ทำไมคำถามจึงสำคัญ? สร้างบทสนทนาในห้องเรียนด้วยคำถามแบบโสเครติส

Last updated: 10 ก.ย. 2563  | 

วันที่ 10 กันยายน 2563 - 11:17 น.


ครู: เกิดอะไรขึ้นกับภูมิอากาศของโลกเราบ้าง?

นักเรียน Stan: มันกำลังอุ่นขึ้น

ครู: เรารู้ได้อย่างไรว่ามันอุ่นขึ้น อะไรเป็นหลักฐานที่เราใช้สนับสนุนคำตอบ?

นักเรียน Stan: ก็มันอยู่ในข่าวทุกๆ วัน พูดกันเสมอว่าภูมิอากาศจะไม่กลับมาเป็นเหมือนเมื่อก่อน มีการบันทึกค่าความร้อนของแต่ละวันไว้ทั้งหมดด้วย

ครู: มีใครได้ยินข่าวลักษณะนี้อีกไหม?

นักเรียน Denise: เคยค่ะ หนูเคยอ่านเจอในหนังสือพิมพ์ เขาเรียกว่า ‘ภาวะโลกร้อน’

ครู: หนูกำลังจะบอกว่า หนูเรียนรู้เรื่องภาวะโลกร้อนมาจากผู้ประกาศข่าว และหนูก็กำลังตั้งสมมติฐานว่า ผู้ประกาศข่าวรู้ว่าภาวะโลกร้อนกำลังเกิดขึ้น อย่างนั้นใช่ไหม?

นักเรียน Heidi: หนูก็เคยได้ยินมาเหมือนกัน มันน่ากลัวมาก ยอดภูเขาน้ำแข็งในอาร์กติกกำลังละลาย สัตว์กำลังสูญเสียบ้านของมัน หนูคิดว่าผู้ประกาศข่าวได้ยินมาจากนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังศึกษาประเด็นนี้อีกที

ครู: งั้นก็หมายความว่าผู้ประกาศข่าวรู้มาจากนักวิทยาศาสตร์อีกที แล้วนักวิทยาศาสตร์รู้ได้อย่างไรล่ะ?

นักเรียน Chris: พวกเขามีอุปกรณ์ที่จะวัดภูมิอากาศ พวกเขาทำการวิจัยและวัดอุณหูมิของโลก

ครู: เราคิดว่านักวิทยาศาสตร์ทำแบบนั้นมานานแค่ไหนแล้ว?

นักเรียน Grant: คงประมาณ 100 ปี

นักเรียน Candace: อาจจะมากกว่านั้นนิดหน่อย

ครู: จริงๆ แล้ว มีการศึกษาเรื่องภาวะโลกร้อนมากว่า 140 ปีแล้ว ตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 1860

นักเรียน Heidi: พวกเราตอบได้ใกล้เคียง

ครู: ใช่แล้ว แล้วเรารู้ได้อย่างไร?

นักเรียน Grant: ผมแค่คิดว่ามันเป็นยุคที่มนุษย์เริ่มคิดค้นเครื่องมือสมัยใหม่ นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้เครื่องมือเหล่านั้นในการวัดอุณหภูมิ

ครู: ถ้าอย่างนั้น เราลองมามองดูกราฟ 100 ปีนี้ ของสภาพภูมิอากาศกัน บอกอะไรเกี่ยวกับภูมิอากาศของโลกได้บ้าง?

นักเรียน Raja: ศตวรรษที่ 20 อุณหภูมิสูงกว่าศตวรรษก่อนหน้ามากเลย

ครู: เราพอจะตั้งสมมติฐานได้ไหม ว่าเป็นเพราะอะไร?

นักเรียน Raja: คำเดียวเลย ‘มลพิษ’

ครู: อะไรคือข้อสันนิษฐานของเรา เมื่อเราบอกว่า ‘มลพิษคือสาเหตุที่ทำให้อุณหูมิเพิ่มสูงขึ้น’ ?

นักเรียน Heidi: รถยนต์ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และโรงงานต่างๆ ปล่อยสารเคมี

นักเรียน Frank: สเปรย์ฉีดผม ทำให้สารเคมีอันตรายขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศโลก

ครู: โอเค มาใช้เวลาสักครู่ทบทวนสิ่งที่เราได้อภิปรายกันไป

จากบทความ Designing Effective Project : Questioning The Socratic Questioning Technique


เรื่องราวที่ปรากฏในบทสนทนาระหว่างครูกับนักเรียนข้างต้น เป็นร่องรอยการเรียนรู้ของนักเรียนผ่านหัวข้อสำคัญอย่างสภาวะโลกร้อน สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดจากห้องเรียนคือ 

ครูไม่ได้เป็นผู้บอกเล่าความรู้แก่นักเรียน ในทางกลับกัน นักเรียนเองต่างหากที่แบ่งปันความคิดร่วมกันกับเพื่อนๆ ของเขา


คำถามของครูเป็นเครื่องมือชั้นเลิศในการพานักเรียนเข้าสู่โลกแห่งการครุ่นคิดอย่างจริงจัง และนี่ก็คือ ‘การตั้งคำถามแบบโสเครติส’ (Socratic Questioning) โสเครติส (Socrates) คือใคร ทำไมถึงเขาใช้วิธีการตั้งคำถามเช่นนั้น แล้วเราจะมีวิธีการตั้งคำถามแบบนั้นในชั้นเรียนได้อย่างไร



โสเคสติส (Socrates) 

หากกล่าวถึงโสเครติส เขาคืออดีตนายทหารของเอเธนส์ในสงครามเพโลพอนนีเซียน (Peloponnesian War) ระหว่างเอเธนส์กับสปาร์ตาก่อนศริสตกาล เมื่อเสร็จสิ้นสงคราม โสเครติสได้กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในฐานะผู้รักความรู้ หรือนักปรัชญานั่นเอง 

เขาใช้ชีวิตกับการสนทนาตั้งคำถามแลกเปลี่ยนกับผู้คนในเมืองเอเธนส์  เช่น ความยุติธรรมคืออะไร? เทพเจ้าเซอุสมีความยุติธรรมจริงไหม? ฯลฯ โดยทั้งหมดมาจากวิธีคิดที่เขาเชื่อว่า ‘ชีวิตที่ไม่ถูกตรวจสอบนั้นไร้ค่า’ เรื่องราวของโสเครติสไม่ได้มาจากตัวของเขาเองโดยตรง เพราะเขาไม่ได้ทำการเขียนบันทึกไว้ แต่มาจากบันทึกความทรงจำของเพลโต (Plato) ลูกศิษย์ของเขา อาจกล่าวได้ว่าเรากำลังทำความเข้าใจหรือรู้จักโสเครติสจากมุมมองมองของเพลโต และเราต้องเข้าใจก่อนว่าโสเครติสไม่ได้เรียกวิธีการของตัวเองว่า ‘Socratic Questioning‘ หรือ ‘Socratic Method‘ แต่เป็นคำเรียกจากผู้คนที่เอาการตั้งคำถามหรือวิธีการสนทนาของเขาไปใช้ต่างหาก



การตั้งคำถามแบบโสเครติส (Socratic Questioning)

ทำไมเขาจึงใช้วิธีการเช่นนั้น ก่อนอื่นเราต้องกลับมาทำความเข้าใจบริบทช่วงที่เขาใช้ชีวิต ในเวลานั้น เอเธนส์ก่อกำเนิดระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้น โดยระบอบประชาธิปไตยในยุคนั้นไม่ได้เหมือนกับปัจจุบัน แต่มีลักษณะการปกครองแบบเสียงส่วนน้อย เอเธนส์มีประชากรอยู่ราว 300,000 คน และเสียงส่วนน้อยคือ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด ผู้หญิงและทาสไม่ได้มีสิทธิออกเสียง เมื่อเอเธนส์แพ้สปาร์ตาในสงคราม สปาร์ตาได้แต่งตั้งผู้ปกครองเอเธนส์ใหม่ขึ้นเป็นคณะปกครองตามที่เห็นชอบ แต่ก็เกิดการรบกันระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนการปกครองแบบเดิมกับการปกครองแบบใหม่ที่มีสปาร์ตาสนับสนุน 

สุดท้ายฝ่ายสปาร์ตาก็แพ้ ทำให้เอเธนส์กลับมามีอำนาจตามเดิม ด้วยเหตุนี้ทำให้ฝ่ายที่ขึ้นมามีอำนาจมองว่า การที่เอเธนส์แพ้สงครามกับสปาร์ตา เป็นผลมาจากวิธีการที่โสเครติสใช้พูดคุยกับคนหนุ่มในเมืองให้กระด่างกระเดื่องไม่นับถือในเทพเจ้า ทำให้คนเสื่อมศรัทธาต่อเทพเจ้า เพราะชาวเอเธนส์ชื่อว่าเทพเข้าเป็นผู้ปกปักษ์ดูแลเมืองเอาไว้ จนสุดท้ายโสเครติสถูกสั่งประหารชีวิต

การประกาศว่า ‘ชีวิตที่ไม่ถูกตรวจสอบนั้นไร้ค่า’ ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการท้าทายอำนาจผู้ปกครองอย่างตรงไปตรงมา ที่นำมาสู่การสั่นคลอนรากฐานความเชื่อที่สัมพันธ์กับอำนาจของผู้ปกครอง

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ความปกติที่ปรากฏอยู่ในสังคมในเวลานั้น ได้ถูกโสเครติสเติมเครื่องหมายคำถามลงไปอย่างชัดเจน พร้อมกับการชวนคู่สนทนาสำรวจดูว่าสิ่งที่พวกเขาเคยเชื่อและศรัทธา มันคือความปกติหรือไม่ มากไปกว่านั้นสิ่งที่เชื่อและยึดถือมั่นไว้ ตั้งอยู่บนหลักความเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่


วิธีการของโสเครติสเป็นแนวทางที่ต่างไปจากกลุ่มนักปรัชญาโซฟิสต์ (Sophists) ที่เน้นการใช้สำนวนโวหารดึงดูดให้คนยอมรับมุมมองของผู้พูด ซึ่งเป็นแนวการสอนกระแสหลักในเวลานั้น 

แล้วเราจะนำวิธีการของเขามาใช้ได้อย่างไร ก่อนอื่นเราอาจต้องมองวิธีการของโสเครติสไปให้ไกลกว่าแง่มุมเทคนิคการตั้งคำถามเสียก่อน นั่นคือ เขามองความรู้อย่างไร? โสเครติสมองว่า ‘ความรู้คือการรู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไรเลย’ มุมมองความรู้ของเขาในแง่นี้ จึงเป็นมุมมองความรู้ที่ไม่ได้มีเส้นขอบเขตอย่างชัดเจนว่าสิ้นสุดเมื่อไหร่ แต่สังคมที่เราดำรงอยู่มักขีดเส้นตายตัวขอบเขตความรู้ให้เรารับรู้และเข้าใจเอาไว้เสมอ ดังที่เราเห็นจากชาวเอเธนส์ที่มีการขีดเส้นความรู้ความเข้าใจว่าการแพ้ชนะสงครามขึ้นอยู่กับเทพเจ้าเท่านั้น


หากเปรียบเปรยก็คงเหมือนตู้ที่มีลิ้นชักนับไม่ถ้วน เราอาจเปิดเพียงลิ้นชักหนึ่งออกมาแล้วว่านี่คือคำตอบหรือความจริงแล้ว แต่โสเครติสแสดงให้เราเห็นว่าตู้ใบนั้นไม่ได้มีเพียงลิ้นชักเดียว จงเปิดลิ้นชักอื่นออกมา ยิ่งเปิดมันมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งได้เห็นคำอธิบาย คำตอบ หรือความจริงมากขึ้นเท่านั้น


ด้วยมุมมองที่มีต่อความรู้เช่นนั้น ทำให้เขาสร้างวิธีการเรียนรู้กับผู้คนด้วยการเข้าไปตั้งคำถามกับความเข้าใจที่ผู้คนมีก่อนหน้า และช่วยให้คู่สนทนารู้ว่าเขามีสิ่งที่ยังไม่รู้ นี่จึงเกิดเป็นวิธีการที่เข้าไปเขย่าผู้คนในเอเธนส์ในประเด็นหลักๆ ที่เกี่ยวกับ ความยุติธรรม ความงาม ความกล้า มิตรภาพ ฯลฯ 

ซึ่งต่างจากการมองความรู้แบบโซฟิสต์ (Sophists) ที่เห็นว่า ความรู้เป็นสิ่งที่ผู้รู้ค้นพบ แล้วต้องส่งต่อให้ผู้ไม่รู้ ดังนั้น วิธีการเรียนรู้จึงเป็นการสร้างศรัทธาให้ยอมรับผู้รู้มากกว่าการตั้งคำถาม 


เพราะฉะนั้น การเข้าไปสนทนากับผู้คนผ่านคำถามของโสเครติสนั้นจึงไม่ใช่การไปถกเถียงเพื่อเป็นผู้ชนะหรือหาผู้แพ้แต่อย่างใด แต่เป้าหมายคือการพาผู้สนทนาคิดหาคำตอบหรือสืบหาความเป็นจริง 


นักการศึกษาเห็นตรงกันว่าการตั้งคำถามแบบโสเครติส ช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเกิดทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) เพราะเป็นการเปิดให้นักเรียนคิดเกี่ยวกับมโนทัศน์สำคัญที่ปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวันด้วยในมุมมองที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดเป็นความเข้าใจใหม่ของนักเรียนขึ้นมา นักการศึกษาหลายคนได้ถอดบทสนทนาของโสเครติสออกมาใช้ในพื้นที่ทางการศึกษาหลากหลายรูปแบบ ดังตัวอย่างของ Bogohossian นักการศึกษาที่สนใจการสอนแบบโสเครติส (Socratic pedagogy) 

เขาเห็นว่าการสอนเช่นนี้ ครูจะเป็นผู้สังเกต เป็นผู้ช่วยเหลือแนะนำ ไม่ใช่เจ้าของความรู้ ที่สำคัญคือการพานักเรียนแบ่งปันความคิดผ่านการสนทนาด้วยคำถามกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน เขาสรุปหลักการออกมาเป็น 5 ขั้นการเรียนรู้ ดังนี้

1. ความสงสัย (Wonder) การสร้างคำถามให้เกิดความสงสัยขึ้นมา เช่น ความกล้าหาญคืออะไร คุณธรรมคืออะไร

2. สมมติฐาน (Hypothesis) เป็นการตอบคำถามจากความสงสัย ซึ่งจะเป็นการให้ความเห็นหรือกล่าวอ้างเกี่ยวกับคำถามนั้น ซึ่งสุดท้ายจะมาเป็นข้อสมมติฐานของการสนทนา

3. การพิสูจน์ (Elenchus) ช่วงนี้เป็นขั้นตอนสำคัญมากที่จะเป็นการพิสูจน์ โต้แย้ง หรือหักล้าง เกี่ยวกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ว่าเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งจะมีการใช้คำถามและการให้ตัวอย่างย้อนกลับที่ค้านกลับสิ่งที่ตั้งไว้

4. การยอมรับหรือปฏิเสธของสมมติฐาน (acceptance/rejection of hypothesis) หลังจากที่มีการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้น สิ่งที่มีการโต้แย้ง ยกตัวอย่าง เรายังเห็นด้วยกับสมมติฐานของเราอยู่หรือไม่

5. ปฏิบัติการ (action) การนำเอาสิ่งที่ค้นพบที่เกิดจากขั้นตอนที่ผ่านมาไปสู่การปฏิบัติ

นอกจากนี้ บทความ Socratic Method as Approach to Teaching ได้ระบุว่าวิธีการเช่นนั้น ช่วยให้มีคำถามนำการแลกเปลี่ยน มีการสนทนาและโต้แย้ง ซึ่งช่วยให้นักเรียนสะท้อนคิดอย่างจริงจังบนความเข้าใจที่เขาเข้าไปมีส่วนร่วมกับประเด็น นอกจากนี้ยังสร้างให้นักเรียนเกิดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ เกิดความสงสัย และฝึกฝนให้ได้รู้จักไต่สวนจากหลักเหตุผล สุดท้ายเมื่อเขาเผชิญกับข้อมูลชุดใหม่ เขาจะเป็นคนที่จะไม่เชื่ออะไรโดยง่าย และนักเรียนจะกลายเป็นผู้ที่รู้จักการคิดและตรวจสอบสิ่งที่เขาได้รับมาเสมอๆ

ถ้าเช่นนั้น เราจะตั้งคำถามให้เกิดการสนทนาแลกเปลี่ยนขึ้นในห้องเรียนอย่างไร? บทความ Designing Effective Project : Questioning The Socratic Questioning Technique  และบทความ มุมมองใหม่การเรียนรู้ ศิลปะการตั้งคำถามโดยวิธีโสเครติส ของ รศ.มัณฑรา ธรรมบุศย์ ชี้ตรงกันว่า 

การจะทำให้เกิดการสนทนาแลกเปลี่ยนได้นั้น คำถามที่ครูนำมาใช้ต้องมีความน่าสนใจ มีการให้เวลานักเรียนในการคิดคำตอบ ที่สำคัญต้องมีการวางแผนการใช้คำถามอย่างเป็นระบบ 


ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ครูจะต้องรู้ว่านักเรียนมีความคิดความเชื่ออย่างไรบ้างในเรื่องที่จะสนทนา เพื่อให้การสนทนาไม่ไปสู่ทางตันของการแลกเปลี่ยน แต่กระตุ้นให้นักเรียนได้ดึงเหตุผลออกมาคิดแลกเปลี่ยน ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนได้นำบทความทั้งสองมาสรุปประเภทการใช้คำถาม ตัวอย่างของคำถาม รวมถึงแนวทางการใช้ ดังนี้


ประเภทของคำถามตัวอย่างแนวทางการใช้
Clarification questions 
เป็นคำถามที่เน้นให้เกิดความกระจ่าง
– ทำไมถึงตอบเช่นนั้น?
– ความหมายที่ถูกต้องจริงๆ คืออะไร?
– ยกตัวอย่างในสิ่งที่กำลังอธิบายได้ไหม? 
ตรวจสอบความคิดหลังจากให้คำตอบไปแล้ว หรือหลังการอภิปรายเสร็จสิ้น 
Questions about an initial question or issue
คำถามที่เน้นให้ตั้งคำถามกับคำถามหรือประเด็นเริ่มแรก
– ทำไมคำถามนี้จึงสำคัญ?
– ประเด็นการตั้งคำถามข้อนี้คืออะไร?
– คำถามนี้หมายความว่าอย่างไร
คิดทบทวนเกี่ยวกับคำถามหรือประเด็นที่นำเสนอไป
Assumption questions 
คำถามที่เน้นตั้งข้อสมมติฐาน
– อะไรคือสมมติฐาน?
– ทำไมใครบางคนถึงตั้งสมมติฐานเช่นนี้?
– ดูเหมือนจะมีการสมมิตฐานว่…ใช่ไหม?
– จะมีวิธีการพิสูจน์สมมติฐานนี้อย่างไร?จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า..?
ก่อนเริ่มอภิปรายร่วมกันเพื่อกระตุ้นการคิด
Reason and evidence questions
คำถามที่เน้นให้นำเสนอเหตุผลและหลักฐาน
– ทำไมจึงคิดว่าสิ่งนี้ถูกต้อง?
– ช่วยอธิบายเหตุผลให้ฟังได้ไหม?
– ด้วยเหตุผลเช่นนี้นำมาสู่ข้อสรุปว่าอย่างไร?
– เหตุผลที่ยกมา คิดว่าเพียงพอแล้วหรือยัง
– เรื่องนี้มีข้อหักล้างได้ไหม
– นั่นคือเหตุผลที่สงสัยเกี่ยวกับหลักฐานดังกล่าวใช่ไหม?
ระหว่างการอภิปรายแลกเปลี่ยน ที่ต้องมีการหาเหตุผลหรือหลักฐานเพื่อสนับสนุนคำตอบ
Origin or source questions
คำถามที่เน้นตรวจสอบแหล่งอ้างอิงหรือแหล่งที่มา
– ได้รับความคิดมาจากที่ใด?
– นี่เป็นความคิดของเธอ หรือเธอได้ยินมันมาจากที่อื่น?
– อะไรเป็นสาเหตุที่เลือกใช้ข้อมูลนี้
ระหว่างอภิปราย เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาและเหตุผลในการเลือกใช้ข้อมูล
Viewpoint questions
คำถามที่เน้นมุมมอง
– ข้อแตกต่างระหว่าง…กับ… คืออะไร?
– มีแง่มุมอื่นในการพิจารณาสิ่งนี้อีกไหม?
– สามารถมองเรื่องนี้ในแง่มุมอื่นได้หรือไม่?
ระหว่างการอภิปรายแลกเปลี่ยน ที่ต้องมีการให้คิดในแง่มุมอื่น
Implication and consequence questions 
คำถามที่เน้นความเกี่ยวข้องและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมา
– สิ่งนั้นสามารถเกิดขึ้นจริงๆ หรือมันแค่อาจจะเกิดขึ้น?
– ถ้าสิ่งนั้นเกิดขึ้นแล้ว อะไรบ้างอาจจะเกิดขึ้นตามมา ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? 
หลังสรุปการอภิปราย เพื่อต่อยอดการนำไปใช้หรือประเมินสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น

สรุปจากบทความ Designing Effective Project : Questioning The Socratic Questioning Technique และบทความ มุมมองใหม่การเรียนรู้ ศิลปะการตั้งคำถามโดยวิธีโสเครติส ของ รศ. มัณฑรา ธรรมบุศย์


ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เราคงได้เห็นวิธีการที่เรียกว่า Socratic method หรือการตั้งคำถามแบบ Socratic Questioning สามารถทำอย่างไรได้บ้าง และได้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักเรียนเกิดการคิดเชิงวิพากษ์ได้อย่างไร หากกล่าวสรุปสั้นๆ ว่าวิธีการแบบโสเครติส คืออะไร? 


‘การสนทนา (แบบโสเครติส) คือเครื่องมือที่เปี่ยมพลังที่จะลดปีศาจ (ของความไม่รู้)’ 










SOURCE :

The Potential

https://thepotential.org/knowledge/socratic-questioning/