Last updated: 28 เม.ย 2563 |
วันที่ 28 เมษายน 2563 - 14:09 น.
แม้หลายคนจะเป็นครูมานาน แต่เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาด สถานะของครูทุกคนตอนนี้แทบไม่ต่างกัน เราล้วนเป็นครูสอนออนไลน์หน้าใหม่ หลายเรื่องที่เคยทำได้เมื่อสอนในห้องเรียนจริง อาจต้องทิ้งไว้ชั่วคราวเมื่อสอนออนไลน์
1. หลีกเลี่ยงการให้เกรด
ครูปรับวิธีการการประเมินผลนักเรียนได้หลายรูปแบบ และให้ข้อเสนอแนะอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูความก้าวหน้าของนักเรียนและให้ความช่วยเหลือ โดยไม่จำเป็นต้องมุ่งที่การให้คะแนน ให้เกรดอย่างเดียว สิ่งที่ครูต้องคำนึงคือ นักเรียนอาจประสบปัญหาหลายอย่าง เช่น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การใช้คอมพิวเตอร์ร่วมกับสมาชิกในครอบครัว หรือมีปัญหาสุขภาพ ที่ส่งผลต่อการเรียนของพวกเขาได้
2. ใส่ใจห่วงใยให้มากขึ้น
ส่งข้อความส่วนตัวไปหานักเรียนแต่ละคน ถามไถ่ว่าพวกเขายังสบายดีและปลอดภัยอยู่หรือเปล่า เป็นอีกหนึ่งวิธีง่ายๆ ที่ครูใช้แสดงออกถึงความรัก ความห่วงใยที่มีต่อลูกศิษย์ นำการเรียนรู้ด้วยความรักความเอาใจใส่มีความสำคัญมากในช่วงนี้
3. เรียนครั้งละหลายชั่วโมง ไม่ได้แปลว่าดีเสมอไป
การที่นักเรียนต้องนั่งอยู่หน้าจอนานๆ เพื่อเรียนออนไลน์กลับไม่ได้ส่งผลดีอย่างที่เราคิด ในช่วงเริ่มต้น ครูควรทดลองดูก่อนว่า สอนครั้งหนึ่งนานเท่าไร นักเรียนยังมีสมาธิดีอยู่ และตามบทเรียนได้ทัน จากนั้นค่อยปรับระยะเวลาให้เหมาะสม ลดทอนช่วงเวลาที่อยู่หน้าจอ ให้โอกาสนักเรียนในการเรียนรู้จากแหล่งที่พวกเขาสนใจ และบูรณาการหลายๆ เรื่อง ใช้ช่วงเวลาที่พบกันออนไลน์ให้มีประโยชน์โดยไม่จำเป็นต้องยาวนาน
4. การสอนออนไลน์ไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคน
บางครั้งการสอนรูปแบบนี้ก็ไม่ได้ต่างจากการสร้างเครื่องบิน ในขณะที่เครื่องกำลังบินอยู่ มีทั้งความเสี่ยงและเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ การทำงานของครูจึงต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ช่วยเหลือนักเรียนที่มีความแตกต่างด้านการเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด
5. ให้เวลากับการพุดคุยส่วนตัวมากขึ้น
การสอนแบบตัวต่อตัวยังคงเป็นรูปแบบการสอนที่ดีที่สุดในห้องเรียนจริง เช่นเดียวกับการสอนออนไลน์ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้สนทนาส่วนตัวกับครู บอกเล่าถึงปัญหาที่เขาอาจไม่กล้าบอกในห้องเรียนออนไลน์รวม
6. ทำทุกอย่างให้ง่ายเข้าไว้
ถ้าครูใช้เวลาเกิน 15-20 วินาที หรืออธิบายว่าอยากให้นักเรียนทำอะไร เกิน 2-3 ประโยคแล้ว พวกเขายังไม่เข้าใจ ครูต้องเปลี่ยนวิธี วางแผนให้ชัดเจนว่าจะสอนอะไรบ้าง แล้วอธิบายให้นักเรียนฟังแบบง่ายที่สุด
7. เมตตาต่อตนเอง นักเรียน และเพื่อนครู
ทุกคนต่างก็พยายามอย่างที่สุดในสถานการณ์นี้ หลายสิ่งหลายอย่างอาจดูวุ่นวายในช่วงแรกๆ ครูต้องไม่กดดันตัวเองจนเกินไป เห็นใจว่านักเรียนแต่ละคนก็มีความแตกต่าง ที่อาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวเช่นกัน
Source :
Educathai
https://www.educathai.com/knowledge/articles/327
14 ก.ย. 2564