาทหน้าที่เป็นผู้ประสานงานแบบเป็นกาวใจ มีความอ่อนโยนสุภาพ เป็นผู้บุคลิกในแบบผู้เยียวยา กล่าวคือเป็นฝ่ายตั้งรับ เป็นผู้ที่มีจิตวิทยาดี และผู้ที่เป็นจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยามักจะเป็นผู้ประสานงานให้เกิดความราบรื่นในหมู่คณะแบบกาวใจนั่นเอง คนในอาชีพศิลปิน นักร้อง นักแสดง นักดนตรี จิตรกร มักจะมีบุคลิกแบบหนูสูงสุด

ข้อดี : จะเป็นผู้ที่หลีกเลี่ยงความขัดแย้งรุนแรง ไม่ชอบปะทะหรือใช้กำลังทำลายล้าง จะได้กลิ่นของความขัดแย้ง หรือความไม่ลงรอยกันได้อย่างรวดเร็ว หน่วยงานใดที่ได้คนบุคลิกลักษณะแบบนี้จะโชคดี เพราะจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้รวดเร็วและราบรื่น

ข้อเสียที่ควรแก้ไข : หนูมักไม่ชอบเป็นผู้นำ โดยหากเป็นผู้นำลักษณะแบบหนูก็มักจะลาออกไปเสียก่อน เนื่องจากไม่สามารถจะอยู่ในท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงได้ และอาจจะถูกข่ม เนื่องจากมีความอ่อนโยน และประนีประนอมมากเกินไป เพราะจะเป็นขี้สงสารชอบความสงบ และรักสันติ

ข้อแนะนำสำหรับครู : ครูควรสนับสนุนให้หนูมีความมั่นใจในตนเอง โดยการพูดสนับสนุนสิ่งที่นักเรียนลักษณะนี้ทำได้ดีแล้ว รวมทั้งฝึกให้กล้าตัดสินใจเด็ดเดี่ยว กล้าเผชิญกับปัญหาโดยเรียนรู้จากนักเรียนกลุ่มกระทิงบ้าง รวมทั้งฝึกให้คิดทบทวนและตัดสินใจลงมือทำ และวางเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อปรับนิสัยขี้น้อยใจ ใช้ใจใช้อารมณ์มากเกินไป จนดูอ่อนแอไม่น่าเกรงขาม และหากว่าฝึกให้หนูกับกระทิงทำงานร่วมกันได้จะได้กลุ่มนักเรียนที่สามารถเป็นผู้นำในห้องเรียนที่สร้างความรักใคร่กลมเกลียวและลงมือทำงานได้เป็นอย่างดี


4. บุคลิกลักษณะแบบหมี (Conscientiousness) : สันโดษ, ช่างวิเคราะห์, เจ้าหลักการ

บุคลิกลักษณะ : เป็นแบบเสถียร คือต้องการความมั่นคงสูง เป็นคนหนักแน่นแบบช้าแต่มั่นใจ มีนิสัยชอบวิเคราะห์วิจัย มีแบบแผนวิธีการทำงานที่ลงตัว หรือจะเรียกว่ามีระเบียบวินัยสูง มีความเชื่อว่าความเป็นระบบจะทำให้เกิดความสำเร็จ ไม่ชอบความวุ่นวาย มีความรอบคอบ จะมองทุกอย่างไปข้างหน้าเสมอ คิดล่วงหน้า ชอบวางแผนเป็นขั้นตอนอย่างมีตรรกะ เป็นพวกอนุรักษนิยม คือมีขั้นมีตอนมีระบบระเบียบ ทำงานแบบใจเย็น มีหลักการสูง มีกรอบมีกติกา ในการดำเนินชีวิตใช้เหตุผลเยอะ บางครั้งอาจจะดูเหมือนเป็นคนที่สื่อสารยาก เพราะชอบทำงานแบบอนุรักษนิยม คือเป็นระบบเป๊ะๆ ไม่ค่อยชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยง จึงไม่ชอบทำอะไรแบบฉับพลันดำริ ชอบสังเกตการณ์ทุกสิ่งรอบตัว ไม่ชอบเกาะติดนัวเนีย รักษาระยะและพื้นที่ตัวเองสูง ไม่ให้ใครเข้ามาในชีวิตส่วนตัวมากนัก รักความสันโดษ เป็นลักษณะเหมาะกับการทำงานในอาชีพนักบัญชี นักการเงิน สรรพากร ดูแลเรื่องภาษี เนื่องจากมีความระมัดระวังและรอบคอบสูง

ข้อดี : จะเป็นผู้นำที่หาความผิดพลาดได้ยาก เพราะมีหลักการทำงานแบบมีระบบระเบียบ เคร่งครัดต่อกฎเกณฑ์ มีปรัชญาในการทำงานในลักษณะที่เรียกว่าป้องกันดีกว่าแก้ไข

ข้อเสียที่ควรแก้ไข : มีลักษณะการทำงานที่เคร่งเครียด ไม่ค่อยยืดหยุ่น ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

ข้อแนะนำสำหรับครู : ครูควรทำความเข้าใจว่านักเรียนแบบหมีจะไม่ลงมือทำ หากยังไม่มั่นใจถึงที่สุด ครูจึงควรแนะนำให้นักเรียนกลุ่มนี้เลือกตัดสินใจในเวลาที่เหมาะสม และรวดเร็วขึ้น รวมทั้งฝึกให้เรียนรู้จากอินทรีหรือกระทิงเพื่อจะปล่อยวางจากความไม่สมบูรณ์แบบได้ จะทำให้นักเรียนมีชีวิตการเรียนอย่างมีความสุข และประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น โดยหากสนับสนุนให้นักเรียนแบบหมีมีความกล้าลุยแบบกระทิงมากขึ้น ก็จะพัฒนาให้เป็นนักคิดนักวางแผนที่กล้าเผชิญหน้า ต่อสู้กับความท้าทายปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบระเบียบ เป็นนักบริหารที่แม่นยำ กล้าได้กล้าเสีย มั่นคงแบบกล้าฟันธงในทุกเรื่องราว

ในประเทศไทยได้มีการศึกษาการพัฒนาแบบประเมินบุคลิกภาพตามโมเดล DiSC และแนวคิดทฤษฎีการเลือกอาชีพ ในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ และองค์กรที่คุณครูสามารถนำไปปรับใช้ได้ 



Source:

EDUCATHAI

https://www.educathai.com/knowledge/articles/85