ชวนครูสร้างพื้นที่ปลอดภัย ช่วยให้นักเรียนกล้าเสี่ยงที่ผิดพลาด แล้วเขาจะเติบโต

Last updated: 10 ก.ย. 2563  | 

วันที่ 10 กันยายน 2563 - 11:05 น.


สาระหลักในบันทึกนี้คือ ในสภาพของการเรียนที่เข้มข้น นักเรียนต้องกล้าลอง กล้าเสี่ยง กล้าคิด กล้าแสดงออก เพื่อให้ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของตน จึงต้องมีข้อตกลงและดำเนินการให้ห้องเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยทั้งทางกายภาพและทางอารมณ์

หากนักเรียนรู้สึกว่าห้องเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัย เด็กจะลดความระแวดระวังภัย ลดแรงต้าน และกล้าเสี่ยงเพื่อการเรียนรู้

เด็กต้องการห้องเรียนที่สะอาด น่าสนใจ ปลอดภัย และจัดอย่างเป็นระเบียบ



ความปลอดภัยทางกายภาพ

โรงเรียนต้องมีแผนปฏิบัติยามเกิดเหตุร้าย เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว มีพายุ หรือมีเด็กได้รับบาดเจ็บ และต้องมีการซ้อมปฏิบัติยามฉุกเฉินทุกเดือน เลือกเฉพาะเหตุร้ายที่มีโอกาสเกิดได้มาก เช่น ไฟไหม้

ครูพึงตรวจสอบห้องเรียน ประตูเข้าออก ทางไปห้องน้ำ จุดที่มีกระจกที่อาจแตกและเป็นอันตราย จุดที่มีสิ่งของที่เด็กอาจเดินหรือวิ่งชนและมีของหล่นลงมาทับ ฯลฯ และหาทางจัดให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุน้อยที่สุด

ผมแปลกใจที่ในสหรัฐอเมริกาเขาแนะนำว่า ครูควรอนุญาตให้นักเรียนลาไปเข้าห้องน้ำทีละคน ให้คนก่อนกลับมาห้องเรียนเรียบร้อย จึงจะอนุญาตให้นักเรียนคนต่อไปไปเข้าห้องน้ำได้ เขาไม่ได้อธิบายเหตุผล แต่ผมเดาว่าเพื่อป้องกันการมั่วสุม หรือป้องกันการทะเลาะวิวาท



ความปลอดภัยทางอารมณ์

การที่เด็กสามารถแสดงออกได้อย่างปลอดภัยและได้รับการยอมรับ ช่วยสร้างอารมณ์ปลอดภัยแก่นักเรียน ครูต้องสร้างและบังคับใช้กติกาว่า ในห้องเรียนต้องไม่มีการหัวเราะเยาะ เยาะเย้ย กิ๊กกั๊ก หรือใช้ถ้อยคำดูหมิ่น เพื่อสร้างบรรยากาศส่งเสริมให้นักเรียนสบายใจที่จะแสดงออกเพื่อการเรียนรู้ของตน

เขาแนะนำครูให้แสดงพฤติกรรมตามปกติของห้องเรียนต่อไปนี้

  • เมื่อนักเรียนแสดงข้อคิดเห็นเรื่องใดก็ตาม ครูกล่าวคำขอบคุณทุกครั้ง
  • เมื่อนักเรียนพูด ครูมองตาเด็กอยู่ตลอด ครูจะหยุดมองตาเด็กเมื่อเด็กพูดจบและครูกล่าวคำขอบคุณจบ แล้วครูหันไปทางนักเรียนคนต่อไป
  • ไม่มีการโต้แย้ง ตัดบท แสดงความไม่เอาใจใส่ หรือให้นักเรียนคนต่อไปพูด จนกว่าครูจะกล่าวคำขอบคุณจบ เช่น ‘ครูขอบคุณที่สมชายแสดงข้อคิดเห็น หวังว่าในบทเรียนต่อไปเธอจะแสดงความเห็นอีก’
  • หากมีนักเรียนหัวเราะกิ๊กกั๊ก แสดงท่าทีดูหมิ่น หรือล้อเลียนต่อคำตอบหรือการแสดงข้อคิดเห็นของเพื่อน ครูต้องหยุดการเรียน เพื่อเตือนนักเรียนให้ระลึกถึงกติกาของชั้น และความจำเป็นที่ต้องมีความเคารพต่อกัน และมีความปลอดภัยทางความคิด กล่าวตักเตือนว่าพฤติกรรมเช่นนั้นอาจมีการปฏิบัติที่บ้าน แต่ห้ามทำในห้องเรียน ทั้งหมดนั้นก็เพื่อประโยชน์ร่วมกันของตัวนักเรียนเอง


ครูพึงสื่อสาร ให้นักเรียนเข้าใจตัวครู ตนเอง และบรรยากาศของชั้นเรียนว่าที่มีการกำหนดให้ห้องเรียนมีความปลอดภัยทางอารมณ์ ไม่มีการคุกคามทางอารมณ์ ก็เพื่อให้นักเรียนกล้าเสี่ยงทำสิ่งที่ผิดพลาดและเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น



ครูส่วนมากมักเข้าใจผิดในเรื่องข้อผิดพลาด มองเป็นสิ่งชั่วร้ายที่จะต้องแก้ไข จัดการซุกซ่อน แล้วดำเนินการชั้นเรียนต่อไป นั่นคือสิ่งที่ผิดสำหรับการศึกษาซึ่งที่จริงแล้วควรต้องมองว่าในกระบวนการเรียนรู้ การทำสิ่งผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้


เจนเซนชวนให้อ่านข้อความต่อไปนี้ แล้วพิจารณาว่ามีอะไรเหมือนกัน

  • ‘ตรวจสอบทางเลือกต่อไปนี้แล้วบอกว่าชอบทางเลือกไหนมากที่สุด พร้อมทั้งให้เหตุผล’
  • ‘ครูดีใจที่เธอแสดงข้อผิดพลาดของเธอแก่ครู สิ่งนี้จะช่วยให้ครูปรับปรุงวิธีสอนให้ดีขึ้น’
  • เมื่อนักเรียนบอกข้อผิดพลาดของครู ครูกล่าวว่า ‘ว้าว ขอบคุณมากที่ช่วยชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดที่ดีที่สุดในเดือนนี้ให้ครูเห็น ขอบคุณมากจริงๆ’
  • ‘เหตุผลที่คำตอบที่ผิด ช่วยการเรียนการสอนก็เพราะมันช่วยบอกว่า แนวความคิดแบบไหนที่ผิดทาง ช่วยให้เราแก้ไขและฉลาดขึ้น’
  • ‘ครูกำลังจะให้นักเรียนตอบ โดยคาดหวังว่าจะมีคำตอบที่แตกต่างหลากหลายมาก เรามาดูกันว่าครูเดาถูกไหม’


ข้อความทั้ง 5 ข้างบน ต่างก็บอกว่าการทำผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ คำแนะนำที่สำคัญยิ่งสำหรับครู คือ ให้เลิกเน้นที่คำตอบเท่านั้น ให้สนใจสิ่งที่อยู่เบื้องหลังคำตอบนั้นของนักเรียน ได้แก่ สมมติฐาน ความรู้เดิม และวิธีคิดไปสู่คำตอบ

การยอมรับความผิดพลาดว่าเป็นการเปิดโอกาสของการเรียนรู้ เป็นทักษะที่นักเรียนต้องฝึก และการฝึกทักษะนี้ต้องการเวลา การโค้ช และการสนับสนุน ซึ่งจะเป็นการวางรากฐาน ‘ทักษะชีวิต’ ที่ส่งผลดีไปตลอดชีวิต



กติกาที่ทุกคนปฏิบัติตาม

หลักการให้กติกาศักดิ์สิทธิ์ คือ อย่ามีมากข้อ แต่ต้องให้ทุกคนเข้าใจแจ่มชัด  เจนเซนยกตัวอย่างกติกาห้องเรียนที่มีเพียง 4 ข้อ คือ หนึ่ง – จงมีอัธยาศัย (be nice) สอง – ทำงานหนัก (work hard) สาม – ไม่แก้ตัว (no excuse) และสี่ – รู้จักเลือก (choose well)

มีอัธยาศัย

มีอัธยาศัย (be nice) หมายความว่า ไม่มีความประพฤติไม่เหมาะสม เช่น ล้อชื่อ ชกต่อย ผลัก สบประมาท จี้ แหย่ หลอก กล่าวคำตำหนิเพื่อนนักเรียนหรือครู นอกจากนั้นยังหมายถึงใช้วาจาสุภาพ มีการ ขอบคุณ ขอโทษ ขอความกรุณา ผมผิดเอง และยังหมายความว่า ไม่มีการพูดโกหก สบถ ด่า ถกเถียง นินทา โกง ลัดคิว รวมทั้งไม่มีการขโมยสิ่งของ หรือหยิบไปใช้โดยไม่ขออนุญาตเจ้าของ รวมทั้งยกมือขออนุญาตพูด ไม่ใช่พูดแซงขณะที่คนอื่นกำลังพูด

ครูต้องทำเป็นตัวอย่าง และแสดงความเข้าใจจิตใจของคนอื่น (empathy) ด้วย

หากมีการละเมิดกติกา ครูปรามโดยพูดว่า ‘ในห้องเรียนนี้เราไม่ใช้คำเหล่านั้น กรุณารอคุยกับครูหลังหมดเวลาด้วยนะครับ (คะ)’ และคุยกับนักเรียนสองต่อสองหลังหมดเวลาเรียน โดยใช้เทคนิคต่อไปนี้

  • ฟื้นความสัมพันธ์ (rebuild the relationship) โดยครูพูดว่า งสมเกียรติ เธอเป็นนักเรียนที่มีความประพฤติดี ครูมีความภูมิใจในตัวเธอ’ เป้าหมายคือสร้างความรู้สึกเป็นมิตร
  • เข้าเรื่อง (establish relevance) ‘ที่ครูขอให้เธออยู่คุยกับครูหลังเลิกเรียน ก็เพราะครูอยากให้เธอเรียนจบปริญญาตรี งานที่เธอบอกครูว่าอยากทำต้องมีวุฒิปริญญาตรี คำพูดของเธอในชั้นเรียนวันนี้ ทำให้ครูเป็นห่วง จำได้ไหมว่าข้อตกลงเรื่องกติกาในชั้นเรียนข้อหนึ่ง คือ มีอัธยาศัยดี’ เป็นการใช้กลยุทธในการพบปะที่ไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นการช่วยแผ้วถางทางของนักเรียนสู่ความสำเร็จในชีวิต
  • สร้างพันธมิตร (create an ally) ‘ครูอยู่เคียงข้างเธอและครูรู้ว่าเธอเป็นเด็กดี แต่ผู้ใหญ่คนอื่นๆ อาจไม่รู้จักเธอดีพอ การกล่าวคำพูดทำนองนี้ออกไป อาจมีผลให้เธอถูกลงโทษ อาจถึงกับถูกไล่ออกจากโรงเรียน ทำให้หมดโอกาสเรียนจบมหาวิทยาลัย’ เป็นการช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าคำพูดของตนมีผลต่อตนเอง
  • หาทางออก (work toward a solution) หากนักเรียนบอกว่ามีคนก่อเรื่องก่อน จงรับฟัง ซักถามรายละเอียด และกล่าวว่า ‘หากเกิดเรื่องทานองนี้อีกเธอควรทำอย่างไร เมื่อเธอถูกยั่วโทสะ’ แล้วรอให้นักเรียนตอบ เมื่อนักเรียนตอบ และเป็นแนวทางที่เหมาะสม ครูกล่าวว่า ‘เรามาลองซ้อมวิธีแสดงออกต่อการยั่วโมโหตามที่เธอเสนอ โดยครูจะเป็นผู้ยั่ว ตกลงไหม’
  • ยืนยัน (reaffirm) ‘เรามาทบทวนข้อเรียนรู้ครั้งนี้กัน ขอให้เธอสรุปประเด็นข้อเรียนรู้’
  • จบการพบปะ (exit the meeting) ‘ดีมาก สมเกียรติเธอกลับเข้าเส้นทางชีวิตที่ถูกต้องแล้ว เป็นการปูทางสู่อนาคตที่เธอฝันไว้ ขอให้เธอประสบความสาเร็จ ครูขอบคุณที่เธอสละเวลาคุยกับครู’

โปรดสังเกตว่าเป้าหมายของการพบปะหลังเวลาเรียนไม่ใช่การลงโทษ ไม่ใช่การตำหนิ แต่เป็นการเตือนสตินักเรียนว่า การที่ตัวเองร่วมสร้างบรรยากาศชั้นเรียนที่ปลอดจากความประพฤติที่ทำลายความรู้สึกปลอดภัยในการแสดงออก มีผลดีต่ออนาคตของตัวเอง ตามที่ตั้งวิสัยทัศน์ส่วนตัวไว้ (ตามในบันทึกที่แล้ว) อย่างไร

มองอีกมุมหนึ่งครูทำหน้าที่บังคับใช้กติกาเพื่อผลประโยชน์ของนักเรียนเป็นปฐม ไม่ใช่ยึดผลประโยชน์ของครูเป็นปฐม ไม่ใช่ผลประโยชน์ความดีความชอบของผู้บริหารโรงเรียนเมื่อมีการตรวจสอบ หากนักเรียนตระหนักรู้ด้วยสัมผัสตนเองต่อเป้าหมายหลักนี้ การปฏิบัติตามกติกาก็เป็นเรื่องง่าย แต่หากเป็นไปในทางตรงกันข้าม หากนักเรียนเห็นชัดว่า ตนต้องทำตามกติกาเพื่อผลประโยชน์ของผู้บริหารและครูเป็นเป้าหมายหลัก การประพฤติแหกกฎก็จะเป็นความท้าทายของนักเรียน

เพื่อส่งเสริมความประพฤติดี ครูต้องสร้างบรรยากาศเชิงบวกในชั้นเรียน เมื่อนักเรียนรู้สึกสนุกและมีความสุข โอกาสทำผิดกติกาจะลดลง เพราะในสภาพที่สนุกและสุขสมองจะหลั่งโดปามีน สร้างความรู้สึกพึงพอใจ และสร้างความคาดหวังต่อการได้รับความพึงพอใจ การมีพลังของความจำใช้งาน (working memory) และการมีความพยายาม

‘มีอัธยาศัย’ เป็นกติกาที่กว้าง และปรับใช้ได้ในทุกสถานการณ์ โดยต้องนิยามให้ชัดเจนสำหรับสถานการณ์นั้นๆ



ทำงานหนัก

กติกานี้สื่อว่า การบรรลุเป้าหมายที่ดีต้องการการเตรียมตัว การลงมือทำ และความมุ่งมั่นมานะพยายามระยะยาว สำหรับนักเรียนการทำงานหนักหมายความว่า มาโรงเรียนโดยเตรียมตัวมาอย่างดี และเตรียมพร้อมที่จะเผชิญอุปสรรค พร้อมที่จะเปลี่ยนกลยุทธในการทำงานหรือการเรียน

ครูต้องสร้างความคิดว่า หากต้องการความสำเร็จที่ดีกว่าปัจจุบันก็ต้องทำงานหนักขึ้น และแสวงหาวิธีทำงานให้ได้ผลดียิ่งกว่าเดิม โดยผมขอเพิ่มเติมว่าครูควรเน้นให้นักเรียนเข้าใจว่า ที่สำคัญกว่าทำงานหนัก (work hard) คือ ทำงานอย่างฉลาด (work smart) และบอกให้นักเรียนมั่นใจว่า ครูจะช่วยสนับสนุนให้นักเรียนได้ฝึกทั้งทำงานหนัก และทำงานอย่างฉลาด

เคล็ดลับของ ‘ครูเพื่อศิษย์’ คือทำความเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของศิษย์ (empathy) และทำให้การต่อสู้กับความท้าทายเป็นเรื่องสนุก

  • ไม่แก้ตัว

นี่คือการฝึกให้ไม่โดน ‘นิสัยเสีย’ มากัดกร่อนความเจริญก้าวหน้านี้ของนักเรียน คือ นิสัยชี้ผู้รับผิดชอบความผิดพลาดไปที่ผู้อื่น เพื่อให้ตนพ้นผิด ซึ่งเป็นนิสัยที่ปิดกั้นการเรียนรู้จากความผิดพลาด และปิดกั้นการฝึกความรับผิดชอบ

กลยุทธสำคัญที่สุดคือ ครูทำเป็นตัวอย่าง ‘ครูขอโทษที่ทำตามสัญญาไม่ได้ ครูขอเลื่อนจากวันนี้ (วันพุธ) ไปเป็นวันศุกร์ได้ไหม’



ครูมีบทบาทสูงมากในการสร้างคุณลักษณะที่ดีเหล่านี้แก่ศิษย์ โดยมีเคล็ดลับสำคัญที่สุดคือ ความเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของศิษย์หรือเอาความรู้สึกนึกคิดของศิษย์เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาความรู้สึกนึกคิดของตนเองเป็นตัวตั้ง


รู้จักเลือก

กติกาข้อนี้เตือนใจนักเรียนในเรื่องการกำกับตัวเอง และพลังของการเลือก คนเราทุกคนไม่สามารถควบคุมหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดต่อตัวเราได้ (เช่น พ่อหรือแม่ตาย พ่อแม่ตกงานเพราะบริษัทลดคนงาน น้ำท่วม รถยนต์ถูกคนเมาขับรถมาชน ฯลฯ) แต่เราสามารถเลือกวิธีเผชิญวิกฤติเหล่านั้นได้

คำหลักคือ ‘ทางเลือก (choice)’ ครูต้องส่งเสริมให้นักเรียนฝึกฝนตนเอง ให้รู้จักทางเลือกที่เป็นคุณต่อชีวิตในระยะยาว ไม่ใช่เลือกแบบคิดสั้น เอาสบายในสถานการณ์เฉพาะหน้า






SOURCE :

The Potential

https://thepotential.org/knowledge/rich-classroom-climate-mindset-ep2/